xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ดักถอดยศห้ามแลกปรองดอง ข้องใจอำนาจ คกก.ปฏิรูปฯ ติงฝืนมีรัฐบาลแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
หัวหน้า ปชป.ตอบไม่ได้ถอดยศ “นช.แม้ว” จะเกิดอะไร ย้ำตัดสินใจอะไรต้องมีเหตุผลคำอธิบายชัด ดักไม่สามารถนำมาเป็นเหตุปรองดองได้ ข้องใจอำนาจ คกก.ปฏิรูปฯ อาจขัดกับรัฐบาล หากมีปัญหาจริงจะหาทางออกยังไง ไม่แน่ใจวิธีการทำให้มีรัฐบาลแห่งชาติ เปรียบคนไม่เต็มใจอยู่ด้วยกันจะทำงานแบบไหน ดักถามในประชามติไม่ได้ ติงคนทำกติกาแก้ปลายเหตุมากกว่าต้นเหตุ ไม่มองขัดแย้งเกิดจากอะไร

วันนี้ (13 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าตนไม่สามารถตอบได้ว่ามันจะเกิดแรงกระเพื่อมหรือเคลื่อนไหวหรือไม่ แต่ที่สำคัญคือจะดำเนินการตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่จะต้องมีเหตุผล มีคำอธิบายที่รองรับชัดเจน เพราะเท่าที่ติดตามข่าว คณะกรรมการมีการประชุมกันและได้ตรวจสอบระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วยืนยันว่ากรณีของพ.ต.ท.ทักษิณเข้าข่ายที่จะสามารถถอดยศซึ่งคงไปห้ามคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจไม่ได้ แต่มันต้องมีคำอธิบายว่าการตัดสินใจนี้อยู่บนพื้นฐานอะไร และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ในการชี้แจง

ส่วนเรื่องของความปรองดองนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่สามารถจะเป็นเหตุผลในการมายกเว้น หรือบังคับใช้กฎระเบียบ หรือทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ การจะให้อภัยหรือการที่จะปฏิบัติต่อกันอย่างมีเมตตาเป็นส่วนหนึ่งของความปรองดอง แต่ความปรองดองไม่ได้แปลว่าไม่ดำเนินการตามกฎระเบียบ เพราะจะเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตต่อไป

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปและปรองดองในสถานการณ์พิเศษ โดยการคัดเลือกในหมู่ประเภท เช่น อดีตนายกฯ อดีตประธานสภา และผู้ทรงคุณวุฒินี้ เพื่อให้อำนาจกลุ่มคนเหล่านี้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และบริหารเป็นการฉุกเฉินได้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ร้ายแรง ตนเข้าใจในความตั้งใจของคนเขียน ว่าไม่ต้องมีการปฏิวัติ แต่ไม่ทราบว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนอื่นๆ ในเหตุการณ์ปกติอย่างไร เพราะยังมีความกังวลอยู่ว่าอาจจะไปขัดกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไป ซึ่งจะเกิดปมปัญหาหนึ่ง

“และที่ระบุว่าจะมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่างๆ ก็ยังนึกไม่ออกว่าเวลามันเกิดเหตุการณ์จริง คณะกรรมการชุดนี้จะทำอย่างไร จะไปห้ามปราม สลายการชุมนุมหรืออะไร เพราะแม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือประกาศอะไรหลายอย่าง แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาได้ ถามว่าทางนี้ทำทางออกทางการเมืองได้มั้ย วันนั้นมีคนเสนอทางออกทางการเมืองเยอะแยะ แต่ก็ติดอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้นย่อมมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจในตามความเห็นของเขา ซึ่งโครงสร้างกรรมการชุดนี้ คนที่เป็นผู้มีอำนาจอยู่ก็จะยังมีบทบาท มีอิทธิพลอยู่ค่อนข้างสูงด้วย อยากให้ผู้คิดลองอธิบายว่าจะทำอย่างไรจะได้พิจารณาว่ามันดีหรือไม่ดี เหมาะ ไม่เหมาะแก้ปัญหาถูกจุดแล้วหรือไม่อย่างไรได้ง่ายขึ้น เพราะวันนี้ถ้าถามผมอ่านดูก็เข้าใจเจตนา แต่มองไม่เห็นในทางปฏิบัติว่ามันแก้ปัญหาได้อย่างไร”

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงเรื่องรัฐบาลแห่งชาติว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะมีการเขียนเรื่องนี้ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ กำหนดกฎเกณฑ์อะไรอย่างไรหรือไม่ เพราะรัฐบาลแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่มีการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งก็คือการตัดสินใจของพรรคการเมือง ตนไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีวิธีการในการที่จะเขียนบังคับให้มันเกิดได้อย่างไร สมมุติจะบังคับให้มีเสียงมากๆ เสียเลยก็เหมือนกับว่าไม่มีพรรคใหญ่เป็นฝ่ายค้าน คำถามคือแล้วพรรคการเมืองที่ไปร่วมกันโดยไม่สมัครใจเป็นรัฐบาลแห่งชาติเพื่อมาปรองดอง ถามว่าคนที่มาอยู่ด้วยกันโดยไม่เต็มใจนั้นจะทำงานกันแบบไหน เหมือนกับถูกบังคับแต่งงาน

ส่วนการจะถามประชามติในช่วงที่ทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยปกติการทำประชามติจะเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ อยากจะทำบางสิ่งบางอย่างเช่นออกกฎหมายหรืออยากทำโครงการนโยบายบางอย่าง แต่หากไปสอบถามว่าอยากได้รัฐบาลแห่งชาติใน 4 ปีข้างหน้า แล้วสมมติประชาชนบอกว่าอยากได้ แล้วมันจะเกิดขึ้นต่อไปอย่างไร ปกติแล้วคำถามลักษณะนี้ไม่สามารถมาทำประชามติได้ แต่ต้องไปทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปถามพรรคการเมืองทุกพรรคว่าพร้อมจะไปร่วมกับพรรคอื่นหรือไม่ ถ้าเขาอยากได้รัฐบาลแห่งชาติ เขาจะเลือกเฉพาะพรรคที่เอาอย่างนั้น ถ้าพรรคไหนบอกไม่สามารถร่วมกับอีกพรรคหนึ่งได้ เขาก็จะไม่เลือก มันถึงจะเกิดขึ้น แต่ว่าไปเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย หรือโดยการทำประชามติล่วงหน้า ตนไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่

“ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องร้อน สะท้อนบางอย่างที่ไม่สบายใจ คือ ดูคนทำกติกาตอนนี้คิดเรื่องปลายเหตุมากกว่าต้นเหตุ มองว่าปัญหาของประเทศคือความขัดแย้ง แต่ไม่ได้มองว่าความขัดแย้งมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และการวิเคราะห์ว่าปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต ที่ผ่านมาเพราะพรรคการเมืองไม่สามัคคีกัน จึงชวนทุกคนมาเป็นรัฐบาล เป็นการวินิจฉัยปัญหาที่ไม่ตรง และอยู่บนฐานความคิดที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของประชาธิปไตย ผมเป็นห่วงว่าสิ่งที่สังคมอยากได้คำตอบว่าต่อไปนี้ทำอย่างไรไม่ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้นโกงหรือไปทำสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ จนนำไปสู่การต่อต้านรุนแรง จนสถาบันทางเมืองสูญเสียความศรัทธา จะไม่ได้คำตอบตรงนี้ แต่จะได้คำตอบเพียงแค่ว่ามาเป็นรัฐบาลด้วยกันทุกคนได้มั้ย แล้วก็ทำอย่างไรอย่าให้ชุมนุมได้มั้ย เป็นการวิเคราะห์ปัญหาที่ไม่ตรง”


กำลังโหลดความคิดเห็น