xs
xsm
sm
md
lg

คนยุโรปนับล้านร่วมชุมนุมต้านแผนรัดเข็มขัดครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำรวจสเปนปะทะกับผู้ประท้วงในกรุงมาดริด ระหว่างการสไตรก์นัดหยุดงานและปิดร้านรวงครั้งใหญ่เมื่อวันพุธ(14) ซึ่งมีประชาชนหลายประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) เข้าร่วมเป็นเรือนล้าน ทั้งนี้เพื่อแสดงความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งแต่ตัดลดรายจ่ายลงอย่างรุนแรง
เอเจนซีส์ - ประชาชนหลายประเทศในยุโรปจำนวนเรือนล้าน พากันเข้าร่วมการประท้วงในวันพุธ(14) จนกลายเป็นการต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่วิกฤตหนี้ยูโรโซนเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยการชุมนุมเดินขบวนครั้งนี้ในหลายๆ แห่งยังลุกลามกลายเป็นความรุนแรง มิหนำซ้ำหลังจากนั้นเพียงวันเดียวนั่นคือในวันพฤหัสบดี(15) ก็มีข่าวร้ายล่าสุดออกมาว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งถือเป็นการถดถอยครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี

การเดินขบวนในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อวันพุธ (14) จบลงด้วยความรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับจากวิกฤตหนี้ยุโรปเริ่มต้น โดยตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงที่ขว้างปาก้อนหินและขวดน้ำ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 50 คน

ที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน ผู้ประท้วงเผาถังขยะทำให้ควันคละคลุ้งบนท้องถนนสายหลัก ส่วนที่เมืองบาร์เซโลนา เมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่งของแดนกระทิงดุ ผู้ประท้วงก็เผารถตำรวจ ทำให้ตำรวจปราบจลาจลต้องใช้ปืนบรรจุกระสุนยางยิงขับไล่สลายการชุมนุมในทั้งสองเมือง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 70 คน พร้อมกับจับกุมตัวผู้ก่อเหตุไป 155 คน โดย 2 คนในจำนวนนี้มีวัตถุทำระเบิดอยู่ในครอบครอง

กระทรวงมหาดไทยสเปนแถลงว่า การชุมนุมประท้วงคราวนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 819,600 คน แต่สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่าเป็นการประมาณการที่น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก โดยยกตัวอย่างว่าการชุมนุมในย่านกลางกรุงมาริดที่มีผู้เข้าร่วมอย่างหนาแน่นนั้น เอล ปาอิส หนังสือพิมพ์ชั้นนำคำนวณว่ามีจำนวน 175,000 คน โดยพิจารณาจากภาพถ่ายและการประมาณการความหนาแน่นของฝูงชนอย่างละเอียด ทว่าทางการรัฐบาลกลางกลับระบุว่าผู้ชุมนุมที่นั่นมีจำนวนเพียง 35,000 คน

การประท้วงนัดหยุดงานและปิดร้านค้าครั้งใหญ่ในสเปนคราวนี้ ซึ่งพวกสหภาพแรงงานระบุว่ามีคนงานเข้าร่วมหลายล้านคน ทำให้ต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินนับร้อยๆ โรงเรียนหยุด และรถไฟสามารถเปิดให้บริการได้เพียงบางสาย

ขณะที่การสไตรก์ในเบลเยียม ก็ส่งผลต่อบริการรถไฟระหว่างประเทศ

ในกรีซและฝรั่งเศส บรรดาพนักงานเข้าร่วมขบวนต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดที่สร้างภาระหนักต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานด้วยเช่นกัน ทว่า สหภาพแรงงงานของกรีซที่กังวลกับวิกฤตของประเทศ จำกัดการหยุดงานเพียงแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี มีการปะทะดุเดือดระหว่างตำรวจปราบจลาจลกับผู้ประท้วง และมีผู้ถูกจับกุม 60 คน นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาและแรงงานนับหมื่นๆ รวมตัวกันบนท้องถนนในเมืองใหญ่อย่างมิลาน และ ตูริน ตลอดจนในอีกราว 100 เมืองทั่วแดนมักกะโรนี

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วการประท้วงในยุโรปเมื่อวันพุธส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ แม้ผู้คนนับล้านๆ ต่างไม่พอใจอัตราว่างงานสูงลิบ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดของทางการ

นอกจากนั้นแล้ว ดูเหมือนการประท้วงใหญ่ของผู้คนเรือนล้านที่จัดโดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานยุโรปคราวนี้ ยังคงไม่สามารถบีบบังคับให้รัฐบาลละทิ้งยุทธศาสตร์รัดเข็มขัดลดงบประมาณรายจ่ายอย่างรุนแรง

หลุยส์ เดอ กินดอส รัฐมนตรีเศรษฐกิจสเปน กล่าวว่า แม้เผชิญการนัดหยุดงาน ทว่า รัฐบาลจะเดินหน้าลดการใช้จ่ายต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดยอดขาดดุลงบประมาณ

การประท้วงของคนเรือนล้านทั่วยุโรปครั้งนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางเมฆหมอกของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ปกคลุมไปทั่วยูโรโซน

ยูโรสแตต สำนักงานให้ข้อมูลข่าวสารด้านตัวเลขสถิติของสหภาพยุโรป(อียู) รายงานในวันพฤหัสบดี ว่า 17 ชาติที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) ได้ก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคเป็นที่เรียบร้อยในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 นับจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2009 โดยเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสดังกล่าวติดลบ 0.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (เม.ย.-มิ.ย.2012) ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก็ขยับลง 0.2%

สำหรับจีดีพีของสหภาพยุโรปโดยรวมที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 27 ชาตินั้น ในไตรมาส 3 ก็ลดลง 0.1% หลังจากติดลบ 0.2% ในไตรมาส 2

เมื่อแยกเป็นรายประเทศ ในไตรมาส ก.ค.-ก.ย.ปีนี้ เยอรมนี มหาอำนาจเศรษฐกิจและนายทุนใหญ่ของยุโรป ยังสามารถประคับประคองอัตราเติบโตให้อยู่ในแดนบวก 0.2% เช่นเดียวกับฝรั่งเศส แต่จีดีพีของสเปนและอิตาลีติดลบ 0.3% และ 0.2% ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษที่ไม่ได้ใช้เงินยูโรเติบโต 1%

ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู คาดการณ์ว่า ตลอดปี 2012 ยูโรโซนจะติดลบ 0.4% และขยายตัวเพียง 0.1% ในปีหน้า

การฟื้นตัวของยูโรโซนนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากทั้งอเมริกาและจีนขณะนี้ต่างแสดงให้เห็นอาการซวนเซไม่มากก็น้อย เมื่อเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป

ทั้งนี้ ยูโรสแตทตั้งข้อสังเกตว่า จีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ขยายตัว 0.5% จากที่ขยับขึ้น 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนจีดีพีญี่ปุ่นหดตัว 0.9% จากที่โต 0.1% ในไตรมาส 2
กำลังโหลดความคิดเห็น