xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

บวรศักดิ์ปล่อยมุก "ฮั้วแห่งชาติ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระเบียงข่าว

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทำการทบทวนเนื้อหาที่สำคัญๆ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป อาทิ เรื่องที่มา ส.ว. ที่ความเห็นยังไม่นิ่ง รวมทั้งเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ ที่ยังไม่มีความชัดเจน

ซึ่งในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องที่มาส.ว.ได้กำหนดไว้ในมาตรา 118 ให้วุฒิสภา มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน มาจากการสรรหา 123 คน

โดยแบ่งเป็นการสรรหาจาก 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่งองค์ประกอบของที่มา กรรมการสรรหา ส.ว.ทั้ง 4 กลุ่ม ดังกล่าว ถูกกกำหนดให้ไปอยู่ใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.

นอกจากนี้ กรรมาธิการยกร่างฯ ยังได้เขียนไว้ใน บทเฉพาะกาล ให้ ส.ว.ชุดแรก จำนวน 200 คน มีวาระการ ดำรงตำแหน่ง 3 ปี โดย ส.ว. เลือกตั้ง 77 คน จาก 77 จังหวัด ให้กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ส่วน ส.ว.สรรหา 123 คน ให้อำนาจ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้สรรหา โดยผ่านกรรมการเป็นผู้คัดเลือก เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ

จากนั้นเมื่อ ส.ว.ชุดแรกทั้ง 200 คน ครบวาระ ก็จะเข้าสู่การเลือกตั้ง ส.ว. ตามปกติ ภายใต้บทบัญญัติ มาตรา 118 และ มาตรา 119 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ส.ว.ชุดใหม่นี้ดำรงตำแหน่ง วาระ 6 ปี โดยจะไม่มีการตัดสิทธิส.ว.ชุดแรก มาลงสมัครในรอบถัดไปได้

ดังนั้น ส.ว.ที่สามารถบริหาร จัดการตัวเองให้ดี รู้จักอยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลา ก็จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ถึง 9 ปี ต่อเนื่อง

การเขียนให้ ส.ว.ชุดแรกที่มาจากการสรรหา 123 คน เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี จึงหนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการตั้งกติกา เพื่อปูทางไว้รองรับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่อยู่ในโอวาท ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 7 ก.ย.นี้ เป็นการต่อท่ออำนาจไว้ส่วนหนึ่งก่อน

อีกประเด็น ที่เป็นเรื่องใหม่แหวกกระแส สร้างความฮือฮาได้เป็นอย่างยิ่ง คือความชัดเจนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ ที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ออกมานั่งแถลงเอง ก่อนจะตบท้ายด้วยการเสนอให้ถามคำถาม พ่วงไปกับการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ

อยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่

รายละเอียด ที่บวรศักดิ์ แถลงคือ ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นชอบให้มี กรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติ ในมาตรา 260 ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการไม่เกิน 22 คน ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการกองทัพไทย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง โดยมีอำนาจหน้าที่เสริมสร้างการปฏิรูป และกำกับการสร้างความปรองดอง และระงับเหตุที่อาจนำไปสู่การเกิดความรุนแรง

ทีเด็ด ของเรื่องนี้อยู่ที่ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้กำหนดอำนาจพิเศษ ของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไว้ในบทเฉพาะกาล โดยระบุว่า หากคณะรัฐมนตรีไม่มีเสถียรภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศได้ กรรมการยุทธศาสตร์ มีมติคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็น สำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าว ภายหลังจากที่ได้รับการปรึกษากับ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

จากนั้น ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ มีอำนาจสั่งการระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลทางนิติบัญญัติ หรือในทางบริหาร ให้ถือว่า คำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งและการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญนี้ และถือเป็นที่สุด และเมื่อได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ รายงานต่อประธานสภา ประธานวุฒิสภา รายงานต่อ ประธานศาลศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด รับทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนรับทราบ และเมื่อมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ให้ถือเป็นการเปิดประชุมสภา โดยอำนาจพิเศษตามมาตรานี้ กำหนดให้ใช้ได้เพียง 5 ปี ซึ่งอำนาจตามมาตรานี้ ไม่เหมือนกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพราะไม่มีอำนาจทางตุลาการ

มีการตัวอย่าง สำหรับการใช้มาตรานี้ว่า หากเกิดการชุมนุมขึ้นหลายพื้นที่ จนกลายเป็นจลาจล รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ตำรวจ ทหาร ก็ยังเอาไม่อยู่ ถือว่ากลไกทางกฎหมายตามปกติไม่สามารถใช้ได้แล้ว กรรมการยุทธศาสตร์ก็ต้องมาใช้อำนาจตามมาตรานี้ เพื่อทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

การเขียนออกมาเช่นนี้ ย่อมถูกตีความออกมาทันทีว่า การให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีอำนาจเหนือรัฐบาลเช่นนี้ เป็นการต่อท่อไว้ให้คสช.สืบทอดอำนาจชัดๆ

 แต่ บวรศักดิ์ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การหมกเม็ด ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ เพียงแต่หาวิธีการทำให้เมืองสงบ หากเกิดวิกฤติการเมืองขึ้น

อีกข้อเสนอของ บวรศักดิ์ ที่ดูเนียน คือ เสนอให้ตั้งคำถามควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ประชาชนอยากให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ หรือไม่ เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
หากประชาชนเห็นด้วยว่า ควรมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ก็มีการออกแบบไว้รองรับเสร็จสรรพ ว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จะกำหนดให้ การจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ต้องใช้เสียง
ส.ส.สนับสนุน 4 ใน 5 จาก 450 คน หรือ รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ต้องใช้เสียง 360 คน ส่วนที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้รัฐบาลปรองดองนี้ แก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศต่อไปอีก 4 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว บทเฉพาะกาล มาตรานี้ ก็ถือว่าสิ้นผลไป

สิ้นเสียงของ บวรศักดิ์ บรรดานักการเมืองทั้งจากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะถูกจับมาผสมพันธุ์ เป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ต่างออกมาคัดค้านความคิดนี้

"รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ มันก็เป็นเพียงแค่วาทกรรมเพื่อปูทางไปสู่การสืบทอดอำนาจ มีวาระซ่อนเร้นอยู่... ยิ่งมีกรรมการยุทธศาสตร์ขึ้นมา รัฐบาลปกติก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ แม้ในนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในกรรมการแต่ก็คงทำอะไรได้ไม่มาก ไม่ต่างจากแนวความคิดคอมมิวนิสต์ มันผิดเพี้ยน แล้วรัฐบาลปกติมีเอาไว้ทำไม มันก็เหมือนเป็นการสืบทอดอำนาจอยู่ดี" นี่เป็นความเห็นของ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. เห็นว่า นี่คือโรดแมปของการยึดอำนาจครั้งนี้ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์เป็นประธาน มีการสร้างกลไกควบคุมอำนาจต่อเนื่องไปอีกหลายปี ทั้งเปิดช่องนายกฯคนอก ตั้งกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูป ให้อำนาจครม.ที่มาจากการรัฐประหารเป็นคนตั้งส.ว.สรรหา 123 คน และมีกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นการสถาปนาอำนาจรัฐเหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยเฉพาะกรรมการยุทธศาสตร์ เท่ากับต่อท่อให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาแฝงตัวในระบบ

ข้างฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค เห็นว่า ข้อเสนอของบวรศักดิ์ คล้ายต้องการบีบคับคับให้ประชาชน และพรรคการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง ยอมรับให้เข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องยาก เหมือนบังคับให้พรรคประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย แต่งงานกัน ทั้งที่ไม่ได้สมัครใจตั้งแต่ต้น แล้วถ้าเกิดความขัดแย้งระหว่างกันหลังจากนั้น จะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงขอบอกว่า อย่าได้เสนอเรื่องนี้เป็นคำถามในการทำประชามติเลย

ส่วนการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูป และการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจใช้มาตรการจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ขัดแย้งที่รัฐบาลปกติไม่สามารถแก้ปัญหาได้นั้น เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง คือป้องกันการยึดอำนาจ เนื่องจากในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย บุคคลหลายฝ่าย รวมถึงผู้บัญชาการแต่ละเหล่าทัพด้วย จึงทำให้ความเห็นต่างๆ ถูกถ่วงดุล ความร้อนแรงในการรัฐประหาร ก็จะลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อยากให้กลไกนี้ ใช้เพียงชั่วคราว หรือในวาระที่สถานการณ์พิเศษจริงๆเท่านั้น

แน่นอนว่า สิ่งที่ บวรศักดิ์ ลงทุนออกมานำเสนอด้วยตัวเอง ในช่วงโค้งสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ แก่นแกนของภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากคสช.ให้เดินหน้าต่อไปสู่จุดหมาย แม้จะถูกฝ่ายตรงข้ามเปิดโปงว่า เป็นการสืบทอดอำนาจชัดๆ ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น