xs
xsm
sm
md
lg

งานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ฝ่ายเห็นต่างเสนอ 9 ข้อการเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
ปัตตานี - ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 2 ครบรอบ 2 ปี การเจรจา ฝ่ายเห็นต่างเสนอรัฐ 9 ข้อในการเจรจา

วันนี้ (28 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้ปาตานี ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่อว่า “สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ” และถือเป็นวันครบรอบ 2 ปีของการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย และฝ่ายขบวนการ BRN ที่เริ่มต้นครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 กพ.56

ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่ไมใช้ความรุนแรง โดยเปิดพื้นที่สาธารณะให้ภาคประชาสังคม และผู้มีผลได้เสียจากสถานการณ์ความแย้งที่มีการใช้ความรุนแรง ได้หาแนวทางร่วมกัน และแสดงเจตจำนงในการสร้างขบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกงสุลใหญ่มาเลเซีย ประจำจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำศาสนา นิสิต นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ภายในงานยังจัดพูดคุยเพื่อเป็นการเปิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นำโดย พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุขกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และ นาย อาบูฮาฟิส อัลฮากิม ผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐ ภายใต้หัวข้อว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ ซึ่งการพูดคุยกันในครั้งนี้ ทางผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้ยื่นข้อเสนอ 9 ข้อให้แก่รัฐบาลไทย และกลุ่มขบวนการที่จะเข้ามาร่วมเจรจาในครั้งต่อไป

คือ 1.เป้าหมายหลักของกระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่ควรเพ่งเน้นเพียงแค่ลดความรุนแรงเท่านั้น แต่ควรสำรวจหาสาเหตุจากรากเหง้า และเหตุผลว่าทำไมชาวปัตตานีจึงจำต้องหยิบอาวุธต่อสู้ต่อการปกครองของไทย 2.ทางออกทางการเมืองใด ๆ ไม่ควรเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง หรือเป็นทางออกชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นทางออกที่เป็นธรรมครอบคลุมและยั่งยืน 3.แต่ละฝ่ายพึงนั่งลงที่โต๊ะพูดคุยอย่างมือเปล่า กล่าวคือ ปราศจากเงื่อนไขตั้งแง่ที่อาจจะทำให้อีกฝ่ายประสบความยากลำบาก หรือตกที่สภาวะที่เสียเปรียบ

4.กระบวนการพูดคุยควรเริ่มต้นด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจ และค่อยๆ เดินหน้าอย่างช้าๆ ต่อเมื่อ 2 ฝ่ายพร้อมโดยปราศจากการเร่งรัด กดดัน โดยมีความจริงในน่าเชื่อถือต่อกันและกัน 5.แนวทางการดำเนินการ หรือโรดแมปควรร่างรวมกันทั้ง 2 ฝ่าย ที่เกียวข้องในกระบวนการพูดคุยโดยตรง กล่าวคือ ไม่กำหนดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายอื่นๆ โดยมีฝ่ายที่ 3 (ผุ้อำนวยความสะดวก) คอยสังเกตการณ์ และอำนวยความสะดวกเพื่อให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในขั้นตอนต่อไป 6.ทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือและตกลงบนกรอบอ้างอิงพื้นฐานบางประการ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตลอดทั้งกระบวนการพูดคุยภายในกรอบเวลาที่มีเหตุผลอันสมควรในทุกประเด็นและในทุกขั้นตอน 7.ทั้ง 2 ฝ่ายจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการเชิงปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงและปะทะกันโดยใช้อาวุธตามด้วยข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว หรือจำกัดขอบเขตโดยมีการแต่งตั้งคณะเฝ้าระวังและตรวจสอบโดยได้รับการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย 8.เริ่มต้นการพูดคุยสันติภาพบนสถานะที่เท่าเทียมกันตามเงื่อนไขและบรรทัดฐานที่นานาชาติยอมรับ และ 9. ข้อตกลงหยุดยิงถาวรจะบรรลุถึงได้ด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น