xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : Global and Thailand Economic Outlook 2015 Main Thesis : ธนาคารกลางและสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา
Chief Economist
บลจ.บัวหลวง

////ติดตามบทความเดิมได้ที่นี่///

ธนาคารกลางน่าจะพยายามอัดฉีดสภาพคล่องเต็มที่เพื่อดันให้เงินเฟ้อ

ผ่านมา ECB ทยอยเข็นมาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อ TLTROs ให้ธนาคารพาณิชย์ (Targeted Loans to Commercial Banks) การเข้าซื้อ Covered Bonds/ABS ดันงบดุลให้เข้าใกล้ระดับในปี 2012 มาตรการดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ย่อมขึ้นกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อคาดหมาย ซึ่งปัจจุบันยังทรงตัวต่ำ และถ้ายังเข็นไม่ขึ้นก็คงได้เห็น ECB ออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยในลำดับถัดไปคงจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือที่เรียกว่า Public QE

ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ก็เดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเป็น 80 ล้านล้านเยน (ราวร้อยละ 20 ของจีดีพีญี่ปุ่น) จากเดิมในกรอบ 60-70 ล้านล้านเยน ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อดันเงินเฟ้อให้เข้าเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า QQE ของญี่ปุ่นน่าจะเริ่มให้ผลที่ชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4/2014 เนื่องจากต้องรอให้ผลจากการขึ้น VAT ครั้งแรกจางไปก่อน

อย่างไรก็ตาม โจทย์เรื่องเงินเฟ้อคงจะไม่อยู่ที่ ECB และ BOJ เท่านั้น ฝั่ง FED ก็เจองานท้าทายพอกัน เนื่องจากได้ประกาศยุติ QE ครั้งที่ 3 ไปแล้วเมื่อเดือน ต.ค. ทำให้เครื่องมือที่จะดันเงินเฟ้อหายไปอีกหนึ่ง ล่าสุดระหว่างการประชุม FED เดือน พ.ย. FED ก็ออกมาปรับโทนที่ Dovish ขึ้น หลังจากพบว่าอัตราเงินเฟ้อคาดหมายของสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอลง อันอาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่า FED อาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป

Currency War

วิธีที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด คือวิธียืมจมูกคนอื่นหายใจ (Beggar Thy Neighbors) นั่นคือการเริ่มโดยดึงค่าเงินให้อ่อนลงเพื่อให้สินค้านำเข้าแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ และส่งต่อผลกระทบไปยังระดับราคาในประเทศ หรือที่เรียกว่า (Imported Inflation)

วิธีนี้ญี่ปุ่นทำสำเร็จแล้ว โดยทำให้เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบหลายๆ ปี (ราว 120 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวในแดนบวกได้ต่อเนื่อง (ปัจจุบันเงินเฟ้อญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 3.2 YoY (หรือราวร้อยละ 1.1 YoY หากหักผลกระทบจากการขึ้นภาษี) ทั้งนี้ ในทางสถิติค่าความสัมพันธ์ของเงินเยนและอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.6 ดังนั้น เมื่อเยนอ่อน อัตราเงินเฟ้อก็จะดีดขึ้นตามไปด้วย

สำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ประเด็นเรื่องค่าเงินไม่ได้มีนัยต่อการดึงเงินเฟ้อขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประเด็นเรื่องความสามารถทางการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นับตั้งแต่เยนอ่อนค่า ประเทศที่ดูจะเดือดร้อนที่สุดประเทศหนึ่งคือเกาหลีใต้ที่เป็นคู่แข่งกับญี่ปุ่นในสินค้าส่งออก ซึ่งนับจากที่ BOJ ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม ค่าเงินวอนเทียบเยนก็แข็งไปแล้วร้อยละ 6.4 ส่วนประเทศอื่นๆ นั้น พบว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมาเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบเยนถึงร้อยละ 10 เงินรูเปียะห์อินโดนีเซียแข็งค่าเทียบเยนร้อยละ 11.3 เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าเทียบเยนร้อยละ 9.3 มีผลทำให้สินค้าส่งออกของตัวเองดูแพงขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าญี่ปุ่นโดยปริยาย

Country Specific

Policy Rate Adjustment ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเรื่องเฉพาะรายประเทศ (Country -Specific) มากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับ FED โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED และธนาคารกลางอื่นๆ ไม่น่าจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด จังหวะของการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเป็นไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากกว่า

ที่ผ่านมาพบว่าบางประเทศในเอเชียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าสหรัฐฯ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่บางประเทศที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนก็กลับลดอัตราดอกเบี้ยลง เช่นเกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เงินเฟ้อทรงตัวต่ำ การบริโภคและการลงทุนหยุดชะงัก ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะเคาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ลดลงอีก 25-50 bps

US: กำลังฟื้นตัว

ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือน ต.ค. 2014 ของสหรัฐฯ พบว่า ตลาดแรงงานมีอัตราว่างงานยืนอยู่ระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 5.8 อัตราการจ้างงานที่ไม่ตรงกับวุฒิมีแนวโน้มต่ำลงที่ร้อยละ 11.5 และการขอรับสวัสดิการครั้งแรกปรับตัวลดลงเรื่อยๆ สรุปได้ว่าตลาดแรงงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจะมีผลดีต่ออุปสงค์ในประเทศ ขณะที่ข้อมูลด้านเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคชะลอตัวลงที่ร้อยละ 1.7 อัตราเงินเฟ้อผู้ผลิตชะลอตัวลงที่ร้อยละ 1.5 สรุปได้ว่า ระดับราคาที่เคยปรับดีขึ้นกลับชะลอตัวลงตั้งแต่เดือน ส.ค. เริ่มมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อคาดหมายของสหรัฐฯ FED อาจจะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น จากการที่จีดีพีไตรมาส 2/2014 และ 3/2014 ปิดบวกได้เกินความคาดหมาย พอสรุปได้ว่าการบริโภคและการส่งออกช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นขึ้นได้แข็งแกร่ง

สำหรับปัจจัยเฉพาะประเทศ โครงสร้างพลังงานของสหรัฐฯ ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการค้นพบ Shale Gas ของสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญที่หนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเร็วผ่านช่องทางการส่งออก เศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวได้สองไตรมาสติด (3Q/2014 : ร้อยละ 3.9 QoQ saar และ Q2/2014 : ร้อยละ 4.6 QoQ saar) ภายหลังจากที่ติดลบไปในไตรมาสแรกของปี 2014 (หดตัวร้อยละ 2.1 QoQ saar) จีดีพีครึ่งปีแรกยังขยายได้เกินร้อยละ 3.0

มองไปในปี 2015 คาดว่าตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งน่าจะช่วยดันอุปสงค์ในประเทศได้ ธุรกิจเริ่มขยายกำลังการผลิต และการลงทุนในสินค้าคงทน คาดว่า Capex ของธุรกิจในสหรัฐฯ จะช่วยดันผลการสำรวจทางธุรกิจและความมั่นใจของธุรกิจในประเทศให้ดีขึ้นต่อเนื่อง (สะท้อนจากดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ทะยานขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาคการผลิต) การส่งออกน้ำมันและพลังงานช่วยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดให้ขาดดุลลดลง

ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ปรับดีขึ้น อัตราว่างงานยืนอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2014 เป็นต้นมา ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจส่งสัญญาณว่าอัตราค่าแรงน่าจะปรับขึ้นในปี 2015 ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะที่ดีเพราะอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำ

ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป เพราะแม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนจากฝั่งค่าจ้าง แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ราคาพลังงานที่มีผลดึงเงินเฟ้อลงต่ำ ประเด็นเกี่ยวกับทิศทางเงินเฟ้อจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อ Timing ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในปี 2015 ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2015 โดย Fed Fund Rate น่าจะยืนอยู่ที่ร้อยละ 1.0-2.0 ขณะที่จีดีพีสหรัฐฯ น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0

(ติดตามต่อสัปดาห์หน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น