xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’ เฮลั่น ‘อาเบะนอมิกส์’ ชนะสงครามสู้ ‘เงินฝืด’ หลังดัชนีผู้บริโภคขยับขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้านขายของตามย่านช็อปปิ้งของกรุงโตเกียวซึ่งติดประกาศลดราคา ทั้งนี้ญี่ปุ่นประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในวันนี้ (25) โดยปรากฏว่าขยับสูงขึ้น 0.7% ทำให้รัฐบาลตีปีกว่า ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ภาวะเงินฝืด ทว่าพวกนักวิเคราะห์กลับเตือนว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าที่เข้าทาง
เอเอฟพี – รัฐบาลญี่ปุ่นเฮลั่น หยิบยกข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เพิ่งนำออกเผยแพร่ในวันนี้ (25 ต.ค.) ว่า เป็นหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่านโยบาย “อาเบะนอมิกส์” ซึ่งมุ่งขับดันการเติบโตนั้น กำลังทำให้ประเทศประสบชัยชนะในการสงครามต่อสู้กับ “ภาวะเงินฝืด” ที่เกาะกินแดนอาทิตย์อุทัยมานานปี อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์เตือนว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นสัญญาณบ่งชี้แสดงถึงการฟื้นตัวอันยั่งยืน ขณะนี้ยังไม่ทันเข้าที่เข้าทางเลย

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เพิ่งนำออกเผยแพร่ในคราวนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาของสินค้าในชีวิตประจำวัน โดยที่ถ้าหากยกเว้นไม่นำเอาพวกอาหารซึ่งราคาแปรปรวนขึ้นลงมากมาคิดด้วย หรือที่เรียกกันว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ก็จะปรากฏว่า ดัชนีนี้ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นไป 0.7% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว นับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และก็เป็นตัวเลขดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2008 ของญี่ปุ่น ซึ่งตกอยู่ในภาวะเงินฝืด ที่ราคาสินค้าไม่ขยับขึ้นทว่าลดต่ำลง มาเป็นเวลายาวนานสิบกว่าปีแล้ว

ทางรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้รีบฉวยคว้าตัวเลขข้อมูลนี้มาโหมประโคมในทันที โดยที่พวกเจ้าหน้าที่บอกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการเอาชนะเงินฝืดและทำให้ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่โตเป็นอันดับ 3 ของโลกแห่งนี้กลับเจริญเติบโตมีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ กำลังเดินหน้าอย่างมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ

รัฐมนตรีเศรษฐกิจ อากิระ อามาริ กล่าวเปรียบเทียบว่า ญี่ปุ่นกำลังก้าวไปใกล้จะถึง “ยอดเขาฟูจิ” แล้ว และถึงแม้ยิ่งขยับใกล้เข้าไป “ออกซิเจนก็น้อยลงเรื่อยๆ ทว่าเราจะยังคงเดินหน้าไปอย่างเด็ดเดี่ยว”

ทั้งนี้ หากดูเฉพาะตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ความพยายามของอาเบะเริ่มต้นที่จะแสดงผลในทางบวกอย่างชัดเจน โดยที่อัตราขยายตัวของจีดีพีญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ในระดับ 3.8% ดีเด่นกว่าพวกสมาชิกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญของโลก (จี-7) รายอื่นๆ มาก ขณะที่ภาคธุรกิจก็แสดงความเชื่อมั่นในระดับสูงที่สุดในรอบ 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกสดใสเป็นปลื้มจากข้อมูลตัวเลขล่าสุดนี้ ยังคงถูกเคลือบคลุมด้วยข้อเท็จจริงอันไม่สวยงามที่ว่า ราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้นมาส่วนใหญ่แล้วเป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น ไม่ใช่สูงขึ้นเนื่องจากความต้องการในสินค้าประจำวันอย่างเช่น เสื้อผ้า และ เครื่องดูดฝุ่น ซึ่งเป็นตัวขับดันเศรษฐกิจโดยรวมอันทรงพลัง

ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืด หรือการที่ราคาสินค้าไม่ขยับขึ้นแต่กลับลดต่ำลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นประสบมาหลายปีแล้วนั้น ถึงแม้ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องดีสำหรับนักช็อป ทว่ามันกลับเป็นข่าวร้ายสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสภาวะเช่นนั้นจะส่งเสริมให้ผู้บริโภคชะลอการจับใช้จ่ายออกไปก่อน เนื่องจากทราบว่าพวกเขาจะจ่ายเงินซื้อสินค้าได้ในราคาต่ำลงอีก หากสามารถรอคอยต่อไปได้

สภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้พวกบริษัทภาคธุรกิจต่างๆ รีรอยังไม่ทำการลงทุน รวมทั้งไม่จูงใจให้พวกเขาเพิ่มค่าจ้างแก่ลูกจ้างพนักงาน แล้วเลยส่งผลให้พวกลูกจ้างพนักงานซึ่งเป็นผู้บริโภคใหญ่ที่สุดในสังคม พากันไม่อยากจับจ่ายใช้สอยหนักข้อขึ้นอีก

คริส เท็ดเดอร์ นักวิเคราะห์แห่ง ฟอเร็กซ์ดอตคอม ในซิดนีย์, ออสเตรเลีย เป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดเห็นในลักษณะเช่นนี้ โดยเขาชี้ว่าเมื่อดูกันให้ละเอียด ดัชนีผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเงินเฟ้อตัวหลัก เวลานี้กลับสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาสำคัญของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่ผู้บริโภคไม่มีความต้องการที่จะใช้จ่าย เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นนั่นเอง

อาเบะ นายกรัฐมนตรีหัวอนุรักษนิยมของญี่ปุ่น ประกาศดึงลากญี่ปุ่นให้หลุดออกมาจากสภาวะเงินฝึดที่เกาะกุมประเทศมานานถึง 15 ปี ด้วยนโยบายที่เรียกขานกันว่า “อาเบะนอมิกส์” อันได้แก่การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทางการคลัง ประสานกับที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) ก็ใช้มาตรการทางการเงิน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะผลักดันยกระดับราคาและค่าจ้างให้สูงขึ้น เพื่อนำพาเศรษฐกิจให้เคลื่อนไหวคึกคักได้อีกครั้งหนึ่ง

บีโอเจนั้นประกาศในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายที่จะดันให้อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2% ให้ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ทว่าจากตัวเลขที่แถลงกันในคราวนี้ พวกนักวิเคราะห์มองว่ายังจะต้องเดินกันไปอีกไกลทีเดียว ในเมื่อผู้บริโภคยังคงควบคุมการใช้จ่ายของพวกตนอย่างเข้มงวด

มีนักวิเคราะห์บางรายกำลังเสนอให้อาเบะเรียกร้องบริษัทภาคธุรกิจต่างๆ ขยับขึ้นอัตราค่าจ้าง ในขณะเดียวกับที่ราคาสินค้าต่างๆ กำลังไต่สูงขึ้นอยู่แล้ว ทว่าความเป็นจริงมีอยู่ว่า ราคาสินค้าที่กำลังขึ้นสูงในตอนนี้ ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง จึงทำให้ราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบต่างๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งอาเบะและบีโอเจ ต่างเดินนโยบายแรงๆ ในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยทำให้ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวลงมาถึงราว 1 ใน 4 นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และสภาพเช่นนี้กำลังส่งผลดีทำให้ผู้ส่งออกชาวญี่ปุ่นขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น

ทว่าเงินเยนที่อ่อนปวกเปียกลง ก็ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องแพงลิ่วขึ้นไปเช่นกัน ยิ่งในภาวะที่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะตั้งแต่ปี 2011 และถูกบังคับให้ต้องปิดเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การผลิตไฟฟ้าจึงต้องอาศัยน้ำมันและก๊าซมากขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังอาจเผชิญอุปสรรคหนักหน่วงเพิ่มเติมขึ้นอีก หลังจากรัฐบาลอาเบะประกาศจะเดินหน้าขึ้นภาษีการขาย ซึ่งเก็บจากการซื้อขายสินค้าทุกอย่าง โดยระบุว่าเป็นมาตรการสำคัญยิ่งยวดในการลดทอนภาระหนี้สินของประเทศที่อยู่ในปริมาณมหึมา ทว่านักวิเคราะห์เตือนว่า การกระทำเช่นนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันจะส่งผลด้านกลับ นั่นคือทำให้ผู้บริโภคยิ่งไม่ต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นไปอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น