xs
xsm
sm
md
lg

ยล “ศิลปะข้างหม้อสุกี้” งานสร้างสรรค์ช่วยฟื้นชีพชาวไร่ (ชมภาพชุด)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระแสนิยมใช้หัวไชเท้าฝนปั้นเป็นตุ๊กตาของเหล่าแม่บ้านชาวญี่ปุ่น ไม่เพียงสร้างสีสันใหม่ให้กับอาหารจานโปรดเท่านั้น แต่ยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไชเท้าจากวิกฤตราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอีกด้วย

หัวไชเท้าฝน หรือ “ไดคน โอโรชิ” เป็นเครื่องเคียงที่สำคัญ ในการรับประทานอาหารญี่ปุ่นประเภทหม้อไฟหรือสุกี้ โดย 2-3ปีที่ผ่านมาได้เกิดกระแสฮิตจากบรรดาแม่บ้านญี่ปุ่นที่ใช้หัวไชเท้าฝนสร้างสรรค์เป็นตุ๊กตารูปร่างต่างๆ เป็นความน่ารักริมหม้อไฟที่ทั้งอิ่มตา อิ่มใจและอิ่มอร่อย


ภาพงาน “ศิลปะข้างหม้อสุกี้” ที่แพร่หลายผ่านโลกออนไลน์ ไม่เพียงกลายเป็นกระแสนิยม แต่ยังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไชเท้าจากวิกฤตราคาตกต่ำที่ต่อเนื่องมาหลายสิบปี

ที่ราบสูงฮิรุกาโน ในจังหวัดกิฟุ เป็นพื้นที่ปลูกไชเท้าที่สำคัญของญี่ปุ่นหัวไชเท้าที่นี่มีรสหวานและอ่อนนุ่มเนื่องจากสภาพอากาศพิเศษที่อุณหภูมิแตกต่างกันมากในช่วงกลางวันและกลางคืน

อย่างไรก็ตาม ชาวไร่ไชเท้าต้องเผชิญวิกฤตเมื่อหัวไชเท้าที่เคยส่งจำหน่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยจำหน่ายได้ว่า 8,138ตันในช่วงปี 2002 ลดลงเหลือเพียงราว 5,000 ตันในรอบ 10ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ราคาไชเท้าก็ตกต่ำลงมากกว่า 40% โดยทุกวันนี้สามารถหาซื้อหัวไชเท้าขนาดใหญ่หนัก 2-3 กก.ได้ในราคาเพียงแค่ไม่ถึง 100เยน วิกฤตเช่นนี้ทำให้ชาวไร่หลายรายจำต้องเลิกปลูกไชเท้า


สหกรณ์การเกษตรฮิรุกาโนริเริ่มจัดการประกวด “ศิลปะจากไชเท้าหัว” เป็นครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว และได้รับความสนใจจากบรรดาแม่บ้านญี่ปุ่นส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 55 ชิ้น

กรรมการตัดสินที่มีทั้งตัวแทนเกษตรกรและศิลปิน ได้คัดเลือกให้ แมวน้อยที่ปั้นขึ้นจากไชเท้าฝนของแม่บ้านจากจังหวัดวากายามะได้รับรางวัลชนะเลิศ นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ เช่น หมีแพนด้า, หมาน้อย รวมทั้งตัวการ์ตูนอื่นๆ ที่น่ารักไม่แพ้กัน



แม่บ้านชาวญี่ปุ่น เปิดเผยเคล็บลับว่า การใช้หัวไชเท้าฝนเป็นเป็นรูปร่างต่างๆนั้นต้องบีบน้ำออกจากไชเท้าให้พอเหมาะ ถ้าน้ำมากไปจะปั้นไม่ได้ แต่ถ้าน้อยไปก็จะเสียรสหวานของไชเท้า โดยหม้อไฟ 1หม้ออาจต้องใช้หัวไชเท้าขนาดใหญ่มากกว่า 1หัว

เกษตรกรชาวญี่ปุ่นหวังว่า “ศิลปะข้างหม้อสุกี้”จะช่วยให้ไชเท้าซึ่งเคยเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เพราะไชเท้าไม่เพียงช่วยให้น้ำแกงมีรสหวาน แต่ไชเท้าดิบยังช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมรับประทานไชเท้าฝนคู่กับอาหารต่างๆ ตั้งแต่ปลาดิบ, ซูชิ, อาหารย่าง ไปจนถึงหม้อไฟ.

กำลังโหลดความคิดเห็น