xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “อาเบะ” ดันกม.เพิ่มบทบาทกองทัพ ปลดแอกญี่ปุ่นจากโซ่ตรวน “รธน.สันติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น
กระแสการเมืองในญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านชุดกฎหมายความมั่นคงใหม่ซึ่งจะเปิดทางให้แดนอาทิตย์อุทัยสามารถส่งกองกำลังออกไปช่วยเหลือพันธมิตรในสงครามต่างแดนได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยที่ชี้ว่า ชุดกฎหมายเหล่านี้ละเมิดรัฐธรรมนูญใฝ่สันติที่ญี่ปุ่นใช้มานานถึง 70 ปี

การโหวตร่างกฎหมายเมื่อวันที่ 16 ก.ค. มีเพียงพรรคร่วมรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เท่านั้นที่ออกเสียง เนื่องจาก ส.ส. ฝ่ายค้านพากันประท้วง “วอล์คเอาท์” ออกจากที่ประชุม

ชุดกฎหมายความมั่นคงกำลังจะถูกส่งต่อไปให้วุฒิสภาลงมติ ซึ่งแม้พรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของ อาเบะ และพรรคร่วมรัฐบาลโกเมอิโตะจะกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่กฎหมายจะถูกตีตก หรือไม่ก็ถูกแก้เนื้อหาบางอย่าง ทว่าต่อให้เป็นเช่นนั้น เมื่อร่างกฎหมายถูกส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายรัฐบาลที่กุมเสียงถึง 2 ใน 3 ก็ยังสามารถโหวตคว่ำเนื้อหาที่ถูกแก้ได้อยู่ดี

ชุดกฎหมายความมั่นคงที่ว่านี้มีอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรกจะอนุญาตให้โตเกียวส่งกองกำลังออกไปสนับสนุนกองทัพของชาติพันธมิตรที่เผชิญสงคราม หรือที่เรียกว่า “แผนป้องกันร่วม” (collective defense) แม้ความขัดแย้งเหล่านั้นจะไม่ใช่ภัยคุกคามต่อประเทศและพลเมืองญี่ปุ่นโดยตรงก็ตาม และโตเกียวยังสามารถให้การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ต่อภารกิจรักษาสันติภาพตามที่ระบุในกฎบัตรสหประชาชาติ ส่วนฉบับที่สองจะเป็นการทบทวนกฎหมายความมั่นคง 10 ฉบับเดิมซึ่งห้ามมิให้กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเข้าไปพัวพันกับสงครามนอกประเทศ

กฎหมายใหม่ยังอนุญาตให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งกองกำลังออกไปช่วยชีวิตพลเมืองที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งในต่างแดน รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปช่วยค้นหาเรือต่างชาติที่อยู่นอกเขตแดนของญี่ปุ่นได้ในบางกรณี นอกจากนี้ กองกำลังญี่ปุ่นจะสามารถใช้อาวุธด้วยจุดประสงค์ที่มากกว่าการป้องกันตัว เช่น เพื่อปกป้องผู้อื่น หรือเพื่อให้บรรลุซึ่งภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

พรรคแอลดีพีของ อาเบะ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลโกเมอิโตะเห็นพ้องกันว่า ญี่ปุ่นจะส่งกองกำลังป้องกันตนเองไปร่วมทำสงครามต่างแดนได้ก็ต่อเมื่อความขัดแย้งนั้นอาจเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของแดนอาทิตย์อุทัยหรือเสรีภาพของประชาชน และไม่มีหนทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้อีกแล้ว ทั้งยังจะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อนด้วย แต่ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ การใช้กำลังทหารจะต้องเป็นไปอย่างจำกัดที่สุด

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นมีมติผ่านชุดกฎหมายความมั่นคง สำนักข่าวซินหวาของจีนก็ได้รายงานคำพูดของ พล.อ. ชาง หวันกวน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีน ที่กล่าวกับ โชทาโร ยาจิ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น ระหว่างที่ทั้งคู่พบกันในกรุงปักกิ่งว่า รัฐบาลอาเบะกำลังทำในสิ่งที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” และจะทำให้สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคทวีความซับซ้อนขึ้น

ชาง เรียกร้องให้ญี่ปุ่น “มองประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน ใส่ใจในความวิตกกังวลของประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ทำในสิ่งที่จะบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค”

แม้การลงมติในสภาผู้แทนฯ ถือเป็นชัยชนะของอาเบะ แต่ขณะเดียวกันก็ปรากฏสัญญาณชัดเจนขึ้นว่า ผู้นำญี่ปุ่นต้องจ่ายต้นทุนทางการเมืองในราคาแพง เนื่องจากผลสำรวจล่าสุดระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย 2 ฉบับนี้ และคะแนนนิยมในตัวอาเบะก็ดิ่งลงรุนแรง

ผลสำรวจที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวเกียวโดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(18) พบว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลอาเบะดิ่งลงเกือบ 10 จุดลงมาอยู่ที่ 37.7% และยังเป็นครั้งแรกที่กระแสต่อต้านรัฐบาลอาเบะพุ่งสูงเกิน 50% นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศในเดือนธันวาคม ปี 2012

อาเบะ ยอมรับว่า สถิติที่ออกมาเป็นเรื่องน่าวิตกสำหรับรัฐบาล แต่ตนเชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายที่รัฐบาลผลักดัน

จากกระแสถกเถียงเรื่องกฎหมายความมั่นคงของอาเบะ คำถามสำคัญที่น่าคิดก็คือ รัฐธรรมนูญสันติภาพที่ญี่ปุ่นใช้มานานถึง 7 ทศวรรษนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนสันติภาพและการเคารพในค่านิยมสากล หรือเป็นเพียงเครื่องเตือนใจให้ญี่ปุ่นรำลึกถึงความอับอายในการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 กันแน่?

นักการเมืองและนักวิชาการสายอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสันติภาพมานานแล้ว เพียงแต่ไม่สบโอกาสทางการเมืองที่จะทำได้ พวกเขามองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเอกสารที่ “มุ่งร้ายและหวังแก้แค้น” ให้ญี่ปุ่นต้องเป็นผู้แพ้ไปตลอดกาล

สหรัฐฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1946 โดยยึดหลักการที่กำหนดขึ้นโดย พล.อ.ดักลาส แมคอาเธอร์ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศเชิดชูระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียสิทธิ์ที่จะทำสงครามหรือมีกองทัพเต็มรูปแบบเป็นของตนเอง

อาเบะ ซึ่งเป็นนักการเมืองสายชาตินิยมจัดอ้างว่าต้องการปรับจุดยืนทางทหารของญี่ปุ่นให้กลับสู่ระดับปกติ หลังจากที่ถูกกดโดยรัฐธรรมนูญสันติภาพมานานถึง 70 ปี แต่เมื่อไม่สามารถโน้มน้าวพลเมืองส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ เขาจึงหันมาใช้วิธี “ตีความ” รัฐธรรมนูญเสียใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับชุดกฎหมายจะผลักดัน โดยไม่ใส่ใจคำเตือนของนักวิชาการและนักกฎหมายจำนวนมากที่ชี้ว่า สิ่งที่เขาทำเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ

อาคิระ โมโมจิ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนิฮอน อยู่ในกลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่นไม่กี่คนที่สนับสนุนการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ของอาเบะ เขาชี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นถูกยัดเยียดให้ใช้ จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงใหม่ทั้งหมด... แต่เนื่องจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องยุ่งยาก เราก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลานี้”

คำพูดของอาจารย์ผู้นี้สอดคล้องกับแนวคิดของ โยชิโกะ ซากุระอิ นักหนังสือพิมพ์หญิงผู้มีจุดยืนเอียงข้างอาเบะ ซึ่งเธอบอกว่า “เราจำเป็นต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จภายใต้รัฐบาลอาเบะ เพื่อปกป้องความมั่นคงของญี่ปุ่นไว้”

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากนักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้พิพากษาส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นกลับเป็นไปในเชิงไม่เห็นด้วย

“พวกเขาไม่มีปัญญาจะแก้รัฐธรรมนูญ ก็เลยทำเป็นมองข้ามมันไปเสียเลย” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เซ็ตสึ โคบายาชิ จากมหาวิทยาลัยเคอิโอะ ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์

กลุ่มผู้คัดค้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มองว่าชุดกฎหมายของ อาเบะ จะทำลายจุดยืนใฝ่สันติของญี่ปุ่น และทำให้แดนอาทิตย์อุทัยต้องเข้าไปพัวพันกับสงครามของอเมริกาเข้าสักวันหนึ่ง ในขณะที่ผู้สนับสนุนเตือนให้ทุกฝ่ายนึกถึงสถานการณ์ความมั่นคงในเอเชียที่กำลังกำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่ยากจะคาดเดา รวมไปถึงการขยายอิทธิพลของจีน



กำลังโหลดความคิดเห็น