พัทลุง - ชาวนาใน อ.ตะโหมด จ.พัทลุงร่วมทำพิธี “ช่อซังข้าว” ก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะนำเมล็ดผลผลิตที่ได้มาเป็นอาหาร อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหายจากเมืองลุง
วันนี้ (15 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จ.พัทลุง เป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เคยเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งหนึ่ง และยังมีสภาพภูมิประเทศทั้งที่ราบ เนินเขา และชายฝั่ง โดยทางทิศตะวันตกของจังหวัดจะเป็นพื้นที่ราบสูง และที่ราบเชิงเขา อันเนื่องมาจากมีพื้นที่ติดต่อกับเทือกเขานครศรีธรรมราช ถัดลงมาทางตอนกลาง และทางทิศตะวันออกของจังหวัดจดทะเลสาบสงขลา จะเป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำการเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาข้าว ชาวภาคใต้จะเรียกจังหวัดนี้ว่าเมืองลุง
จากวิถีการทำนานี่เองที่ทำให้เกิดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับการทำนาข้าว อย่างเช่น การทำพิธีขวัญข้าว พิธีลาซัง และอีกพิธีหนึ่งที่กำลังจะเลือนหายไปจากการทำนาของชาว จ.พัทลุง คือ การช่อซังต้นข้าวก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากการทำนาในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องมือเกษตรแทน แต่ยังมีกลุ่มทำนาอินทรย์อีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ที่ยังยึดถือวิถีชีวิตการทำนาแบบดั้งเดิม และยึดถือประเพณีการทำนามาแต่โบราณ เพื่อให้ข้าวทุกเม็ดมีคุณค่าต่อชีวิต
นายนเรศ ขวัญปลอด ชาวนาในพื้นที่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า การทำนาในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ชาวนาในพื้นที่ อ.ตะโหมด ยังคงยึดหลักการทำนาข้าวตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ อย่างการช่อซังต้นข้าว ที่เป็นอีกหนึ่งประเพณีท้องถิ่น ก่อนการเก็บเกี่ยวแปลงนาที่ข้าวสุกเหลืองทอง ชาวนาที่นี่จะให้ผู้สูงอายุในหมู่บ้านทำพิธีช่อซัง เพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองแปลงนา ช่วยดูแลต้นข้าวให้ผลผลิตดี ก่อนจะนำเมล็ดผลผลิตที่ได้มาเป็นอาหาร และจะร่วมกันเก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกระ แล้วมามัดเป็นเลียง ซึ่งการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกระนั้นจะได้ข้าวทุกเม็ดทุกรวงไม่ร่วงหล่น แม้จะช้ากว่าการเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องจักร แต่ชาวนาที่นี่ยังคงสืบสานการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยมือไว้กินเอง