โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• มาร์กิตรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นในภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 47.3 จุดในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แสดงว่าการหดตัวของกิจกรรมธุรกิจมีอัตราชะลอลง ทั้งนี้ ดัชนี PMI ของเยอรมนีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.5 จุดจาก 49.2 จุดในเดือน พ.ย. เป็นการกลับเข้าสู่ภาวะขยายตัว (ดัชนีระดับเกิน 50 จุด) ครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ในขณะที่ดัชนี PMI ของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 45.0 จุด ชี้ว่ากิจกรรรมทางธุรกิจยังคงหดตัว
• สถาบัน Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีคาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัว 0.7% ในปี 56 เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก ทั้งนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีอาจจะยังหดตัวในไตรมาส 4/55 แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ตาม Ifo ได้ประเมินว่ายังไม่น่าจะเห็นภาวะการจ้างงานฟื้นตัวขึ้นในระยะอันใกล้นี้
• ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ขยายตัว 1.1% ในเดือน พ.ย. ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 0.3% และเป็นการขยายตัวที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมากนั้นเป็นเพราะเดือนก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนแซนดี ทำใหการผลิตต่ำกว่าปกติ
• ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 0.3% ในเดือน พ.ย. ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 0.2% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมาก ซึ่งการปรับตัวลงของดัชนี CPI นี้จะช่วยให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สามารถใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินได้อย่างสะดวกเพราะอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับต่ำ
• ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศขยายข้อตกลงสวอปเงินดอลลาร์ออกไปอีก 1 ปีกับธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ โดยข้อตกลงดังกล่าวจะขยายออกไปจนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2557 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีการพิจารณาขยายข้อตกลงสวอปค่าเงินในการประชุมนโยบายการเงินครั้งถัดไป ซึ่งข้อตกลงสวอปค่าเงินนี้มีเป้าหมายเพื่อจัดเตรียมสภาพคล่องเงินดอลลาร์ให้เพียงพอต่อระบบการเงินโลก
• นายจอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า สภาคองเกรสจะไม่ยอมล้มเลิกการควบคุมระดับเพดานหนี้สินของรัฐบาลกลาง เพื่อควบคุมให้สถานะการคลังของสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง และยังได้วิจารณ์ปธน.บารัค โอบามาว่าไม่มีความจริงจังในการเจรจาและไม่มีแผนชัดเจนที่จะปรับลดการใช้จ่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง (fiscal cliff)
• ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการดำเนินงานธนาคารต่างประเทศในสหรัฐฯ โดยกำหนดให้ธนาคารจากต่างประเทศขนาดใหญ่ต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดขึ้น และต้องมีการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) เพื่อควบคุมความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพด้านการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ธนาคารต่างประเทศที่มีทรัพย์สินทั่วโลกตั้งแต่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ขึ้นไปจะต้องทำตามมาตรฐานใหม่ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2558
• องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ประเมินเบื้องต้นคาดว่า จีดีพีของกลุ่มประเทศจี20 จะขยายตัว 0.6% ในไตรมาส 3/55 ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 0.5% โดยประเทศที่มีการขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐฯ บราซิล จีน และฝรั่งเศส ในขณะที่จีดีพีญี่ปุ่นนั้นหดตัวลง 0.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/54 จีนมีอัตราการขยายตัวสูงสุดที่ 7.4% ส่วนอิตาลีหดตัวหนักสุดที่ -2.4%
• เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 50.9 จุด ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
• ธนาคารดอยช์แบงก์คาดว่า ความต้องการน้ำมันจากจีนจะขยายตัว 3.4% ในปี 56 ฟื้นตัวขึ้นจากปี 55 ที่ปริมาณการใช้น้ำมันในจีนมีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีหน้า โดยจีดีพีของจีนอาจจะขยายตัวได้ระดับ 8.5% ในครึ่งหลังของปี 56 ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเช่นกัน
• ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นประจำไตรมาส 4/55 ย่ำแย่ลงจากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวลงเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ลดลงมาอยู่ที่ -12 จาก -3 ในไตรมาสที่แล้ว
• ผู้ว่าการ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 5.8% ในปี 55 ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 5.7% ส่วนในปี 56 คาดว่าการขยายตัวจะอยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.6% จากแรงขับเคลื่อนด้านอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ส่วนภาคการส่งออกนั้นคาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 56 และจะเป็นแรงหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลัง
• ก.พาณิชย์เตรียมประกาศเป้าการส่งออกปี 56 อย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ ซึ่งจากที่ประเมินเบื้องต้นคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยปี 56 น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5-9% โดยปัจจัยเสี่ยงการส่งออกปีหน้าได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปที่ยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐฯ ส่วนปัญหาที่น่ากังวลในประเทศคือการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทไม่น่าจะกระทบการส่งออกมากนัก
Equity Market
• SET Index ปิดที่ 1,358.50 จุด เพิ่มขึ้น 4.69 จุด หรือ +0.35% ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 37,268 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 831 ล้านบาท โดยหุ้นไทยปรับขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นส่งผลโดยตรงต่อบรรยากาศการลงทุนในหุ้น แต่หุ้นไทยที่ปรับขึ้นส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ในขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่อิงกับเศรษฐกิจโลกนั้นปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ แสดงว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงนิยมธุรกิจที่สามารถเติบโตไปกับเศรษฐกิจไทยมากกว่า
Fixed Income Market
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 0.00% ถึง 0.03% โดยรุ่นที่อายุคงเหลือระหว่าง 5 ถึง 10 ปีมีอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมากกว่ารุ่นอื่นๆ