เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต ครั้งที่ 2 ว่า ในที่ประชุมมีข้อสรุป กรณีรัศมีการใช้ดิจิทัล วอลเล็ต ใช้ได้ภายในอำเภอ จากเดิมกำหนดให้ใช้ในรัศมี 4 กม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป มีร้านค้าเพียงพอรองรับการใช้จ่าย
.
ต้องยอมรับว่า ในที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างในเงื่อนไขในอีกหลายประเด็น ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เช่น กลุ่มที่จะได้รับสิทธิ์ โดยมาตรการนี้ มีข้อเสนอเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนหนึ่งตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ จึงต้องการคนมาเข้าร่วมจำนวนมาก ในขณะที่อีกส่วนเสนอให้เอากลุ่มคนรวยออก เพราะคนรวยจะไม่นำเงินส่วนนี้ไปใช้ในลักษณะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะนำเงินไปออม ดังนั้นคณะทำงานต้องหาคำจำกัดความ
.
ทั้งนี้ จะมีการให้คณะกรรมการตัดสินใจ 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ
.
1. ให้สิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ ที่มีอยู่ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
.
2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
.
3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก เหลือผู้ได้สิทธิ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท
.
"เมื่อมีความเห็นต่าง เป็นหน้าที่ คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ คณะอนุกรรมการ จะไปดูแต่ละกลุ่มครอบคลุมเท่าไหร่ และเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจรายละเอียด"
.
อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการฯ เป็นเพียงผู้รวบรวมและนำเสนอแนวทาง เพื่อนำเสนอ คณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา ภายในสัปดาห์หน้า
.
สำหรับประเด็นของแหล่งเงิน ที่จะใช้ในการดำเนินการนั้น ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงในหลายแนวทาง ทั้งการกู้เงิน ใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือกลไกอื่น เช่น มาตรการกึ่งการคลัง
.
ในส่วนของการกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการนั้น ก็จะบรรจุในแนวทางที่จะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาด้วยเช่นกัน แต่ยืนยันว่าจะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เช่นเดียวกับการใช้มาตรการกึ่งการคลัง ผ่านมาตรา 28 พรบ. วินัยการเงินการคลัง โดยยืนยันไม่ใช้เงินจากธนาคารออมสิน เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย
.
สำหรับการยืนยันตัวตน เป็นไปตามสิทธิ์ ครอบคลุมทั้ง บุคคลธรรมดา นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชน ใช้จ่ายได้ประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ส่วนระบบการขึ้นเงินได้ร้านค้าระบบภาษี 3 ประเภท ทั้งร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เงินได้นิติบุคคล และ บุคคธรรมดา
.
นอกจากนี้ นายจุลพันธุ์ ยังยอมรับว่าแนวโน้มการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท น่าจะดีเลย์ในระดับหนึ่ง จากเดิมกำหนดวันที่ 1 ก.พ.2567 แต่มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ในเรื่องความปลอดภัย กระบวนการทดสอบระบบก็มากขึ้น ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่นั้นขอพิจารณาก่อน