เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2013 ที่ผ่านมา ทำผลงานดีที่สุดในรอบ 3 ปี ทว่า อัตราขยายตัวที่แผ่วกว่าคาดหมายในช่วงปลายปี กำลังเป็นโจทย์ท้าทายผู้วางนโยบาย ขณะเดียวกับที่มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ของรัฐบาลบ่งชี้สัญญาณน้อยมากว่าช่วยหนุนนำการบริโภคและการส่งออก มิหนำซ้ำแผนการขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนอาจผสมโรงฉุดรั้งการฟื้นตัวต่อไปอีกของปีนี้
อัตราเติบโตด้วยระดับ 1.6% ซึ่งทางการญี่ปุ่นประกาศออกมาในวันจันทร์ (17 ก.พ.) ถือเป็นผลงานตลอดทั้งปีครั้งแรกภายใต้ “อาเบะโนมิกส์” หรือนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ นับแต่ที่เขาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งตอนปลายปี 2012 จากการชูธงฟื้นสถานะมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกของญี่ปุ่น หลังจากถูกจีนชิงตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกไป
ปี 2012 นั้น เศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยขยายตัว 1.4% หลังจากติดลบ 0.5% ในปีก่อนหน้า เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหว-คลื่นสึนามิและวิกฤตนิวเคลียร์ที่เป็นผลพวงตามมา
อากิระ อามาริ รัฐมนตรีเศรษฐกิจญี่ปุ่นแจกแจงในวันจันทร์ด้วยว่า อุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในสถานะที่ดี และแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาขึ้นโดยได้รับการหนุนนำจากอุปสงค์ในภาคเอกชน บ่งชี้ว่า การผลักดันเพื่อกระตุ้นการเติบโตและหยุดยั้งภาวะเงินฝืดเรื้อรัง กำลังเริ่มส่งผลเป็นรูปธรรม
นับแต่ที่อาเบะรับตำแหน่งตอนปลายปี 2012 นโยบายอาเบะโนมิกส์ส่งผลให้เงินเยนอ่อนลงถึงราว 25% เมื่อเทียบดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกแดนอาทิตย์อุทัย ขณะที่ดัชนีหุ้นนิกเกอิพุ่งขึ้น 57% ในรอบปีที่ผ่านมา สร้างสถิติสูงสุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตรวดเร็วกว่าสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี7) ในช่วงครึ่งแรกของปีที่แล้ว
ทว่า ข้อมูลล่าสุดที่ระบุว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคและของภาคธุรกิจในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2013 ยังไม่กระเตื้องขึ้นเลย บ่งชี้ให้เห็นความระแวดระวังของครัวเรือนและผู้บริหารบริษัทธุรกิจ และก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อนโยบายอาบะโนมิกส์ นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงครึ่งหลังของปีที่อ่อนแอผิดคาด ยังกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับโมเมนตัมการฟื้นตัวในปีนี้
ทั้งนี้ จีดีพีของไตรมาส 4 ปีที่แล้วขยายตัวแค่ 0.3% ต่ำกว่ามากจากความเห็นของพวกนักเศรษฐศาสตร์ตามการสำรวจของหนังสือพิมพ์นิเกอิ ชิมบุง ซึ่งคาดไว้ที่ 0.7%
โยชิฮิ ชินเกะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ ชี้ว่าสาเหตุใหญ่มาจากการส่งออกชะลอตัว ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนดีมานด์ที่ลดลงในตลาดเอเชีย รวมทั้งการที่บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า แต่สำหรับปีนี้ ชินเกะมองว่า เศรษฐกิจที่เติบโตเข้มแข็งในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญสำหรับจีดีพีญี่ปุ่น
กระนั้นนักวิเคราะห์บางคนยังกังวลว่า การขึ้นภาษีการขายในเดือนเมษายนจาก 5% เป็น 8% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับจากปลายทศวรรษ 1990 ด้วยจุดประสงค์ของรัฐบาลอาเบะที่จะหารายได้เพิ่มเพื่อมาลดยอดหนี้สาธารณะซึ่งเบ่งบานของญี่ปุ่นนั้น จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องสะดุด
ก่อนหน้านี้ อาเบะได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ขึ้นค่าแรงเพื่อรองรับการที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันแพงขึ้นหลังมีการขยับภาษีการขายแล้ว นอกจากนั้นรัฐบาลยังจัดทำมาตรการกระตุ้นพิเศษมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษี
ในวันจันทร์ อาเบะแถลงว่า การเจรจาเกี่ยวกับแรงงานระหว่างฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้างประจำฤดูใบไม้ผลินี้ น่าจะนำไปสู่การขึ้นค่าแรง
ทว่า ทาคูมิ สึโนดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยชินกิน เซนทรัล แบงก์ กังวลว่า อาจมีการขึ้นค่าแรงสูงไม่พอที่จะสนับสนุนให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยอีก หลังจากมาตรการขึ้นภาษีมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ การขึ้นภาษีการขายยังกระตุ้นให้มีการคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะถูกบีบให้ขยายนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในตอนปลายปีนี้เพื่อต่อสู้กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ นโยบายของบีโอเจคือองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของอาเบะโนมิกส์ ควบคู่ไปกับการที่รัฐออกมาตรการใช้จ่ายอย่างใหญ่โต
ทาโร ไซโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ คาดว่า การเติบโตในไตรมาสปัจจุบันจะอยู่ในระดับเพิ่มสูงขึ้นได้ต่อไปอีก เนื่องจากประชาชนแห่ซื้อสินค้าก่อนที่รัฐบาลจะขึ้นภาษีการขายในอีก 2 เดือนหลังจากนี้ แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น ทั้งรัฐบาลและบีโอเจจะถูกกดดันมากขึ้นให้ออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพิ่มเติม