xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์เตือนเล่นโทรศัพท์มือถือมากเกินไป เสี่ยงเป็น Text Neck Syndrome

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นพ.ภัทร โฆสานันท์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ-โรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี
ใครที่กำลังติดเล่นโทรศัพท์มือถือ แพทย์ได้ออกมาเตือนแล้วว่า การก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ นอกจากจะมีปัญหาด้านสายตาแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อคอ ไหล่ และกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็น Text Neck Syndrome ได้

Text Neck Syndrome คืออะไร
คือ กลุ่มอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และไหล่ และอาจรวมไปถึงความเสื่อมกระดูก ข้อต่อกระดูก หรือหมอนรองกระดูกบริเวณคอได้ โดยปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการบาดเจ็บซ้ำซากบริเวณคอ ซึ่งเกิดจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นเวลานานเกินไป

อาการของ Text Neck Syndrome
มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณต้นคอ บ่า ไหล่ หรือสะบัก ในรายที่เป็นมากนั้น อาจจะมีอาการชา ปวดร้าวจากคอไปยังมือ หรือมีอาการอ่อนแรงของแขนและมือได้ โดยอาการผิดปกติดังกล่าวนั้น อาจจะดีขึ้นชั่วคราวหลังจากผู้ป่วยรับประทานยา หรือทำกายภาพบำบัด แต่อาการจะกลับมาเป็นใหม่เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือในลักษณะเดิม ๆ อีก

Text Neck Syndrome สามารถสร้างปัญหาได้มากแค่ไหน
ความรุนแรงของ Text Neck Syndrome นั้นมีหลากหลายระดับ ตั้งแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มีการอักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า สะบัก และหัวไหล่ ไปจนถึงปัญหาที่มีความรุนแรง เช่น มีความเสื่อมของแนวกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งก่อให้เกิดการกดทับของไขสันหลัง หรือรากประสาทบริเวณคอ ทำให้เกิดอาการชา หรืออ่อนแรงของแขนและมือได้

ท่าทาง และผลกระทบต่อคอ
สาเหตุที่การใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ ในแต่ละวันสามารถก่อให้เกิด Text Neck Syndrome นั้น เป็นเพราะขณะที่เราใช้งานโทรศัพท์มือถือ ร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม นั่นคือ ท่าที่ศีรษะโน้มมาทางด้านหน้า ไหล่สองข้างห่อและก้มหลัง

จากการวิจัยพบว่า ยิ่งเรามีมุมในการก้มศีรษะมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีแรงกดดันในคอเพิ่มขึ้นเท่านั้น โดยหากเราก้มศีรษะเป็นมุม 15 องศา แรงกดบริเวณคอจะเพิ่มจาก 12 ปอนด์ในท่าที่คออยู่ในแนวตรงไปเป็น 27 ปอนด์ และหากเราก้มศีรษะมากขึ้นเป็น 45 องศา แรงกดจะเพิ่มไปถึง 49 ปอนด์เลยทีเดียว

การป้องกัน
การป้องกัน Text Neck Syndrome นั้นสามารถทำได้โดยการปรับลักษณะนิสัยในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางในการใช้งาน หรือระยะเวลาที่ใช้งาน โดยเราควรจะพยายามให้ท่าทางของคออยู่ในแนวตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ก้มหลัง และไม่ห่อไหล่ ในขณะที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือ และมีการพักเปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ในขณะที่มีการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การรักษา
การรักษาสำหรับผู้ที่มีอาการของ Text Neck Syndrome แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. การรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น สามารถทำได้โดยการกายภาพบำบัด เช่น การคลายกล้ามเนื้อ การยืดกล้ามเนื้อ การสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ และการปรับท่าทางของร่างกายให้อยู่ในอิริยาบถที่เหมาะสม นอกจากนี้การใช้ยาเพื่อลดการอักเสบ และคลายกล้ามเนื้อก็สามารถช่วยลดอาการปวดได้เช่นกัน
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจนถึงมีการเสื่อมของกระดูก หรือหมอนรองกระดูกคอ ร่วมกับการกดทับไขสันหลังหรือรากประสาท อาจจะต้องพิจารณาถึงการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด

2. การป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำอีก สามารถทำได้โดยการปรับท่าทางของร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม และสร้างความเคยชินที่ถูกต้องในการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทั้งในแง่ของท่าทาง และระยะเวลาในการใช้งาน

ขณะเดียวกัน การรักษาในกรณีที่มีความเสื่อมของกระดูก หรือหมอนรองกระดูกอย่างมากร่วมกับการกดทับของรากประสาทรุนแรง อาจต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดบริเวณกระดูกคอในปัจจุบัน สามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดแผลเล็กและมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเส้นประสาทค่อนข้างต่ำมาก โดยการใช้เครื่องมือพิเศษเข้ามาช่วยในการผ่าตัด ช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ผลของการผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น การฟื้นตัวของผู้ป่วยก็จะฟื้นได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีตัวช่วยในการป้องกัน Text Neck Syndrome ในรูปแบบของแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ โดยแอปพลิเคชันเหล่านี้ จะคอยตรวจสอบมุมของหน้าจอโทรศัพท์ และคำนวณถึงความน่าจะเป็นของมุมการก้มคอของผู้ใช้งานโทรศัพท์ในขณะนั้น ซึ่งหากพบว่าในการก้มคอไม่เหมาะสม แอปพลิเคชันเหล่านี้จะทำการเตือนผู้ใช้งานให้ปรับเปลี่ยนท่าทางของตนได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น