โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ในปัจจุบัน อาจถือได้ว่าตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยตราสาร 2 ประเภทหลักๆ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ (พันธบัตร) และตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน (หุ้นกู้) ทั้งนี้ ตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยส่วนใหญ่ มักจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่มีความหลากหลายมากกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น เป็นตราสารที่มีสิทธิแฝง (Embedded Option) หรือในบางครั้งอาจเป็นตราสารหนี้ที่สามารถแปลงสภาพเป็นตราสารประเภทอื่นๆ ได้ (Convertible Bond) โดยภาคเอกชนที่ออกตราสารหนี้ในตลาด มักจะปรับตราสารหนี้ที่ออกให้มีลักษณะเฉพาะ เหมาะสมสูงสุดกับสภาพความต้องการระดมทุนของตนเอง ขณะที่ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐ มักจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานโดยทั่วไป เช่น เป็นตราสารที่จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-Rate Bond) และเป็นตราสารที่ไม่สามารถไถ่ถอนเงินต้นคืนได้ก่อนวันครบกำหนด เป็นต้น เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักในการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ของภาครัฐ ก็เพื่อเป็นการจัดหาเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลวางแผนเอาไว้ และในบางครั้งก็เป็นการจัดหาเงินเพื่อนำไปจ่ายชำระคืนให้กับยอดหนี้เดิม (Refinance) ที่ครบกำหนดชำระแล้วนั่นเองค่ะ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยเริ่มมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างเป็นลำดับ ส่งผลทำให้มีการออกตราสารที่มีลักษณะเฉพาะตัวในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นค่ะ โดยภาคเอกชนเริ่มมีการออกตราสารที่มีความซับซ้อนมากขึ้น (Structure Note) เช่น ตราสารหนี้ที่มีราคาอิงกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ตราสารหนี้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Securitization) และตราสารหนี้ที่ไม่มีการระบุวันครบกำหนดไถ่ถอน (Perpetual Bond) เป็นต้น เช่นเดียวกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการยอดหนี้คงค้างและจัดหาเงินทุนใหม่ๆให้กับรัฐบาล ก็เริ่มมีการออกพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยโดยอิงกับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond) ในปีที่ผ่านมา และมีแผนที่จะออกพันธบัตรประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing Bond) ในช่วงเดือนธันวาคมที่กำลังจะถึงนี้อีกด้วย และถึงแม้ว่าพันธบัตรประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้นนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับลักษณะการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยโดยทั่วไป (เนื่องจากมีอายุยาวถึง 25 ปี) แต่ทั้งนี้ Amortizing Bond ที่ สบน. กำลังจะออก ก็มีรายละเอียดและลักษณะเฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่น้อยเลยค่ะ
พันธบัตรทยอยคืนเงินต้น เป็นเครื่องมือที่ สบน. วางแผนว่าจะนำมาใช้สำหรับบริหารสภาพคล่องในการชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดของภาครัฐ (Refinance) โดยที่ Amortizing Bond จะเป็นตราสารหนี้ที่มีการทยอยชำระคืนเงินต้นพร้อมๆกับการจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละงวด โดยอัตราดอกเบี้ยจะถูกกำหนดไว้เป็นแบบอัตราคงที่ ดังนั้นจำนวนดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับในแต่ละงวด จะมีค่าค่อยๆลดลงตามจำนวนเงินต้นที่เหลืออยู่ ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ยอดเงินทั้งหมดที่ สบน. ต้องจ่ายคืนให้กับนักลงทุนในปีสุดท้ายเหลืออยู่ในปริมาณที่ไม่สูงจนเกินไปนัก และจะช่วยทำให้ สบน. สามารถก่อหนี้ใหม่เพื่อนำมาจ่ายชำระคืนให้กับหนี้ก้อนเดิมนี้โดยไม่ยากจนเกินไป ทั้งนี้ สบน. วางแผนที่ขาย Amortized Bond อายุ 25 ปี มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ และหลังจากนั้นยังมีแผนที่จะทยอยออก Amortizing Bond อีกเรื่อยๆ ให้ได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยหวังว่าจำนวน Amortizing Bond ที่มีอยู่ในตลาดอย่างเพียงพอ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของการซื้อขายเปลี่ยนมือให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้นตามไปด้วยค่ะ
Amortizing Bond อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางการลงทุนที่เหมาะสำหรับกลุ่มของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว (Long-Term Investor) ตัวอย่างเช่น กลุ่มของบริษัทประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่า Amortizing Bond ที่กำลังจะออกนี้ จะไม่เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยโดยทั่วไปนะคะ ทั้งนี้เราอาจจะต้องพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) ที่ยังไม่มีการประกาศออกมาสำหรับ Amortizing Bond รุ่นนี้อีกครั้งหนึ่งก่อนค่ะ เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกในการออก Amortizing Bond ของ สบน. ดังนั้นการพิจารณาในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่จะจ่าย จึงต้องกำหนดให้อยู่ในช่วงที่นักลงทุนโดยทั่วไปให้การตอบรับมากที่สุดด้วยค่ะ อย่างไรก็ตาม สบน. ได้แต่งตั้งตัวแทนในการจำหน่าย Amortizing Bond ในครั้งนี้ อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารดอยช์แบงก์ และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง เพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และชี้แจ้งรายละเอียดต่างๆ ให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยนักลงทุนที่มีความสนใจในรายละเอียดอื่นๆ ของ Amortizing Bond ที่กำลังจะออกขายนี้ สามารถติดต่อไปยังตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งได้โดยตรงค่ะ