xs
xsm
sm
md
lg

ซัดกก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯไม่เป็นปชต. รัฐบาลปรองดองฯแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13ส.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล ว่า ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ให้ความเห็นขอดูตัวร่างให้ชัดเจนก่อน เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ได้เจอกับนายบวรศักดิ์ ที่ไปลงนามถวายพระพร นายบวรศักดิ์ ระบุว่า จะมีการพิจาณาทบทวนอีกหลายเรื่อง แต่เขาไม่ได้พูดเรื่องนี้ ส่วนจะเป็นการโยนหินถามทางหรือไม่นั้น บางครั้งก็จำเป็นต้องโยนหินถามทาง ในเมื่อเราต้องการรับฟังความเห็นประชาชน ถ้าเสนออะไรใหม่ๆ แปลกๆ ประชาชนไม่เคยรู้มาก่อน ก็ต้องโยนหินถามและไม่คิดว่าเป็นการรับนโยบายของคสช.ไปดำเนินการในเรื่องนี้
เมื่อถามว่า คณะกรรมการชุดนี้ จะทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนตอบอะไรไม่ถูกเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะแปลกใหม่สำหรับตน และไม่คิดว่า จะทำให้เป็นปัญหาในการลงประชามติ
ส่วนกรณีที่เสนอคำถามประชามติตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สามารถตั้งได้คนละ 1 คำถาม รวม 2 ข้อ โดยรัฐบาลเลือก 1 ข้อ ซึ่งข้อที่รัฐบาลเลือกก็ไม่มีอะไรพวกนี้อยู่
"ผมเคยเห็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพราะอยู่ในร่างแรก ซึ่งคนทั้งประเทศเห็นแล้ว แต่จะขยายความเป็นอะไรต่อไป ผมยังไม่เห็น โดยจากร่างแรก คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ฯ ต้องทำ 3 อย่างคือ 1. ยุทธศาสตร์ของประเทศ 2. ทำเรื่องปฏิรูป 3. ทำเรื่องปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เช่น มีการตีกัน ขัดแย้งกัน อย่างที่เคยเกิดขึ้นและรัฐบาลง่อยเปลี้ยเสียขาไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ อย่างที่เคยเห็นแล้ว อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลก็ยังทำไม่ได้ ใครจะลงมาจัดการตรงนี้ คำตอบก็คือ การใช้กฎหมายความมั่นคง หนักขึ้นก็ใช้กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หนักขึ้นก็ใช้กฎอัยการศึก คำถาม ก็มีมาตลอดว่า ถ้าใช้ทั้งหมดแล้วไม่ได้ผล จะทำอย่างไร เขาเลยคิดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯขึ้น แต่ต้องผ่านด่าน คือ รัฐบาลต้องง่อยเปลี้ยเสียขา ทำอะไรไม่ได้ และมีการใช้กฎหมายมาเป็นลำดับ ก็ยังเกิดขึ้นอีกจะทำอย่างไร ซึ่งภยันตรายแบบนี้ ผมนึกไม่ออกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดจริงหรือไม่ บางเรื่องเกิดขึ้น ก็ใช้กฎหมายธรรมดาได้ ไม่ต้องถึงคณะกรรรมการยุทธศาสตร์ฯ นี่คือหลักที่ได้จากร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก แต่ที่แตกหน่อออกผล ยังไม่เห็น" นายวิษณุ กล่าว

**สมบัติชี้อยากปรองดองก็ออกกม.นิรโทษ

ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องออกแบบให้ระบอบประชาธิปไตยเป็นหนทางในการแก้ไขวิกฤติ หรือออกจากความขัดแย้ง ไม่ใช่ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพราะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนรัฐบาล แต่กมธ.ยกร่างฯ กลับกำหนดให้มีอำนาจทางฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติได้
ส่วนรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ก็เห็นว่า ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการตรวจสอบจะทำได้ยาก และหากต้องการจะสร้างกลไกสร้างความปรองดองจริง ก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพียงฉบับเดียว ก็จบแล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ หรือรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ แทน
นายสมบัติ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่า ข้อเสนอรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของตนอย่างแน่นอน แต่จะมีผลต่อการตัดสินใจของ สปช. รายอื่นหรือไม่ ก็ยังต้องรอดู นอกจากนี้ ตนเห็นด้วยกับสมาชิก สปช. ที่เข้าชื่อเสนอญัตติให้เปิดประชุมสปช. อภิปรายแสดงความคิดเห็นถึงข้อดี และข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะลงมติในวันที่ 7 ก.ย. เพื่อให้สมาชิก สปช.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เนื่องจากบางคนอาจจะดูเพียงแค่ว่า ประเด็นปฏิรูปที่เสนอแก้ไขไปได้รับการปรับแก้ให้หรือไม่เพียงอย่างเดียว แล้วก็ตัดสินใจลงมติเห็นชอบให้ โดยที่ไม่เข้าใจโครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญว่าด้วย อำนาจฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ ก่อนตัดสินใจลงมติต่อไป
** "มาร์ค"ชี้เจตนาดี แต่ปฏิบัติยาก

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีร่าง รธน.กำหนด อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปและปรองดองในสถานการณ์พิเศษ ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร เป็นการฉุกเฉินได้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ร้ายแรงนั้น ตนเข้าใจในความตั้งใจของคนเขียนว่าไม่ต้องการให้มีปฏิวัติ แต่ไม่ทราบว่า คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนอื่นๆ ในเหตุการณ์ปกติอย่างไร เพราะยังมีความกังวลอยู่ว่า อาจจะไปขัดกับรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งจะเกิดปมปัญหาหนึ่ง
"และที่ระบุว่า จะมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ก็ยังนึกไม่ออกว่า เวลามันเกิดเหตุการณ์จริง คณะกรรมการชุดนี้จะทำอย่างไร จะไปห้ามปราม สลายการชุมนุม หรืออะไร เพราะแม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือประกาศอะไรหลายอย่าง แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาได้ ถามว่าทางนี้ทำทางออกทางการเมืองได้มั้ย วันนั้นมีคนเสนอทางออกทางการเมืองเยอะแยะ แต่ก็ติดอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้น ย่อมมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจไปตามความเห็นของเขา ซึ่งโครงสร้างกรรมการชุดนี้ คนที่เป็นผู้มีอำนาจอยู่ ก็จะยังมีบทบาท มีอิทธิพลอยู่ค่อนข้างสูงด้วย อยากให้ผู้คิดลองอธิบายว่า จะทำอย่างไร จะได้พิจารณาว่ามันดี หรือไม่ดี เหมาะ ไม่เหมาะ แก้ปัญหาถูกจุดแล้วหรือไม่อย่างไรได้ง่ายขึ้น เพราะวันนี้ถ้าถามผม อ่านดูก็เข้าใจเจตนา แต่มองไม่เห็นในทางปฏิบัติ ว่ามันแก้ปัญหาได้อย่างไร"

** ตั้งรัฐบาลปรองดอง แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะมีการเขียนเรื่องนี้ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ กำหนดกฎเกณฑ์อะไรอย่างไร หรือไม่ เพราะรัฐบาลแห่งชาติ จะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่มีการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งก็คือการตัดสินใจของพรรคการเมือง ตนไม่ค่อยแน่ใจว่า จะมีวิธีการในการที่จะเขียนบังคับให้มันเกิดได้อย่างไร สมมุติจะบังคับให้มีเสียงมากๆเสียเลย ก็เหมือนกับว่าไม่มีพรรคใหญ่เป็นฝ่ายค้าน คำถามคือ แล้วพรรคการเมืองที่ไปร่วมกันโดยไม่สมัครใจเป็นรัฐบาลแห่งชาติเพื่อมาปรองดอง ถามว่าคนที่มาอยู่ด้วยกันโดยไม่เต็มใจนั้น มันจะทำงานกันแบบไหน เหมือนกับถูกบังคับแต่งงานอย่างนี้
ส่วนการจะถามประชามติในช่วงที่ทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยปกติการทำประชามติ จะเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ อยากจะทำบางสิ่งบางอย่าง เช่น ออกกฎหมายหรืออยากทำโครงการนโยบายบางอย่าง แต่หากไปสอบถามว่า อยากได้รัฐบาลแห่งชาติใน 4 ปีข้างหน้า แล้วสมมติประชาชนบอกว่า อยากได้ แล้วมันจะเกิดขึ้นต่อไปอย่างไร ซึ่งปกติแล้วคำถามลักษณะนี้ไม่สามารถมาทำประชามติได้ แต่ต้องไปทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปถามพรรคการเมืองทุกพรรคว่า พร้อมจะไปร่วมกับพรรคอื่นหรือไม่ ถ้าเขาอยากได้รัฐบาลแห่งชาติ เขาจะเลือกเฉพาะพรรคที่เอาอย่างนั้น ถ้าพรรคไหนบอกไม่สามารถร่วมกับอีกพรรคหนึ่งได้ เขาก็จะไม่เลือก มันถึงจะเกิดขึ้น แต่ว่าไปเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย หรือโดยการทำประชามติล่วงหน้า ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่
"ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องร้อน สะท้อนบางอย่างที่ไม่สบายใจ คือ ดูคนทำกติกาตอนนี้คิดเรื่องปลายเหตุมากกว่าต้นเหตุ มองว่าปัญหาของประเทศ คือ ความขัดแย้ง แต่ไม่ได้มองว่าความขัดแย้งมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และการวิเคราะห์ว่า ปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ผ่านมาเพราะพรรคการเมืองไม่สามัคคีกัน จึงชวนทุกคนมาเป็นรัฐบาล เป็นการวินิจฉัยปัญหาที่ไม่ตรง และอยู่บนฐานความคิดที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของประชาธิปไตย ผมเป็นห่วงว่า สิ่งที่สังคมอยากได้คำตอบว่า ต่อไปนี้ทำอย่างไรไม่ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นโกง หรือไปทำสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ จนนำไปสู่
การต่อต้านรุนแรง จนสถาบันทางเมืองสูญเสียความศรัทธา จะไม่ได้คำตอบตรงนี้ แต่จะได้คำตอบเพียงแค่ว่า มาเป็นรัฐบาลด้วยกันทุกคนได้มั้ย แล้วก็ทำอย่างไรอย่าให้ชุมนุมได้มั้ย เป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่ไม่ตรง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น