เอเอฟพี – โพลล่าสุดเผยคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีความเห็นว่า โตเกียวควรหยุดออกมาขอโทษสำหรับความผิดในช่วงสงคราม แต่พวกเขามีความเห็นต่างกันมากกว่าในเรื่องคำปราศรัยครบรอบการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สร้างความไม่พอใจให้กับจีนและเกาหลีใต้
ในวันก่อนวันครบรอบ 70 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีสายชาตินิยมของญี่ปุ่นได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งสำหรับสงครามดังกล่าวและระบุว่าเขาจะยึดถือคำขออภัยก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมเมื่อวันศุกร์ (14) ว่า คนรุ่นต่อๆ ไปไม่ควรถูก “กำหนดชะตาล่วงหน้า” ให้ต้องกล่าวแสดงความเสียใจสำหรับความผิดช่วงสงครามของโตเกียว
โพลดังกล่าวที่ถูกตีพิมพ์ในวันนี้ (19) โดยหนังสือพิม์โยมิอุริชิมบุน พบว่า 63 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกสำรวจเห็นพ้องว่า ในอนาคตญี่ปุ่นควรเลิกการกล่าวแสดงความเสียใจ ขณะที่ 27 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า ญี่ปุ่นควรทำต่อไป
อย่างไรก็ตาม มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ถูกสำรวจสนับสนุนการที่อาเบะประกาศกร้าวว่าจะยึดถือคำขออภัยของรัฐบาลก่อนหน้านี้
สองเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นโจมตีถ้อยแถลงที่ได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดนี้ของอาเบะ ซึ่งเป็นหลานชายของรัฐมนตรีคนหนึ่งในช่วงสงคราม โดยระบุว่า เขาชดใช้เรื่องการรุกรานในอดีตของโตเกียวได้ไม่ดีเท่าที่ควร
โพลสุดสัปดาห์สำรวจครอบครัวชาวญี่ปุ่น 1,761 ครัวเรือนชิ้นนี้พบว่า ผู้ถูกสำรวจมีความเห็นแบ่งแยกเป็น 2 กลุ่มในเรื่องคำปราศรัยดังกล่าว โดย 48 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับคำปราศรัยของอาเบะ เทียบกับ 34 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เห็นด้วย
แม้ว่าคำปราศรัยดังกล่าวจะเป็นที่ถกเถียงกัน แต่เหล่าพันธมิตรรวมถึงสหรัฐฯและอังกฤษต่างชื่นชมความคิดเห็นของอาเบะ และคะแนนนิยมที่ดิ่งหัวลงของเขาดูเหมือนว่าจะได้รับแรงหนุน โดยขยับขึ้น 2 จุดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคมปี 2012 อาเบะถูกตำหนิในเรื่องที่เขาเอาแต่ลอกตามการสำนึกผิดเรื่องการรุกรานทั่วเอเชียของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 ของนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ อย่างอ้อมๆ
เมื่อวันเสาร์ (15) สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ตรัสว่า พระองค์ทรงรู้สึก “เสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง” ต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ความขัดแย้งซึ่งโตเกียวร่วมต่อสู้ในนามของสมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโตะ พระราชบิดาของพระองค์
ประวัติศาสตร์ช่วงสงครามของแดนอาทิตย์อุทัยกลายเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งนับตั้งแต่ที่อาเบะเข้ารับตำแหน่ง และกระแสการคาดคะเนส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่ว่าเขาจะดำเนินรอยตามถ้อยแถลงอันเป็นหมุดหมายเมื่อปี 1995 ที่ออกโดยนายกรัฐมนตรี โทมิอิชิ มูรายามะ หรือไม่
ถ้อยแถลงของมุรายามะ ซึ่งกลายเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการขออภัยครั้งต่อๆ มา ได้แสดง “ความเสียใจอย่างสุดซึ้ง” และ “การขออภัยจากใจจริง” สำหรับ “ความเสียหายมหาศาล” ที่ถูกก่อขึ้น
อาเบะ ซึ่งเป็นผู้นำสายเหยี่ยวยังเผชิญกับแรงต่อต้านที่มากขึ้นเรื่อยๆ ต่อกฎหมายความมั่นคงที่จะเปิดทางให้กองทหารญี่ปุ่นสามารถทำการสู้รบเพื่อปกป้องพันธมิตรที่ถูกโจมตีได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2