xs
xsm
sm
md
lg

จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาส2โตช้ากว่าคาด ธุรกิจยังไม่มั่นใจ ”อาเบะโนมิกส์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - จีดีพีญี่ปุ่นไตรมาส 2 เติบโตชะลอตัวกว่าที่คาด เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังคุมเข้มการลงทุนด้วยไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน คาดข้อมูลล่าสุดกดดันให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ต้องเร่งเครื่องแผนปฏิรูปเชิงรุกมากขึ้น และอาจรวมถึงทบทวนแผนการขึ้นภาษีการขายต้นปีหน้าเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งทะลุ 10.4 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันจันทร์ (12) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ผ่านมาขยับขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ หรือหากคิดเป็นอัตราต่อปีก็จะเท่ากับ 2.6% ต่อปี นับว่าต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอย่างน้อยจะทำได้ 3% และลดวูบจากไตรมาสแรกซึ่งทำได้ในอัตรา 4.1%

เป็นที่คาดหมายกันว่า อัตราเติบโตซึ่งต่ำลงมาเช่นนี้จะเพิ่มความกดดันให้อาเบะต้องเร่งผลักดันมาตรการปฏิรูปที่สัญญาไว้เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถแข่งขันและการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวของประเทศ รวมทั้งอาจกระตุ้นให้รัฐบาลตัดสินใจเลื่อนแผนขึ้นภาษีการขาย (คล้ายๆ ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ออกไปก่อน

อย่างไรก็ดี มาซามิชิ อาดาชิ นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนในโตเกียว มองว่าการที่การใช้จ่ายสาธารณะระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามที่วางแผนไว้ ส่งผลให้เงินอัดฉีดพิเศษสำหรับโครงการต่างๆ จะมีผลในการกระตุ้นการเติบโตเมื่อถึงช่วงครึ่งหลังของปีนี้แทน กระทั่งสามารถพูดได้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถรักษาโมเมนตัมที่มั่นคงต่อไป

กระนั้น หากการเติบโตในไตรมาสปัจจุบันจะยังคงชะลอตัวต่อจากไตรมาส 2 ตามที่มีการคาดการณ์กัน ก็มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะถูกกดดันให้ผลักดันมาตรการปฏิรูปเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างกำลังเฝ้าดูว่า ยุทธศาสตร์โดยรวมของอาเบะจะสามารถฟื้นการเติบโตอย่างยั่งยืนได้จริงหรือไม่ หลังจากที่ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้ซบเซาถดถอยมาเป็นสิบปี

ข้อมูลล่าสุดจากการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตซึ่งทรงความสำคัญที่สุดในไตรมาสที่ผ่านมาคือการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออก ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ

แม้บริษัทแดนอาทิตย์อุทัยมากมายมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการอ่อนตัวของเยนเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ อันเป็นผลจากนโยบายฟื้นการเติบโตของอาเบะที่เรียกกันว่า “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งประกอบด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน และการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ กระนั้น การลงทุนของภาคเอกชนในไตรมาส 2 ของปีนี้กลับลดลง 0.1% ขณะที่การลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยซบเซาลงเช่นเดียวกัน ถึงแม้มีสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการก่อสร้างเคหะสถานก็ตาม

ทาเคชิ มินามิ จากสถาบันวิจัยโนรินชูกินในโตเกียว มองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อาเบะโนมิกส์ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้ภาคธุรกิจใช้จ่ายเพิ่มหรือขึ้นค่าแรง ดังนั้น จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า การเติบโตจะยั่งยืนหรือไม่ในระยะยาว

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ หนึ่งในเป้าหมายของอาเบะโนมิกส์นั้นได้แก่ การทำให้ราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากซบเซามาเป็นสิบปี ด้วยการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคใช้จ่าย ทว่า หากค่าแรงไม่เพิ่มขึ้นในระดับที่สอดคล้อง รายได้ภาคครัวเรือนก็จะไม่มีทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

อาเบะและที่ปรึกษาบางคนเริ่มแสดงความไม่แน่ใจเกี่ยวกับแผนการขึ้นภาษีการขายอีก 3% เป็น 8% ในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งจะต้องมีการตัดสินใจให้ชัดเจนภายในไม่กี่เดือนนี้ และมีแนวโน้มมากขึ้นว่า ผู้นำญี่ปุ่นอาจเลือกแนวทางการขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป

การที่ต้องคิดขยับขึ้นภาษีการขาย ก็เพื่อรัฐบาลจะได้มีเงินรายได้มากขึ้น และบรรเทาปัญหาหนี้สินภาคสาธารณะที่พุ่งทะลุ 10.4 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทางด้าน อากิระ อามาริ รัฐมนตรีเศรษฐกิจชี้ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดถือว่าดี และสำทับว่า การขึ้นภาษีการขายไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการ

สอดคล้องกับความเห็นของมินามิที่มองว่า อัตราเติบโตที่สูงกว่า 2% ถือว่ายังสูงอยู่ ดังนั้น แผนการขึ้นภาษีการขายจึงน่าจะเดินหน้าได้ตามแผน

นอกจากนี้ อามาริยังเสริมว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาทางเลือกต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มมาตรการจูงใจด้านภาษีสำหรับการลงทุนภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น