ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บลจ.วรรณ Dr.win@one-asset.com
สวัสดีครับ ในสัปดาห์นี้ผมขอพูดถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากที่นายชินโสะ อาเบะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 57 หลังประกาศยุบสภาฯ ไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 57 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยุบสภาก่อนหมดวาระถึง 2 ปี
ผมมองว่าการที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งนำโดยนายชินโสะ อาเบะได้รับเสียงข้างมาก และเมื่อรวมกับพรรคร่วมรัฐบาล KOMEITO แล้วทำให้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 ของสภาล่างนั้นจะส่งผลดีต่อภาพรวมของญี่ปุ่นทั้งหมดในระยะถัดไป เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สามารถดำเนินนโยบายการแก้ไขเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสานต่อนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มสามารถทรงตัวได้ในระดับหนึ่งหลังจีดีพีญี่ปุ่นหดตัวติดต่อกันมา 2 ไตรมาส
โดยเฉพาะการสานต่อในเรื่องการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ และการเพิ่มความสามารถและรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลกด้วยนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ผ่านลูกศร 3 ดอก โดยเฉพาะดอกที่ 3 ในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างหลังจากที่ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจในปี 2557 ซึ่งน่าจะผลักดันให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง และผลักดันให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงมีความน่าสนใจในระยะถัดไป
โดยเหตุผลสำคัญที่น่าสนใจสำหรับลูกศรดอกที่ 3 ที่ตลาดคาดหวังกันค่อนข้างมาก เนื่องจากนโยบายลูกศรดอกที่ 3 เป็นการมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทญี่ปุ่นจากความพยายามในการลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นให้ปรับลดลง และการสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในระยะยาวอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งในเรื่องการเพิ่มบทบาทของแรงงานหญิง การลดความเข้มงวดในตลาดแรงงานต่างชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
รวมทั้งการเร่งสร้างเขตการค้าพิเศษในเมืองต่างๆ ในนามของ TPP กับทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าการเข้าร่วม TPP นี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วงกลางปี 2558 หลังจากที่ชะลอจากปีนี้เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวได้รับการผลักดันสำเร็จแล้วนั้นจะเป็นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจ ซึ่งจะสนับสนุนต่อการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว และทำให้เพิ่มความน่าสนใจของการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นจากนโยบายนี้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งอีกวาระของนายชินโสะ อาเบะ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การผลักดันให้การดำเนินนโยบายการเงินเชิงปริมาณแบบผ่อนคลาย (QE) ของธนาคารกลางญี่ปุ่นและแนวโน้มการขยายสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการญี่ปุ่น (GPIF) สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมไปแล้วในการประชุม BOJ ช่วงเดือน ต.ค. 57 ที่ผ่านมา
โดยการเพิ่มวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล การเพิ่มวงเงินในโครงการซื้อกองทุน ETF และกองทุนเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ขึ้นอีก 3 เท่า เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแรงผลักดันสภาพคล่องทางการเงินเข้าสู่ระบบตลาดทุนอยู่ในระดับสูงถัดจากนี้
ปัจจุบันตลาดคาดว่า BOJ มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค. ปีหน้า รวมทั้งการผ่อนคลาย QE เพิ่มเติมนั้นยังส่งผลให้ทิศทางค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งจะสนับสนุนการส่งออกของญี่ปุ่นให้มีความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นจากราคาสินค้าที่มีราคาปรับลดลง โดยเปรียบเทียบและสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทในญี่ปุ่นในระยะถัดไป
อีกหนึ่งแนวทางที่ส่งผลดีต่อบริษัทในญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายชินโสะ อาเบะ ได้แก่ การพิจารณาลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงในปีงบประมาณ 2558 จากปัจจุบันที่ระดับ 35% มาสู่ 20% ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณาของทางการญี่ปุ่น โดยคาดว่าหากผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้วน่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในเดือน เม.ย. 58 ซึ่งแผนฯ นี้นับได้ว่าเป็นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมแผนแรกหลังจากที่นายชินโสะ อาเบะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระ
และหากผ่านการพิจารณาแล้วนั้นจะช่วยกระตุ้นให้ภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีของบริษัทจดทะเบียนปรับลดลงและมีส่วนในการเพิ่มรายได้ของบริษัทฯ ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากขึ้น รวมทั้งการผลักดันและเร่งกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานและปรับเพิ่มงบลงทุนให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายของทางการที่ชะลอการขึ้นอัตราภาษีการขายและปรับลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลแล้วนั้น ก็คาดว่าจะสามารถกระตุ้นให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนให้ฟื้นกลับมาได้ ซึ่งส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของญี่ปุ่นในท้ายที่สุด
ซึ่งจากหลากหลายปัจจัยจากการผลักดันในแง่ของนโยบายการเงินและการคลัง รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจต่างๆ ที่น่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเสถียรภาพของนายชินโสะ อาเบะ หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระในครั้งนี้นั้น ทำให้ผมมองว่าการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นยังเป็นที่น่าสนใจ รวมทั้งมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นจะเป็นหุ้นในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตและทิศทางค่าเงินเยนที่ยังคงอ่อนค่าลงจากการผ่อนคลาย QE และอานิสงส์จากค่าเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) จากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศที่ทยอยฟื้นตัวจากแนวโน้มค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น และการเลื่อนอัตราภาษีการขายออกไป ทำให้หลีกเลี่ยงผลกระทบต่อต้นทุนการบริโภคของประชาชน / กลุ่มส่งออก อย่างเช่น Automobile จากทิศทางค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง
โดยผมมองว่าค่าเงินเยนจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะมีโอกาสอ่อนค่าลงแตะระดับ 120 เยนต่อดอลลาร์ และมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบที่ 125 เยนต่อดอลลาร์ในปีหน้า รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) และมีอัตราการจ่ายปันผลที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับทั้งตลาด อย่างเช่น REIT เนื่องจากปัจจุบัน REIT มีอัตราการจ่ายปันผลประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ประมาณ 1% เป็นต้น ดังนั้น ในช่วงจังหวะที่ NIKKEI225 Index ปรับตัวลดลงในช่วงนี้ ผมจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะทยอยซื้อสะสมหุ้นญี่ปุ่นเพื่อเป็นการกระจายการลงทุนในพอร์ตการลงทุน
โดยมองว่า NIKKEI225 น่าจะมี downside อยู่ที่ประมาณ 16,500 จุดในช่วงนี้ และสามารถปรับขึ้นทดสอบที่ระดับสูงกว่า 18,500 จุดได้ในปีหน้า ซึ่งหากนักลงทุนท่านใดสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา บลจ.วรรณมีเสนอขายกองทุนเปิด วรรณ เจแปน ฟันด์ โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
ทั้งนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน