xs
xsm
sm
md
lg

รพ.พระมงกุฎ ร่วมจุฬาฯ ผลิตกระดูกไทเทเนียม ใช้แทนกระดูกจริงผู้ป่วย “เนื้องอกกระดูก” ครั้งแรกของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.พระมงกุฎ ร่วมวิศวะ จุฬาฯ ผลิตกระดูกนิ้วหัวแม่มือเทียมจาก “ไทเทเนียม” ผ่าตัดใช้แทนกระดูกจริง ช่วยรักษาผู้ป่วยมะเร็งเนื้องอกกระดูกที่ต้องตัดกระดูกทิ้งได้เป็นครั้งแรกของโลก ชี้ หลังผ่าตัด 4 - 6 สัปดาห์ สามารถฝึกใช้มือให้เป็นปกติได้ เตรียมจดสิทธิบัตรและตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ

วันนี้ (26 ม.ค.) ที่อาคารมหาวชิรลงกรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก และภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จของการผ่าตัดใส่กระดูกเทียมผลิตจากโลหะไทเทเนียม โดยการพิมพ์สามมิติเพื่อใส่ทดแทนกระดูกนิ้วหัวแม่มือ ที่ถูกทำลายจากเนื้องอกกระดูกเป็นรายแรกของโลก โดย พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ หัวหน้าหน่วยเนื้องอกกระดูก กองออร์โธปิดิกส์ รพ.พระมงกุฎ กล่าวว่า เนื้องอกกระดูกเป็นโรคที่พบได้ทางฝั่งเอเชียมากกว่าฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยพบอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 20 สาเหตุเกิดจากการแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติ แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นนั้นยังไม่ทราบ สามารถพบได้บ่อยที่กระดูกข้อมือ และรอบเข่า อาการที่บ่งบอกว่าเป็นเนื้องอกกระดูก คือ คลำแล้วเจอก้อนและมีอาการปวดกระดูก เนื่องจากเนื้องอกจะไปทำลายกระดูกและขัดขวางการเคลื่อนไหว ที่เด่นชัดคือเมื่อหลับพักผ่อนเวลากลางคืนจะมีอาการปวดกระดูกมาก เพราะมีการหลั่งสารออกมาทำให้เกิดอาการปวด ซึ่งจะแตกต่างจากการปวดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่เมื่อนอนหลับพักผ่อนก็จะหาย ดังนั้น หากมีอาการปวดกระดูกเช่นนี้ควรรีบมาพบแพทย์

พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ กล่าวว่า เนื้องอกกระดูกถือว่ามีความดุร้าย การรักษาจำเป็นต้องตัดกระดูกออกไปทั้งชิ้น และยังมีโอกาสเกิดซ้ำหลังผ่าตัดได้อีก ที่ผ่านมา หลังผ่าตัดเอากระดูกออกไปแล้วนั้นจะนำกระดูกของผู้ป่วยเอง เช่น ขา หรือเท้า มาทำให้ใกล้เคียงกับกระดูกเดิมแล้วเชื่อมกระดูกให้ติดกัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวกระดูกชิ้นนั้นได้ จึงได้มีการทำวิจัยร่วมกันกับภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยใช้นวัตกรรมกระดูกไทเทเนียมจากการพิมพ์สามมิติ ซึ่งสร้างโดยภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ จุฬาฯ มาใส่เข้าไปแทน

“หลังผ่าตัดเอากระดูกหัวแม่มือที่เป็นเนื้องอกออกแล้ว ได้นำซีเมนต์ทางการแพทย์มาใส่เข้าไปแทนก่อน เพื่อติดตามว่าจะเกิดเนื้องอกขึ้นซ้ำหรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดรายแรกได้ทำในผู้ป่วยหญิงอายุ 37 ปี ที่กระดูกนิ้วหัวแม่มือถูกทำลายโดยเนื้องอกกระดูกชนิดเซลล์ยักษ์ โดยใช้ระยะเวลาติดตามประมาณ 1 ปี จึงทำการผ่าตัดใส่กระดูกไทเทเนียมเข้าไป ซึ่งมีการเจาะรูสำหรับการเย็บร้อยเส้นเอ็นข้อมือและเอ็นที่มือ หลังการผ่าตัด 2 - 3 วันผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย และประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ หลังจากเส้นเอ็นสมานกันดีก็สามารถฝึกขยับมือได้เลย ซึ่งจากการติดตามเป็นเวลา 4 เดือน พบว่าผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้มือได้ดี สามารถเขียนหนังสือ หยิบจับสิ่งของได้ ทั้งนี้ จะมีการจดสิทธิบัตรเทคนิคการเย็บและกระบวนการผลิตต่อไป รวมถึงลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของต่างประเทศด้วย” พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ กล่าว

ผศ.ดร.บุญรัตน์ โล่วงศ์วัฒน หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมโลหะ ภาควิชาวิศวกรรมโลหะการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การผลิตกระดูกไทเทเนียมเป็นการต่อยอดมาจากการทำวิศวกรรมด้านอัญมณี โดยไทเทเนียมนั้นมีความพิเศษที่น้ำหนักเบา แข็งแรง ทนทาน เสื่อมสลายยาก โดยการผลิตกระดูกเทียมไทเทเนียมนั้นจะใช้เครื่องซีทีสแกนทำการสแกนกระดูกมือต้นแบบของผู้ป่วยทั้งสองข้าง โดยจะใช้กระดูกนิ้วหัวแม่มือด้านที่ไม่เป็นเนื้องอกมาเป็นต้นแบบ โดยนำมาปรับแต่งกลับข้าง พร้อมทั้งใช้คอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบเพื่อเจาะรูบนกระดูกต้นแบบที่กลับข้างแล้ว สำหรับใช้เย็บตรึงกับเส้นเอ็นผู้ป่วย ซึ่งการออกแบบจะทำร่วมกับคำแนะนำของคณะแพทย์เพื่อให้ได้ขนาดและตำแหน่งของรูที่เหมาะสม ประกอบกับการออกแบบทางวิศวกรรมให้ทนรับแรงกระทำทางกลได้ จากนั้นแปลงข้อมูลและป้อนเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ ทำการพิมพ์สามมิติกระดูกต้นแบบโดยใช้เรซิน จากนั้นตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ และนำกระดูกต้นแบบเรซินมาเป็นต้นแบบในการผลิตเป็นกระดูกเทียมโลหะ ด้วยเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบขี้ผึ้งหาย โดยใช้โลหะไทเทเนียมเป็นวัตถุดิบ จากนั้นนำมาขัดผิว ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ซึ่งกระบวนการผลิตใช้เวลาเพียงประมาณ 1 สัปดาห์

ผู้สื่อข่าวถามถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา และมีโอกาสจะบรรจุลงเป็นสิทธิประโยชน์การรักษาหรือไม่ พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัย ค่าใช้จ่ายอยู่ในการสนับสนุนของงานวิจัย และยังไม่ได้คิดถึงต้นทุน ซึ่งโครงการนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี หากสำเร็จก็จะส่งให้รัฐบาลในการเบิกจ่ายค่ารักษาต่อไปในอนาคต

เมื่อถามถึงเกณฑ์ในการรับผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการวิจัย พ.อ.รศ.นพ.ทิพชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่จะเข้าร่วมโครงการ คือ ผู้ที่เป็นเนื้องอกกระดูกระยะที่สาม ซึ่งมีการทำลายกระดูกแล้ว โดยก่อนเข้าร่วมโครงการผู้ป่วยจะต้องเซ็นยินยอมเพื่อรับทราบว่าเข้าร่วมโครงการวิจัย จะมีการทำลายกระดูกทั้งชิ้นหรือบางส่วน และมีความประสงค์จะเข้าร่วม ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของโลกในส่วนของการผ่าตัดใส่กระดูกเทียมไทเทเนียมที่นิ้วหัวแม่มือ เพราะเท่าที่ค้นข้อมูลจากต่างประเทศยังไม่การทำในส่วนนี้ เนื่องจากเป็นส่วนที่ทำได้ยาก แต่ที่พบคือมีการใช้กระดูกไทเทเนียมแทนในส่วนของกระดูกเชิงกราน และกระดูกคอ




ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น