เอเจนซีส์ - กลุ่มฮามาสกล่าวหารัฐยิวละเมิดมติหยุดยิงที่ประกาศเอง ด้วยการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยในฉนวนกาซา ทำให้เด็กหญิงคนหนึ่งเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก 30 คนในวันจันทร์ (4 ส.ค.) หรือเพียง 1 วันหลังจากอิสราเอลบอมบ์โรงเรียนของยูเอ็น ที่เรียกเสียงประณามกึกก้องชัดเจนจากทั่วโลก ด้านอิหร่านจวกอเมริกาและสมาชิกบางชาติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่วางเฉยต่อ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์” ของกองทัพยิว
กองทัพอิสราเอลประกาศว่า ฝ่ายตนจะหยุดยิงแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรมเป็นเวลา 7 ชั่วโมงในวันจันทร์ (4) ตั้งแต่เวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 14.00 น.ตามเวลาไทย) แต่ยกเว้นหลายพื้นที่ในเมืองราฟาห์ ที่มีการโจมตีภาคพื้นดินหนักหน่วงหลังจากทหารยิว 3 นายถูกสังหารเมื่อวันศุกร์ (1) พร้อมกับย้ำว่า หากข้อตกลงหยุดยิงนี้ถูกล่วงละเมิด กองทัพอิสราเอลจะเริ่มต้นปฏิบัติการโจมตีอีกครั้ง และเสริมว่า ได้ถอนกำลังออกจากกาซาแล้ว ยกเว้นทางตะวันออกของเมืองราฟาห์
อย่างไรก็ตาม แม้ถอนกำลังภาคพื้นดินออกไปนับตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่ากองทัพยิวยังระดมโจมตีทางอากาศและทางเรือจากบริเวณนอกชายฝั่ง ต่อดินแดนฉนวนกาซาต่อไป
มิหนำซ้ำ การประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวล่าสุดนี้เริ่มมีผลเพียงไม่นาน รัฐยิวก็กลับโจมตีบ้านหลังหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยชาตี ส่งผลให้เด็กหญิงวัย 8 ขวบคนหนึ่งเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีก 30 คน
ซามี อาบู ซูห์รี โฆษกของกลุ่มฮามาสที่ตั้งข้อเคลือบแคลงการประกาศนี้ตั้งแต่ต้น วิจารณ์ว่า การโจมตีล่าสุดของอิสราเอลตอกย้ำว่า การประกาศหยุดยิงครั้งนี้เป็นเพียงความพยายามที่จะสร้างภาพเท่านั้น
ด้านโฆษกของอิสราเอลแถลงว่า กำลังตรวจสอบเรื่องนี้
นอกจากนั้น ก่อนที่ประกาศหยุดยิงจะเริ่มมีผล อิสราเอลยังเปิดฉากโจมตีทางอากาศและสังหาร ดันยาล แมนซูร์ ผู้บัญชาการอาวุโสของกลุ่มอิสลามิก ญิฮัดด ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ที่ต่อสู้เคียงข้างฮามาส
เจ้าหน้าที่กาซาระบุในวันจันทร์ว่า นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มต้นยุทธการโจมตีกาซาระลอกนี้เมื่อวันที่ 8 ก.ค. มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตกว่า 1,800 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และประชาชน 1 ใน 3 ของทั้งหมด 1.8 ล้านคนของดินแดนกาซาต้องทิ้งถิ่นฐานเพื่อรักษาชีวิต ขณะที่บ้านเรือน 3,000 หลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย
ส่วนอิสราเอลนั้นสูญเสียทหาร 64 คน และพลเรือนเสียชีวิต 3 คน 1 ในจำนวนนี้เป็นคนงานชาวไทย
มีชาวปาเลสไตน์จำนวนมากหนีไปหลบภัยตามค่ายของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนในราฟาห์ที่ถูกรัฐยิวโจมตีและมีผู้เสียชีวิต 10 รายเมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งทางอิสราเอลก็บอกว่า กำลังสอบสวนเรื่องนี้ และมีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการที่ทหารยิวพยายามสังหารมือปืนอิสลามิสต์ที่ขับรถผ่านบริเวณนั้น
ในวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แถลงว่า อิสราเอลไม่มีเจตนาโจมตีพลเรือน และขออภัยที่ทำให้เกิดอันตรายกับพลเรือน นอกจากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีอิสราเอลยังระบุว่า ฮามาสจงใจทำให้อาคารสถานที่ของยูเอ็นในกาซาเป็นจุดซ่องสุมของผู้ก่อการร้าย
ทว่า จากการที่ชาวปาเลไสตน์ในกาซา ประสบความเสียหายอย่างย่อยยับและอย่างสะท้อนถึงความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีปฏิกิริยาประณามพฤติการณ์ของรัฐยิวอย่างกว้างขวาง บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นประณามทันควันว่า การโจมตีดังกล่าว “ผิดศีลธรรมและเป็นการก่ออาชญากรรม” พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศครั้งใหญ่
ด้านอเมริกาแถลงว่า “ตกใจ” กับ “การโจมตีอย่างน่าอับอาย” ดังกล่าว เจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้อิสราเอลเพิ่มความพยายามเพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายพลเรือน รวมทั้งต้องการให้มีการสอบสวนกรณีการโจมตีโรงเรียนของยูเอ็นในกาซาที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง
ส่วนที่เตหะราน ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ประณาม “การวางเฉย” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ต่อการที่ “อิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์” เนื่องจากอเมริกาและสมาชิกบางชาติสมรู้ร่วมคิดกับยิว รูฮานียังเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันหยุดยั้งยิวที่ถือเป็นอาชญากรสงคราม
คำวิจารณ์ของผู้นำอิหร่านที่มีขึ้นระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อปาเลสไตน์ของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากกาตาร์ คูเวต โอมาน เวเนซุเอลา และอีกหลายประเทศเมื่อวันจันทร์นั้น ถือเป็นสัญญาณล่าสุดว่า เตหะรานเดือดดาลอิสราเอลมากขึ้น หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ระบุว่า ปฏิบัติการของยิวในกาซาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
สำหรับ โลรองต์ ฟาเบียส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส แม้วิพากษ์ว่าฮามาสต้องรับผิดชอบวิกฤตการณ์ในกาซา กระนั้นก็กล่าวว่า สิทธิในเรื่องความมั่นคงไม่ใช่เหตุผลรองรับปฏิบัติการของอิสราเอลในกาซาที่ทำให้เด็กและพลเรือนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
ฟาเบียสยังเรียกร้องให้มีข้อตกลงหยุดยิงที่แท้จริงตามที่อียิปต์เสนอ รวมถึงให้นานาชาติร่วมกันคิดหาทางออกทางการเมืองสำหรับวิกฤตกาซา
กระนั้น ความพยายามทางการทูตที่มีอียิปต์เป็นแม่งาน และได้รับการสนับสนุนโดยอเมริกาและยูเอ็นรวมทั้งมีกาตาร์ ตุรกี และประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาสของปาเลสไตน์ เข้าร่วมด้วย ยังคงไม่มีความหวังใดๆ เพราะนอกจากอิสราเอลและฮามาสจะยื่นเงื่อนไขขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงแล้ว รัฐยิวยังไม่ยอมส่งตัวแทนร่วมหารือ โดยอ้างว่า ที่ผ่านมา ฮามาสละเมิดข้อตกลงหยุดยิงมาตลอด