ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
จุดล่อแหลม
ทุกครั้งที่กลับเมืองไทย ถ้า 3 ทุ่มแล้วยังไม่ถึงบ้าน คุณแม่จะโทร.ตาม และผมก็ต้องถามเรื่อยมาตั้งแต่อายุยังไม่สามสิบจนเกือบจะสี่สิบเข้าไปทุกทีว่า “อีกไม่กี่ปีก็จะขึ้นเลขสี่แล้ว ยังโทร.ตามอีกเหรอแม่”
คุณแม่ตอบว่า “ถ้าอยู่ญี่ปุ่นไม่โทร.หรอก แต่อยู่กรุงเทพฯ แม่เป็นห่วง”
“อยู่ไกลถึงโตเกียวไม่เป็นห่วง แต่อยู่เมืองไทยนี่กลับเป็นห่วง”
“ก็ใช่สิ ไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยจะปลอดภัย” คุณแม่ให้เหตุผล
ผมไม่แน่ใจว่าคุณแม่รู้ข้อมูลทางสังคมหรืออะไรทำนองนั้นเกี่ยวกับญี่ปุ่นหรือไม่ แต่เมื่อตอบมาแบบนี้ ผมตีความว่าคุณแม่คิดว่าญี่ปุ่น หรือในกรณีของผมก็คือกรุงโตเกียว ปลอดภัยกว่ากรุงเทพฯ
อันที่จริง สภาพสังคมในญี่ปุ่นเท่าที่ผ่านมาก็ไม่ห่างไกลจากสิ่งที่คุณแม่เชื่อเท่าไร คนญี่ปุ่นเองก็คิดว่าประเทศนี้อยู่ได้อย่างอุ่นใจ ไม่ว่าจะลืมของหรือทำกระเป๋าสตางค์หล่นที่ไหน ประเดี๋ยวก็ได้คืน ระบบการเดินทางก็ปลอดภัยสูง ดูเหมือนคนที่จะก่ออันตรายต่อผู้อื่นมีไม่มาก สภาพชีวิตประจำวันโดยรวมค่อนข้างปลอดจากอาชญากรรม ซึ่งในจุดนี้สถิติก็ชี้ออกมาในแนวนั้นเหมือนกันว่า อัตราอาชญากรรมในญี่ปุ่นลดลงมาเรื่อยๆ ในระยะประมาณ 10 ปีนี้
คุณแม่คงเข้าใจถูกในจุดนั้น แต่ปัจจุบันภัยไม่ได้มีแค่จากภายใน ซึ่งผมก็ไม่ค่อยกล้าอธิบายละเอียด เพราะกลัวว่าคุณแม่จะเป็นห่วงลูกชายขึ้นมาทั้งตอนอยู่ในและนอกเมืองไทยจนต้องโทร.ตามข้ามประเทศทุกวัน เอาเป็นว่าจะพยายามระวังตัวให้ดีขึ้นครับ
ความปลอดภัยในญี่ปุ่นที่ผู้คนเคยชินมานานปีอาจกลายเป็นเรื่องเก่าไปแล้วในวันนี้ เพราะภัยใหม่กำลังส่อเค้าคุกคามญี่ปุ่นอยู่ และผู้คนก็รู้สึกได้ชัดเจนขึ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุโจมตีก่อการร้ายหลายจุดในกรุงปารีส ญี่ปุ่นจะชะล่าใจไม่ได้อีกแล้ว เพราะถูกกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามเอาปูนหมายหัวไว้เหมือนกัน จึงกลายเป็นว่าภัยที่เคยดูเหมือนไกลตัวได้ทำให้คนญี่ปุ่นมากมายเดินไประแวงไปแม้เคยเชื่อมั่นมาตลอดว่านอกจากแผ่นดินไหวที่ทำให้เสียขวัญเป็นระยะแล้วก็ไม่น่าจะมีภัยอันใด ทว่าภัยก่อการร้ายป้องกันได้ยากและมักเกิดขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายไม่ต่างจากแผ่นดินไหว
นอกจากเหตุการณ์ศุกร์สิบสามแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไปในระยะใกล้ๆ ก็จะพบว่าวันที่ 12 พฤศจิกายน เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงเบรุตเมืองหลวงของเลบานอน, วันที่ 31 ตุลาคม เครื่องบินโดยสารของรัสเซียถูกก่อการร้ายจนตก และย้อนไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ในเดือนมกราคม ชายญี่ปุ่น 2 คนถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม หลังจากตัวประกันชาวญี่ปุ่น 2 คนถูกสังหารไป ความตื่นตัวของคนญี่ปุ่นเรื่องภัยก่อการร้ายดูเหมือนซาลงไปมาก จนกระทั่งเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นที่ปารีสเมื่อคืนวันที่ 13 พฤศจิกายนขึ้นมา ผู้คนในญี่ปุ่นถึงได้ผวาอีกครั้งและหันมาถามกันว่า “มีความเป็นไปได้ไหมที่ญี่ปุ่นจะประสบเหตุก่อการร้ายในกรุงโตเกียว?”
กระแสคำตอบที่ปรากฏคือ “เป็นไปได้” เหตุผลง่ายๆ คือ เพราะ 1) กลุ่มรัฐอิสลามประกาศชัดว่าญี่ปุ่นเป็นศัตรู, 2) ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจ หากก่อการร้ายที่ญี่ปุ่น ย่อมเป็นที่จับตาไปทั่วโลกตรงตามเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย, 3) ญี่ปุ่นจัดงานใหญ่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะในอีกไม่กี่ปีก็จะมีโตเกียวโอลิมปิก 2020 เป็นต้น
สถานที่ล่อแหลมที่ใครๆ พากันคาดเดาว่าอาจตกเป็นเหยื่อ เช่น รถไฟชิงกันเซ็ง ระบบรถไฟใต้ดิน เครื่องบิน หรือแม้แต่โตเกียวดิสนีย์แลนด์ซึ่งมีภาพลักษณ์ของอเมริกาติดอยู่ แต่บางคนก็มองว่าเหตุก่อการร้ายในกรุงโตเกียวเป็นไปได้ แต่ความเป็นไปได้นั้นต่ำ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ การเข้าหรือการหลบหนีต้องทำผ่านทางเครื่องบิน และในญี่ปุ่นมีคนเชื้อสายอาหรับน้อย
ไม่ว่าความเป็นไปได้จะต่ำหรือสูง แต่ในเมื่อไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้นั้น จากนี้ต่อไปทั้งผู้ที่อยู่ในประเทศและเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องระวังตัวให้มากขึ้น...รวมทั้งผมด้วย
จากสายตาของผมที่ประเมินสภาพทั่วไปในชีวิตประจำวันพบว่า ถ้าเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นในกรุงโตเกียวละก็ ผู้เคราะห์ร้ายคงมีมากกว่าที่ปารีสแน่ เพราะความหนาแน่นของคนในโตเกียวนี่สุดจะบรรยาย โดยเฉพาะรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น หรือตามสถานีใหญ่ๆ พื้นที่บางจุดก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูงชิงกันเซ็งสายโทไกโดมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 42,000 คน ด้วยจำนวนคนขนาดนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตรวจสอบ หรือสถานีรถไฟใจกลางเมืองอย่างชินจุกุซึ่งมีผู้โดยสารรถไฟเจอาร์เฉลี่ยวันละประมาณ 750,000 คนและเดินกันขวักไขว่ตลอดเวลาคงตรวจสอบกันไม่ไหว ในเมืองใหญ่ที่มีคนพลุกพล่านอย่างกรุงโตเกียวนี่ถือว่าป้องกันยาก อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ คงต้องทำใจ หวังพึ่งงานข่าวกรองและการตรวจคนเข้าเมืองต่อไป
ตอนนี้ คนญี่ปุ่นรู้ตัวแล้วว่ากลายเป็นศัตรูกับกลุ่มรัฐอิสลามหลังจากถูกระบุชื่ออย่างชัดเจนเมื่อครั้งที่สมาชิกของกลุ่มดังกล่าวจับคนญี่ปุ่น 2 คนเป็นตัวประกันและประกาศผ่านคลิปวิดีทัศน์เป็นภาษาอังกฤษ ความว่า เพราะผู้นำญี่ปุ่นตัดสินใจร่วมขบวนการปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม ต่อไปไม่ว่าคนญี่ปุ่นถูกพบที่ไหนก็จะตกเป็นเหยื่อ “So let the nightmare for Japan begin—และฝันร้ายสำหรับญี่ปุ่นจะเริ่มต้น” สิ่งที่ถูกชี้ว่าเป็นสาเหตุทำให้คนญี่ปุ่นติดร่างแหการตกเป็นเป้าหมายคือ คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะเมื่อวันที่ 17 มกราคม ระหว่างการเยือนอียิปต์ที่ว่า
“การมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยตลอดจนผู้อพยพจากอิรักและซีเรียนั้นจะดำเนินไปเพื่อสนับสนุนตุรกีและเลบานอนในการยับยั้งภัยคุกคามที่กลุ่มรัฐอิสลามก่อ และผมขอให้คำมั่นว่าจะมอบการสนับสนุนมูลค่ารวมประมาณ 200 ล้านเยนแก่เหล่าประเทศใกล้เคียงที่ต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง”
ต่อมานิตยสาร Dabiq (ดาบิก) ของกลุ่มรัฐอิสลามฉบับที่ 11 เดือนสิงหาคมปีนี้ ระบุชื่อญี่ปุ่นซ้ำอีกว่าเป็น 1 ในประเทศที่ร่วม “The Crusader Coalition—พันธมิตรผู้ทำสงครามศาสนา” ในอิรักและซีเรีย และล่าสุดเกิดการชี้ประเด็นขึ้นมาในญี่ปุ่นเองอีกด้วยว่า ชุดกฎหมายความมั่นคงของญี่ปุ่นจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน บางคนโยงความเสี่ยงของการเผชิญเหตุก่อการร้ายเข้ากับกฎหมายนี้ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กันยายนออกมาอย่างทุลักทุเล กฎหมายกับการก่อการร้ายเกี่ยวพันกันจริงหรือไม่นั้นยังเถียงกันไม่เลิกแม้ในขณะนี้ แต่สิ่งที่สรุปได้ในเบื้องต้นคือ ความปลอดภัยในกรุงโตเกียวเริ่มสั่นคลอน
ชักศึกเข้าบ้าน?
กฎหมายความมั่นคงของญี่ปุ่นมีอะไรนักหนา ถึงได้กลายเป็นที่จับตามองของโลก และถูกต่อต้านจากผู้คน ล่าสุดยังถูกมองว่าเป็นสาเหตุกระตุ้นเจตนาก่อการร้ายในญี่ปุ่นอีกด้วย
การพิจารณาเรื่องกฎหมายความมั่นคงที่กลายเป็นประเด็นร้อน คงต้องมองย้อนไปถึงรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นฉบับปัจจุบันที่เริ่มใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวเท่านั้น (ไม่เหมือนไทยซึ่งมีเกิน 10 ฉบับ) ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นฉบับสันติภาพ เพราะมีมาตรา 9 ที่ระบุว่าญี่ปุ่นจะละซึ่งสิทธิการทำสงครามตลอดกาล แต่ก็มาตรา 9 อีกเช่นกันที่เป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้อความในมาตรา 9 แปลจากภาษาญี่ปุ่นได้ดังนี้
มาตรา 9 ด้วยความมุ่งหมายอย่างจริงใจในสันติภาพระหว่างประเทศโดยยึดความเที่ยงธรรมและความสงบเรียบร้อยเป็นพื้นฐาน ประชาชนญี่ปุ่นละซึ่งสงครามตลอดกาลในฐานะสิทธิสูงสุดแห่งชาติ และละซึ่งการคุกคามด้วยกำลังหรือการใช้กำลังแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในวรรคก่อน จะไม่ดำรงไว้ซึ่งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตลอดจนกำลังรบอื่นใด จะไม่ยอมรับสิทธิการมีส่วนร่วมในการสู้รบของประเทศ
ถ้าทำความเข้าใจจากมาตรา 9 จะพบว่าประเทศนี้คือผู้ใฝ่สันติโดยแท้ ตามรัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นต้องไม่มีกองทัพ ดังนั้นคำว่า military—กองทัพ หรือ ทหาร จึงไม่มีที่ใช้กับญี่ปุ่นปัจจุบัน มีแต่คำว่า Self-defense Force ซึ่งแปลว่า “กองกำลังป้องกันตนเอง” และเมื่อเอ่ยถึงผู้ที่เป็นสมาชิกของกองกำลังนี้จะเรียกว่า “เจ้าหน้าที่” เพราะญี่ปุ่นไม่มีทหาร หรือแม้แต่กระทรวงที่เกี่ยวกับด้านนี้ คำแปลที่ถูกต้องก็คือ “กระทรวงการป้องกันประเทศ” ไม่ใช่กระทรวงกลาโหม นี่คือสิ่งที่อยู่ในข่ายความรู้สามัญของผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมืองระหว่างประเทศ สรุปว่าญี่ปุ่นต้องรักสันติ และกองกำลังป้องกันตนเองจะบุกใครไม่ได้ ต้องตั้งรับ หรือพูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ ต้องรอให้ถูกยิงเสียก่อน ถึงจะยิงกลับได้
ญี่ปุ่นมีกฎหมายหลายฉบับสำหรับการป้องกันตนเองอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อเกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในโลก เช่น จีนดำเนินกิจกรรมทางทะเลมากขึ้นในลักษณะที่ตีความได้ว่าเป็นการขยายแสนยานุภาพทางทหาร เกิดข้อพิพาทด้านอาณาเขต และเกิดการก่อการร้ายตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ญี่ปุ่นจึงเห็นว่าควรปรับกฎหมายด้านนี้
ก่อนที่รัฐสภาญี่ปุ่นจะผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายความมั่นคงออกมา เกิดกระแสต่อต้านหลายระลอกและมีการออกมาชุมนุมต่อต้านเป็นระยะๆ เพราะคนจำนวนไม่น้อยมองว่ากฎหมายนี้เปิดทางให้ญี่ปุ่นทำสงคราม บางคนมองว่าขัดรัฐธรรมนูญ และบางคนเรียกด้วยคำว่า “กฎหมายสงคราม”
กฎหมายนี้ภาษาญี่ปุ่นเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เฮวะอันเซ็นโฮเซ” (平和安全法制; Hēwa-anzenhōsē)แปลเป็นไทยว่า “ชุดกฎหมายสันติภาพและความมั่นคง” (คำว่า “เฮวะ” แปลว่า สันติภาพ, “อันเซ็น” แปลว่า ความมั่นคงหรือความปลอดภัย, และ “โฮเซ” แปลว่า ชุด/ระบบ กฎหมาย) ดังที่ชื่อบอกอยู่แล้ว นี่คือ “ชุด” จึงประกอบด้วยกฎหมายหลายฉบับ โครงสร้างใหญ่ของชุดประกอบด้วยกฎหมายหลัก 2 ฉบับคือ
1) กฎหมายเตรียมการเพื่อชุดกฎหมายสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งมีกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องอีก 10 ฉบับ เช่น ว่าด้วยกองกำลังระหว่างประเทศ การลำเลียงขนส่งทางทะเล การรับมือสถานการณ์ เป็นต้น เหล่านี้เป็นกฎหมายที่มีอยู่ก่อนแล้วและมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมบางส่วนในครั้งนี้
2) กฎหมายส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศ นี่คือกฎหมายฉบับใหม่ 1 ฉบับที่เพิ่มขึ้น
รวมกันได้ 11 ฉบับ เป็นชุดกฎหมายใหญ่ สื่อมวลชนเรียกง่ายๆ ว่ากฎหมายความมั่นคง รายละเอียดของกฎหมายนั้นมีมาก สำหรับท่านที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นที่จัดทำไว้
ภาษาอังกฤษ : http://www.mofa.go.jp/files/000080671.pdf
ภาษาญี่ปุ่น : http://www.cas.go.jp/jp/gaiyou/jimu/housei_seibi.html
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่เป็นความเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างได้ดังนี้คือ
ตามเนื้อหานี้ กฎหมายบัญญัติว่าญี่ปุ่นจะใช้กำลังได้ก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขครบ 3 ประการ คือ 1) เกิดการโจมตีญี่ปุ่นด้วยอาวุธ หรือเกิดการโจมตีประเทศอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น โดยส่งผลเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดและปรากฏเป็นอันตรายชัดแจ้งในอันที่จะละเมิดสิทธิต่อชีวิต เสรีภาพ และการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขของประชาชนญี่ปุ่น (การใช้กำลังต้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิป้องกันประเทศร่วมกับพันธมิตรของญี่ปุ่น), 2) เมื่อไม่มีวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมในการขจัดการโจมตี รับประกันความอยู่รอดของญี่ปุ่น และพิทักษ์ประชาชนญี่ปุ่น, 3) การใช้กำลังควรจะน้อยที่สุดโดยจำกัดอยู่ในขอบข่ายที่จำเป็น
คำถามที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือ “แล้วญี่ปุ่นทำสงครามได้ไหม?” เช่น ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับประเทศอื่น และมาขอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย
ต้องยอมรับตรงๆ ว่าผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นประชาชนที่ติดตามข่าวและทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะตีความอย่างละเอียดหรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีหลักการ และสิ่งที่บอกได้แน่ๆ คือ มีประชาชนญี่ปุ่นอีกมากที่ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่ากฎหมายนี้คืออะไรและตีความกันไปต่างๆ นานา สำหรับคำถามข้างต้น ถ้าคิดง่ายๆ ตามตัวอักษร คำตอบคือ “ไม่ได้” หรือสมมุติว่าอเมริกาส่อเค้าว่าจะแพ้ ญี่ปุ่นก็ยังใช้กำลังไม่ได้ตราบใดที่ความเป็นไปของอเมริกาไม่ส่งผลใหญ่หลวงต่อสวัสดิภาพของญี่ปุ่นและไม่เป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่นโดยตรง
แต่อย่างในกรณีที่ชาวญี่ปุ่นถูกจับเป็นตัวประกันในต่างประเทศ ด้วยกฎหมายใหม่ แทนที่กองกำลังป้องกันตนเองจะคุมเชิงอย่างเดียว (เพื่อรอขนส่ง) ทั้งๆ ที่เห็นตัวประกันตัวเป็นๆ อยู่ตรงหน้า ต่อไปก็จะทำได้มากกว่านั้นเพื่อช่วยชีวิตออกมา
มาถึงตรงนี้ เรื่องที่ว่ากฎหมายชุดนี้เป็น “สันติภาพ” หรือ “สงคราม” คงต้องยกให้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ถ้าพูดถึงประเด็นที่ว่ากฎหมายนี้จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายมากขึ้นหรือไม่? โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าอาจจะมีความเชื่อมโยงกันบ้าง แต่ก็ห่างไกลมาก ถ้าจะเกิดการก่อการร้าย คงไม่ใช่เพราะกฎหมายชุดนี้ แต่คงเพราะญี่ปุ่นเป็นพวกเดียวกันกับอเมริกามากกว่า
และถ้าผมอธิบายทั้งหมดนี้ให้คุณแม่ฟัง กลับเมื่อไทยคราวหน้า เชื่อแน่ว่าคุณแม่จะกำชับให้นั่งการบินไทยแทนสายการบินของญี่ปุ่นเป็นแน่
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th