xs
xsm
sm
md
lg

บรรดาชาติละตินอเมริกาพากันรุมด่ายิว ประกาศหนุนหลังปาเลสไตน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - บรรดาผู้นำของชาติละตินเมริกาพากันประณามการโจมตีเข้าใส่พื้นที่ฉนวนกาซาของอิสราเอล โดยตราหน้าว่าประเทศของชาวยิวเป็น "รัฐก่อการร้าย" พร้อมทั้งเรียกเจ้าหน้าที่ด้านการทูตกลับประเทศ รวมถึงแสดงความสนับสนุนที่เกือบจะเป็นเอกฉันท์แก่ปาเลสไตน์

ศาสตราจารย์ เรจินัลโด นาซเซอร์ นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ปอนติฟิกัล ในนครเซาเปาลู บราซิล ระบุว่า จำไม่ได้ว่าเคยมีสถานการณ์คล้ายกับคราวนี้บ้างไหม ที่ทำให้บรรดาชาติละตินอเมริกาเห็นพ้องต้องกันแบบนี้

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนประการหนึ่ง มาจากประธานาธิบดีโบลิเวีย "อีโว โมราเลส" หนึ่งในผู้นำชาติละตินอเมริกาที่เป็นพวกซ้ายจัด เขาได้จัดให้อิสราเอลอยู่ในกลุ่มรายชื่อของ "รัฐก่อการร้าย" พร้อมทั้งยกเลิกการยกเว้นไม่ต้องขอวีซ่าของพลเมืองชาวอิสราเอล

ทั้งนี้ มีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 1,600 รายเสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บมี 9,000 ราย จากการสู้รบตลอด 26 วันที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยที่ 2 ใน 3 ของคนเหล่านี้เป็นพลเรือน ขณะที่ฝ่ายอิสราเอลมีทหารเสียชีวิต 64 ราย รวมถึงพลเรือน 3 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนงานไทย 1 ราย ที่โดนจรวดของกลุ่มฮามาส

ยูนิเซฟระบุว่า ในกลุ่มผู้เสียชีวิตของฝ่ายปาเลสไตน์ มากกว่า 245 คนเป็นเด็กๆ

ดิลมา รุซเซฟ ประธานาธิบดีบราซิล ได้เรียกปฏิบัติการทางการทหารของกองทัพอิสราเอลว่าเป็น "การสังหารหมู่"

ความตึงเครียดระหว่างบราซิลกับอิสราเอลเริ่มขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ตอนที่บราซิลตัดสินใจเรียกผู้แทนการทูตให้ออกมาจากกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้ทำให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล ออกมาเรียกบราซิลว่าทำตัวเป็นพวกคนแคระในทางการทูต

แต่การออกมาประณามอิสราเอลของรุซเซฟ ยังไม่แรงเท่ากับของประธานาธิบดีเวเนซุเอลา "นิโคลัส มาดูโร" ที่ระบุว่า การสู้รบในฉนวนกาซาคือสงครามกำจัดชาวปาเลสไตน์ให้สิ้นซาก ที่ดำเนินมาเกือบศตวรรษ ทั้งนี้ ส.ส. ผู้หนึ่งในพรรคของเขาถึงกับใช้คำว่า "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" เลยทีเดียว ขณะที่ทางรุซเซฟยังไม่เห็นด้วยกับการใช้คำนั้น

ขณะที่เปรู เอกวาดอร์ ชิลี เอลซัลวาดอร์ ก็ได้ตัดสินใจเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับมาปรึกษาหารือ ส่วนคอสตาริกาและอาร์เจนตินาที่มีประชาชนชาวยิวจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศ ทำเพียงแค่เรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้ามาพูดคุยที่กระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศในแถบละตินอเมริกาต่างพากันประณามความรุนแรงของปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอิสราเอล พร้อมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงและเริ่มต้นเจรจากันใหม่ระหว่างทั้งสองฝ่าย

เมื่อวันพฤหัสบดี (31 ก.ค.) นายโฮเซ มูฮิกา ประธานาธิบดีอุรุกวัย ได้ขอให้มีการถอนกำลังทหารอิสราเอลออกจากฉนวนกาซาโดยทันที พร้อมทั้งระบุว่า อาจจะมีการเรียกผู้แทนการทูตของประเทศตนให้ออกจากกรุงเทลอาวีฟ

ทางด้าน ยิกัล พาลมอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล แสดงท่าทีผิดหวังเป็นอย่างมากสำหรับข้อเรียกร้องของผู้นำในชาติละตินอเมริกา โดยระบุว่า พวกเขาเหล่านั้นกำลังให้การสนับสนุนแก่กลุ่มฮามาส กลุ่มที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

หลายชาติละตินอเมริกา ที่เป็นพวกฝ่ายซ้าย ต่างพากันยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลไปหลายปีแล้ว อาทิ นิคารากัว ในปี 2010 , เวเนซุเอลาและโบลิเวียในปี 2009 จากปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซาครั้งก่อนๆ ขณะที่คิวบาตัดสัมพันธ์ในปี 1973 หลังสงครามยมคิปปูร์

มีเพียงประธานาธิบดีโคลอมเบีย "ฮวน มานูเอล ซานโตส" รายเดียวเท่านั้นที่เสียงแตก ไม่เหมือนชาติละตินอเมริการายอื่นๆ โดยประธานาธิบดีที่มีแนวคิดกลาง-ขวาผู้นี้ ปฏิเสธที่จะเรียกผู้แทนการทูตออกจากกรุงเทลอาวีฟ

ศาสตราจารย์ เรจินัลโด นาซเซอร์ ระบุว่า ความเห็นของบรรดาชาติละตินอเมริกาที่พากันออกมาประณามอิสราเอลได้สร้างความประหลาดใจให้กับเขา พร้อมกับเสนอแนะถึงเหตุผลหลายประการ เกี่ยวกับการแสดงท่าทีครั้งนี้

เขาชี้ว่า ในปัจจุบันการที่ประเทศหนึ่งจะประกาศตัวต่อต้านอิสราเอลนั้น ไม่ได้ถือเป็นการปฏิบัตินอกบรรทัดฐานระหว่างประเทศอีกแล้ว นอกจากนั้นการประณามอิสราเอลยังมีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกต่อต้านอเมริกาด้วย เพราะอิสราเอลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ

ด้าน อิตัย บราส นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเม็กซิโก ระบุว่า การแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจที่สาธารณชนมีต่อสงครามครั้งนี้

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงจำนวนมากตลอดทั่วทั้งละตินอเมริกา ตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงชิลีที่อยู่ทางใต้สุด ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์ ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงที่นิยมปาเลสไตน์ในยุโรปและละตินอเมริกาเหล่านี้ กำลังมีขนาดใหญ่กว่าในกลุ่มประเทศอาหรับด้วยซ้ำ

บราส ระบุอีกว่า บรรดากลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเจ็บปวด นั่นเป็นสิ่งที่ผู้คนกำลังรู้สึกร่วมกันอยู่ตอนนี้ในละตินอเมริกา ดินแดนที่เต็มไปด้วยความรู้สึกของการถูกกดขี่ข่มเหงอย่างกว้างขวาง
กำลังโหลดความคิดเห็น