xs
xsm
sm
md
lg

ครม.แจงบทบาท พ.ร.บ.ชุมนุมฯ “บิ๊กตู่” ชี้ ครม.ใหม่ไม่มีฮันนีมูน ปรับช่วยเหยื่อบึ้มเท่าเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
โฆษก รบ. เผย สตช. เสนอ ครม. พิจารณา พ.ร.บ. ชุมนุมฯ เพื่อให้ทราบบทบาทหน้าที่ แจง กรอบแนวคิดชุมนุมสงบไร้อาวุธ ขั้นแรก จนท. ต้องเตรียมข้อมูลข่าว ตั้งศูนย์ค้นอาวุธ แจงสิทธิชุมนุม สลายเบาไปหนัก ชี้ ประกาศใช้ กม. มั่นคง จนท. ก็เป็น พนง. ตาม กม. ด้วย ขั้นสุดท้ายฟื้นฟู แย้ม อาจมี คกก. ช่วยกลั่นกรองการใช้ดุลพินิจ แจง นายกฯ สั่ง “วิษณุ” ปรับเยียวยาเหยื่อบึ้มให้เท่าเทียม ระบุ ครม. ใหม่ ไม่มีช่วงฮันนีมูน ลุยสางงานเก่า

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้นำเสนอ ครม. พิจารณาเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยตามที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 และมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากประกาศ คือ วันที่ 13 ส.ค. 2558 ดังนั้น เมื่อมีการประกาศกฎหมายฉบับนี้แล้วจำเป็นต้องมีแผน (Action Plane) มีการกำหนดรายละเอียดของผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนของหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนที่ทาง สตช. เสนอนั้น เพื่อต้องการให้ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม ผู้ที่จัดการชุมนุม ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจากกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้ง สตช. ได้ทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่ากฎหมายฉบับนี้ใครมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง โดยกำหนดเป็นเรื่อง ๆ เรื่องหลักการโดยทั่วไป มีกรอบแนวคิดว่าประชาชนโดยทั่วไปสามารถมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธและชุมนุมโดยสงบได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ 1. ประสิทธิภาพและความเหมาะสม 2. หลักแห่งความจำเป็น 3. หลักของการได้สัดส่วน 4. หลักของการห้ามเลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการชุมนุมตั้งแต่ขั้นแรก คือ เจ้าหน้าที่ต้องมีการเตรียมข้อมูลด้านการข่าว จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุม มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้หน่วยเหนือได้รับทราบ ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการชุมนุมควบคู่กับการทำงานด้านมวลชนสัมพันธ์ ขั้นที่สอง เมื่อการชุมนุมเริ่มต้นขึ้นจะต้องมีการตั้งศูนย์ตรวจค้นอาวุธและมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ที่สำคัญคือ ต้องชี้แจงสิทธิต่าง ๆ ให้ผู้ชุมนุมรับทราบตลอดเวลา รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุม เพื่อลดความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม

ขั้นที่สาม คือ การใช้กำลังคลี่คลายการชุมนุม ในกรณีที่การชุมนุมมีแนวโน้มรุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้อง เจ้าพนักงานที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ชุมนุมหยุดการการะทำได้และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนสากล จากเบาไปหาหนัก เริ่มตั้งแต่การชี้แจงความเข้าใจ การแสดงกำลัง จนถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆในการควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในกรอบกติกา

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนการปฏิบัติที่อยู่ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้การชุมนุมเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ขั้นต่อไปคือ เมื่อมีการนำเรื่องเหล่านี้ไปร้องต่อศาลแล้วศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม ในเวลานั้นเจ้าหน้าที่จะต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่การชุมนุม ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุม แล้วสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ได้ตามหลักการใช้กำลัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงเฉพาะกรณีขึ้นมา ให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจเหล่านั้น สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายความมั่นคงเหล่านั้นได้ด้วย และขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนของการฟื้นฟู เมื่อสามารถจัดระเบียบของการชุมนุมได้แล้วจะต้องมีการจัดส่งผู้บาดเจ็บ มีการฟื้นฟูสถานที่ มีการจับกุมผู้กระทำผิด มีการบังคับใช้กฎหมายและสรุปผลการประชุม ขั้นตอนการปฏิบัติดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะต้องรับทราบและต้องมีการฝึกเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความชำนาญในหน้าที่อย่างแท้จริง

“เรื่องนี้ นายกฯ บอกว่า มีบางประการที่น่าสนใจ ขอให้ลองไปดูในรายละเอียดของขั้นตอนของแผนที่ชัดเจนกว่านี้อีกนิดหนึ่ง เช่น การใช้ดุลพินิจเมื่อมีการแจ้งขออนุญาตชุมนุมเข้ามา เรื่องบางเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ดุลยพินิจเพื่อไม่ให้เกิดข้อสงสัยว่าใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคณะกรรมการอะไรสักอย่างเข้ามาช่วยกลั่นกรอง ซึ่ง สตช. ก็จะรับเรื่องนี้ไป” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในจากเหตุการณ์ระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นบทเรียน และประสบการณ์ที่สำคัญ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยายามที่จะบริหารจัดการสถานการณ์ต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่ปกติอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เกิดความปลอดภัย ทำงานได้สะดวก กันพื้นที่ และความปลอดภัยในการบริหารจัดการข่าว แต่ปรากฏว่าเรายังประสบปัญหาอยู่พอสมควร เช่น การปฏิบัติของสื่อมวลชน ประชาชน จะทำอย่างไรให้ทั้งสองกลุ่มนี้ เข้าใจ ปลุกจิตสำนึกเพื่อสามารถใช้ชีวิต และปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน อาทิ การเข้าไปทำข่าว ทำอย่างไรจะได้ภาพที่เหมาะสม ไม่ลิดรอนสิทธิผู้อื่น หรือขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งประชาชนเอง ก็ต้องตระหนักรู้ว่า มันจะมีสถานการณ์ข่าวลือเกิดขึ้น ทำอย่างไรถึงไม่เข้าไปมีส่วนทำให้ข่าวลือทั้งหลายมันแพร่สะพัด แล้วเกิดความสับสนในกับสังคม ทำอย่างไรถึงจะมีส่วนช่วยระงับยับยั้งข่าวลือเหล่านั้น

ทั้งนี้ ในด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ประสบเหตุทั้งบาดเจ็บ และเสียชีวิต ทั้งชาวไทย ต่างประเทศ เป็นที่ทราบกัน ในปัจจุบันชาวต่างชาติที่เสียชีวิตจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างจะสูงกว่า มีส่วนต่างจากผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวไทยมากพอสมควร นายกฯเลยว่าเรื่องนี้มีความจำเป็น และสำคัญ ประชาชนอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวที่มา ต่างต้องการความสุข แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว เราจำเป็นต้องดูแลทั้งสองกลุ่มให้ได้รับการช่วยเหลือ ได้รับความสนใจจากรัฐบาลให้ใกล้เคียงกัน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า โดยแหล่งเงินที่จะช่วยเหลือเยียวยา ที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กระทรวงยุติธรรม จากกฎหมาย และกองทุน 2. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 3. สำนักนายกรัฐมนตรี และ 4. กระทรวงมหาดไทย ว่า จากเดิมชาวต่างประเทศจะได้ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง นายกฯจึงได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปศึกษารายละเอียด ว่าทำอย่างไรประชาชนทั้งใน และต่างประเทศ จะได้รับการดูแลในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน ไม่ได้หมายถึงตัวเงินอย่างเดียว แต่รวมไปกระทั่งการดูแลอย่างต่อเนื่อง เช่น เจ็บป่วย ทุพพลภาพ อาจต้องไปรักษาตัวยังต่างประเทศที่เป็นบ้านเกิด สำหรับการเดินทางเคลื่อนย้าย จะมีอะไรพอช่วยเหลือได้บ้าง ถือเป็นการแบ่งเบาภาระ แม้แต่ผู้ที่รักษาตัวในไทย จะมีการช่วยเหลือด้านที่พัก ค่าเดินทางสำหรับญาติชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยมได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เห็นชอบให้คำนึงถึง ใน 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. จำนวนเงินจะต้องมีมากพอ ไม่ให้รู้สึกว่าน้อยเกินไปต่อสิ่งที่สูญเสีย 2. จากจำนวนเงินที่มากขึ้น ต้องมาดูว่ามีกฎหมายใดรองรับ และไม่ขัด ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเยียวยา และ 3. ผู้บาดเจ็บ พิการ ทุพพลภาพ จะต้องช่วยเหลืออย่างไรให้ทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจว่ารัฐบาลดูแลอย่างเต็มขีดความสามารถในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย และเทศ เข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวดีขึ้น

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวต้อนรับ ครม. ชุดใหม่ และขอบคุณ ครม. ชุดเดิมที่ร่วมทำงานด้วยความเสียสละ วางเรื่องราวต่าง ๆ เอาไว้เป็นที่เรียบร้อยพอสมควร มีเพียงบางเรื่องที่ยังไม่เสร็จต้องดำเนินการต่อไป คาดหวัง ครม. ชุดใหม่ ตั้งใจร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ เพราะช่วงเวลาฮันนีมูลคงไม่มีแล้ว ต้องลงรายละเอียดกันเลย โครงการยาว ๆ เล่าแต่ต้นจนจบแล้ว ต้องทำความเข้าใจและทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจด้วย และต้องให้ความสำคัญกับรัฐบาลที่จะมีเวลาทำงานจากปลายปีนี้ คาบไปปีหน้าและอาจเลยไปปี 60 เล็กน้อย ตั้งแต่วันนี้โครงการที่ทำต้องรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สังคมรับรู้ เพราะที่ผ่านมาคลุมเครือ ยึดประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง ไม่มีอะไรที่เป็นลับลมคมใน หรือแอบแฝงด้วยผลประโยชน์เป็นอันขาด ต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ทันเวลา โดยเป้าหมายแรกสุด ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนก.ย.59 มีอะไรต้องเสร็จแล้วบ้าง แต่ละเดือน และ 3 เดือนจะทำอะไร ก้าวหน้าแค่ไหน

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ บางปัญหาซึ่งไม่ได้เกิดกับประเทศไทยเป็นประเทศแรก เกิดกับประเทศอื่น ๆ มาแล้ว ถ้ามีวิธีการที่ดี ที่เหมาะสม นายกฯให้นำมาประยุกต์ปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องคิดเองใหม่ทั้งหมดให้เสียเวลา แต่ต้องใช่หลอกแบบมาอย่างเดียว ต้องแก้ให้เหมาะสมสถานการณ์บ้านเรา และนายกฯห่วงการบูรณาการการทำงาน ที่รัฐบาลนี้พยายามเน้น แต่สิ่งที่ห่วงคือเรื่องราวเหล่านี้จะจบเมื่อรัฐบาลนี้หมดภารกิจไป ทำอย่างไรถึงให้รัฐบาลวันข้างหน้าให้ความสำคัญกับการบูรณาการ ต้องมีการกำหนดเป็นกฎหมายไว้หรือไม่ เพราะต่อไปเมื่อมีการแบ่งกระทรวงในลักษณะพรรคการเมือง เมื่อแบ่งก็จะบูรณาการการทำงานได้ยากบูรณา อยากให้ไปดูตรงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น