xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่น กับ ลิง

เผยแพร่:   โดย: ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ปีนี้ของญี่ปุ่นก็เป็นปีลิงเช่นเดียวกับของไทย เปิดศักราชใหม่คราวนี้ ผมจึงถือโอกาสบอกเล่าเรื่องลิงกับคนญี่ปุ่นให้ได้ทราบกัน ลิงใกล้ชิดกับคนญี่ปุ่นมาช้านานในหลากหลายด้าน ทั้งนามธรรม เช่น คนญี่ปุ่นนับถือลิงเป็นเทพเจ้า และรูปธรรม เช่น คนญี่ปุ่นเมื่อนานมาแล้วกินลิง เรื่องราวที่ผมเลือกมาแบ่งปันในคราวนี้มี 5 แง่มุม

ในบรรดาหลายสิ่งหลายอย่างว่าด้วยลิงที่ปรากฏในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น เรื่องเด่น เรื่องแรก คือ ญี่ปุ่นนับรอบปีนักษัตร 12 ปีเหมือนจีนและไทย โดยเหมือนกันในหลักการแม้มีรายละเอียดแตกต่างกันอยู่บ้าง คือ เรื่องสัตว์สัญลักษณ์ ปีมะแมของไทย สัตว์สัญลักษณ์คือแพะ แต่ของญี่ปุ่นคือแกะ ปีมะโรงของไทย สัตว์สัญลักษณ์คืองูใหญ่ แต่ของญี่ปุ่นคือมังกร และปีกุนของไทย สัตว์สัญลักษณ์คือหมู แต่ของญี่ปุ่นคือหมูป่า สำหรับปีนี้ ปีนักษัตรของญี่ปุ่นคือ “ซะรุโดะชิ” (申年;sarudoshi) แปลว่า “ปีวอก” หรือ “ปีลิง” คำสามัญ “ซะรุ” (猿;saru) แปลว่า “ลิง” เมื่อพูดถึงปีวอก พูดว่า “ซะรุโดะชิ” โดยใช้ตัวอักษร “ซะรุ” (申; saru) คนละตัวกับคำสามัญ และในทำนองเดียวกันกับของไทยอีกเช่นกันคือ มีคำทำนายบุคลิกของผู้ที่เกิดปีวอกด้วย ว่ากันว่าคนปีวอกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง หัวไว ชอบเรียนรู้ ทำอะไรรวดเร็ว เป็นต้น โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อคำทำนายประเภทนี้ แต่รู้สึกว่าน่าสนใจที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นมองอะไรคล้ายๆ กัน
ลิงกังญี่ปุ่น หรือ ลิงหิมะ
เรื่องที่ 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นความภูมิใจของคนญี่ปุ่นด้วย คือ ลิง (กัง) ญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “นิฮงซะรุ” (ニホンザル;nihon zaru) “นิฮง” แปลว่า “ญี่ปุ่น” , “นิฮงซะรุ” จึงแปลว่า “ลิงญี่ปุ่น” ซึ่งพบได้ทั่วไปยกเว้นที่ฮอกไกโดทางเหนือสุดกับโอะกินะวะทางใต้สุด มีไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัว เป็นสัตว์ในอันดับไพรเมต (วานร) ที่ไม่ใช่มนุษย์และดำรงชีวิตอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรไปทางเหนือมากที่สุด บางครั้งเรียกว่า “สโนว์มังกี” หรือ “ลิงหิมะ” และลิงญี่ปุ่นที่สร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้พบเห็นได้เสมอคือฝูงลิงในน้ำแร่ร้อน ลิงพวกนี้หนีหนาวด้วยการลงแช่น้ำแร่ร้อน บ้างนอนในน้ำ บ้างนั่งกอดกันเป็นคู่ แลดูมีความสุขท่ามกลางหิมะจนเป็นที่อิจฉาของคน ใครที่ได้เห็นหน้าแดงๆ ของลิงพวกนี้ อาจจะนึกว่ามันหนาวจนหน้าแดง แต่จริงๆ ไม่ใช่ ต่อให้ไม่หนาว หน้ามันก็แดงอยู่แล้ว และไม่ได้แดงเฉพาะหน้า ก้นก็แดงด้วย นี่คือลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของลิงญี่ปุ่น กล่าวคือ หน้าแดงก้นแดง ตอนเล็กๆ ทั้งหน้าและก้นจะไม่แดง แต่พอโตก็จะแดงขึ้นเรื่อยๆ จนเด่นสะดุดตา และยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ก็จะยิ่งแดง และลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ลิงญี่ปุ่นหางสั้น ตัวผู้หางยาว 8-12 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียหางยาว 7-10 เซนติเมตร ลิงญี่ปุ่นอาจจะมีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าใครอยากดูลิงแช่น้ำแร่ร้อนด้วยท่าทางสุขใจ ไปดูได้ที่จังหวัดนะงะโนะ ดงลิงที่ว่านี้คือ “สวนลิงป่าจิโงะกุดะนิ” (地獄谷野猿公苑 Jigokudani Yaen Kōen) ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มาก บนหน้าโฮมเพจของสวนถึงกับเขียนคำโฆษณาว่า “ลิงแช่น้ำแร่ร้อน (อยู่ที่นี่) แห่งเดียวในโลก”
ลิงแช่น้ำแร่ร้อน
นักท่องเที่ยวพยายามถ่ายภาพที่ “สวนลิงป่าจิโงะกุดะนิ” (ที่มา: โฮมเพจ http://jigokudani-yaenkoen.co.jp/ วันที่ 4 มกราคม 2559)
เรื่องที่ 3 คือ ลักษณะของลิงที่ปรากฏในวัฒนธรรมด้านภาษา สุภาษิตญี่ปุ่นเกี่ยวกับลิงซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดคือ “ซะรุ โมะ คิ คะระ โอะชิรุ” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ลิงก็ตกจากต้นไม้” (猿も木から落ちる;saru mo ki kara ochiru) หรือถ้าแปลให้ตรงกับสำนวนไทยคือ “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” นั่นเอง นอกจากสุภาษิตนี้ ก็ยังมีสำนวนอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับลิงอีกมาก เช่น “ความสัมพันธ์แบบหมากับลิง” (เค็งเอ็ง โนะ นะกะ; 犬猿の仲;ken-en no naka) หมายความว่า มีความสัมพันธ์ไม่ลงรอยกัน, “หัวเราะก้นลิง” (ซะรุ โนะ ชิริ วะระอิ; 猿の尻笑い;saru no shiri warai) กล่าวคือ พวกลิงทั้งหลายไม่ได้สังเกตหรอกว่าก้นตัวเองแดงแจ๋ แต่เห็นก้นของลิงตัวอื่นแดงแล้วก็หัวเราะเยาะ ด้วยที่มาเช่นนี้ สำนวนนี้จึงมีความหมายว่า ไม่ได้สังเกตข้อบกพร่องของตัวเอง แต่กลับหัวเราะเยาะข้อบกพร่องของคนอื่น, “ลิงเลียนแบบคน” (ซะรุ โนะ ฮิโตะ มะเนะ; 猿の人まね;saru no hito mane) หมายถึง การทำสิ่งใดตามคนอื่นไปเรื่อยโดยไม่ไตร่ตรองให้ดี, “ใส่หมวกให้ลิง” (ซะรุ นิ เอะโบะชิ; 猿に烏帽子;saru ni eboshi) หมวกในที่นี้คือหมวกที่เรียกว่า “เอะโบะชิ” ซึ่งเป็นหมวกญี่ปุ่นที่ชายวัยผู้ใหญ่จะสวมเป็นส่วนหนึ่งของชุดพิธีทางการ สำนวนนี้เป็นการเปรียบเปรยว่า ถึงแม้จะเอาเอะโบะชิให้ลิงใส่ ลิงก็ยังเป็นลิงอยู่วันยังค่ำ หมายความว่า แม้ภายนอกจะแต่งตัวดี แต่เนื้อในไม่เหมาะกับรูปลักษณ์ที่ปรากฏ เป็นต้น
หมวก “เอะโบะชิ”
หมวก “เอะโบะชิ”
เรื่องที่ 4 ความเชื่อเกี่ยวกับลิง ลิงกลายเป็นความเชื่อในศาสนาชินโตถึงขั้นมีการนับถือลิงเป็นเทพเจ้า เรื่องราวเก่าแก่ที่สุดคือ “มหาเทพเจ้าซะรุตะฮิโกะ” (猿田彦大神; Saruta-hiko Ōkami) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “มหาเทพ-เจ้าชายทุ่งลิง” ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้เชื่อมโยงสวรรค์กับโลกมนุษย์ โดยมีบันทึกปรากฏในตำนานประวัติการกำเนิดของญี่ปุ่น หรือถ้าว่ากันในแบบใกล้ตัวมากขึ้นก็ยังมีให้เห็นในปัจจุบันที่ศาลเจ้าฮิโยะชิในจังหวัดชิงะ ที่นี่นับถือเทพเจ้าลิงเพราะเดิมที่ภูเขาฮิเอซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับศาลเจ้าแห่งนี้มีลิงแพร่พันธุ์อยู่มาก จนเป็นที่เชื่อกันต่อมาว่าลิงเหล่านี้มีอำนาจในการขับไล่ความชั่วร้าย ทำให้ “มะ งะ ซะรุ”— ความชั่วร้ายจากไป (魔が去る;ma ga saru) ชื่อเทพจึงเป็น “มะซะรุ” (神猿;masaru) “มะ” คือ เทพเจ้า, และ “ซะรุ” คือ ลิง ดังนั้น ลิงจึงเป็นสัตว์มงคล หรืออีกตัวอย่างหนึ่งว่าด้วยลิง ซึ่งมีนัยทางศาสนาและเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คือ “ลิง 3 ตัว” ที่ศาลเจ้านิกโกโทโช ในเมืองนิกโก จังหวัดโทะชิงิ ลิง 3 ตัวนี้คือปริศนาธรรมรูปลิง ตัวหนึ่งปิดสองหู อีกตัวปิดสองตา และอีกตัวปิดปาก สื่อความหมายว่า “(ลิง) ไม่ดู, (ลิง) ไม่ฟัง, (ลิง) ไม่พูด” หรือ มิซะรุ, คิกะซะรุ, อิวะซะรุ (見ざる、聞かざる、言わざる;Mizaru, Kikazaru, Iwazaru) โดยเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า “ซะรุ” ที่แปลว่าลิง หรือถ้าสื่อความแบบไทยก็จะได้ว่า “ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย”
ลิง 3 ตัวที่ศาลเจ้านิกโกโทโช
เรื่องที่ 5 ว่าด้วยลิงในนิทาน เท่าที่ผมเล่าเรื่องลิงในหลากแง่หลายมุมจนถึงตอนนี้ คงจะเห็นได้ว่าลิงมีภาพลักษณ์ผสมในสายตาคนญี่ปุ่น คือ มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ด้านดีที่เห็นได้ชัด เช่น ลิงคือสัตว์มงคลตามความเชื่อของชินโตและเป็นถึงเทพเจ้า ลิงมีความปราดเปรียวเฉลียวฉลาด และบางครั้งก็ดูน่ารักดังเช่นลิงแช่น้ำร้อน ส่วนด้านที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่ดีก็มีมากดังที่ปรากฏเป็นถ้อยคำสำนวนภาษาญี่ปุ่นตามตัวอย่างส่วนหนึ่ง และเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้คือนิทานซึ่งสะท้อนความเจ้าเล่ห์ของลิง เป็นนิทานที่คนญี่ปุ่นทุกคนเคยได้ยินและใช้เป็นสื่อสอนคุณธรรมด้วย ในโอกาสปีใหม่นี้ผมจึงขอนำมาแบ่งปันกับคนไทยด้วยกัน เผื่อว่าเรื่องลิงญี่ปุ่นจะให้คติเตือนใจแก่คนไทยในปีลิงได้ตามสมควร เรื่องนี้มีชื่อว่า “สงครามลิงกับปู” ชื่อภาษาญี่ปุ่นคือ “ซะรุกะนิกัสเซ็ง” (猿蟹合戦;Saru kani gassen)
ลิงพยายามแลกของกับปู
เรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ปูกับลิงเจอกัน วันนั้นบังเอิญปูมีข้าวปั้น ลิงมีเมล็ดลูกพลับ ลิงเห็นข้าวปั้นของปู ก็อยากกิน
“นี่แม่ปูเอ๋ย เรามาแลกของกันเถอะ เอาข้าวปั้นมาให้ข้า แล้วเจ้าก็เอาเม็ดลูกพลับไป” ลิงว่าพลางยื่นเมล็ดลูกพลับให้
แม่ปูปฏิเสธ แต่ลิงก็ไม่ลดละความพยายาม หว่านล้อมปูอีก
“เม็ดลูกพลับนี่ดีนา เอาไปปลูกเข้าสิ รดน้ำเข้าหน่อย ประเดี๋ยวก็โต ออกลูกมาให้กินอีกเยอะแยะ”
ลิงโน้มน้าวจนกระทั่งปูยอมแลกของ จากนั้นปูก็นำเมล็ดมาปลูก เฝ้าดูแลเป็นอย่างดี
“แตกต้นอ่อนออกมาไวๆ นะเจ้าเม็ดลูกพลับเอ๋ย ถ้าช้าละก็ จะเอากรรไกรตัดซะตายเลย”
เมล็ดลูกพลับกลัวจะถูกตัด จึงรีบแตกต้นอ่อน
“เจ้าต้นอ่อนเอ๋ย โตไวๆ นะ ถ้าช้าละก็ จะเอากรรไกรตัดซะให้ตายเลย”
ต้นอ่อนกลัวจะถูกตัด จึงรีบโต
“เจ้าต้นพลับเอ๋ย รีบออกดอกไวๆ นะ ถ้าช้าละก็ จะเอากรรไกรตัดซะให้ตายเลย”
ต้นพลับกลัวจะถูกตัด จึงรีบออกดอก และมีผลพลับออกมามากมาย แต่ปูปีนต้นไม้ไม่ได้ จึงเฝ้ารอด้วยความหวังให้ลูกพลับสุกงอมและหล่นลงมา
วันหนึ่งลิงมาทางนั้นพอดี เห็นลูกพลับเข้า จึงเอ่ยกับปูว่า “นี่เจ้าปู ข้าจะปีนต้นพลับให้”
ลิงปีนขึ้นไป แต่ลิงเด็ดลูกพลับกินเอง ไม่แบ่งลงมาให้ปูกิน พอปูประท้วง ลิงก็ขว้างลูกพลับใส่ปูอย่างแรง ปูซึ่งกำลังท้องแก่อยู่บาดเจ็บสาหัส ออกลูกก่อนถึงเวลาอันควร และตายไปในที่สุด
บรรดาลูกปูพยายามแก้แค้นลิง โดยได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตร อันได้แก่ ลูกเกาลัด ผึ้ง ขี้วัว และครก เหล่าพันธมิตรพากันบุกไปแก้แค้นลิงถึงบ้าน ลูกเกาลัดไปซ่อนตัวอยู่ในกองไฟของลิง ผึ้งซ่อนตัวอยู่ในถังน้ำ ขี้วัวซ่อนตัวอยู่ที่พื้น และครกซ่อนตัวอยู่บนหลังคา และแล้วลิงก็กลับมา
“อูย หนาว ๆ ๆ หนาวจัง” ลิงร้อง พลางก่อไฟ
ทันใดนั้นเอง ลูกเกาลัดก็ดีดตัวออกจากกองไฟเข้าปะทะหน้าลิงอย่างจัง
“โอ๊ย ๆ ๆ” ลิงร้อง พลางวิ่งไปที่ถังน้ำ หวังจะจุ่มหน้าลงไป
ทันใดนั้นเอง ผึ้งก็ต่อยหน้าลิงเต็มแรง
“ปวด ๆ ๆ” ลิงร้องไปด้วย วิ่งไปด้วย หวังจะหนีออกนอกบ้าน
ทันใดนั้นเอง ขี้วัวก็เคลื่อนตัวไปรอที่เท้าลิง ลิงเหยียบลื่นล้ม แล้วครกก็โยนตัวเองลงมาจากหลังคา ทับลิงตาย
ลิงถูกครกทับ
**********

คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th

กำลังโหลดความคิดเห็น