xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” เชื่อ “หมื่นดิจิทัล” หมุนในระบบ 3.7 รอบ ปั่นยอดเกิน 2 ล้านล้าน บ. เชื่อหางบฯได้อาจไม่ต้องกู้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เพื่อไทย” ประมวลเสียงค้าน “หมื่นดิจิทัล” รอบด้าน ยึดหลักเท่าเทียมให้หมดคนรวย-จน ชี้ใช้ “โทเคนดิจิทัล” ไม่ขัด กม.เงินตราฯ รอประสาน ธปท.ปลดล็อกใช้ซื้อของ เล็งเติมเทคโนโลยี “บลอกเชน” ต่อยอดจาก “เป๋าตัง” เผยเค้นงบฯค้างท่อได้แล้วบางส่วน รองบฯ ปี 67 เติม จนอาจไม่ต้องกู้เพิ่ม เชื่อหมุนในระบบอย่างน้อย 3.7 รอบ ปั่นยอดเกิน 2 ล้านล้าน บ. เก็บภาษีเพิ่มไม่ต่ำ 1 แสน ล.


รายงานข่าวจากคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ แจ้งว่า ภายหลังจากที่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยนบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ก็ได้มีพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับรายละเอียดของแนวทางการดำเนินโครงการ “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” รวมไปถึงประสานกับคณะกรรมการที่มีนายกฯเป็นประธาน ตลอดจนคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธานอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อสรุปเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะมีการดำเนินนโยบายต่อไปอย่างแน่นอน และจะเป็นการเติมเงินงวดเดียว 10,000 บาท ให้แก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวมประมาณ 56 ล้านคน ตามที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้ คาดว่าจะสามารถเติมเงินในดิจิทัลวอลเลตให้แก่ประชาชนได้ช่วงเดือน ก.พ.67 แม้จะมีเสียงคัดค้านในวงกว้างก็ตาม

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นอกเหนือจากการวางแผนแนวทางการดำเนินนโยบายที่นายกฯกำชับว่า ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งมา รัดกุม ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศแล้ว คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ชุดของ นายจุลพันธ์ ก็ได้ร่วมกันประมวลข้อสังเกต และข้อกังวล ของภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ข้อเสนอที่ให้จำกัดกลุ่มเป้าหมาย เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในจุดนี้ในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีเกณฑ์การแบ่งคนรวย-คนจน ที่ชัดเจน โดยมีข้อมูลสถิติยอดเงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 4 ปี 2565 มาพิจารณาเพื่อจัดสถานะทางการเงิน ก็พบว่า จากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และประจำ รวมทั้งสิ้น 118.74 ล้านบัญชีในประเทศไทย มีบัญชีที่จำนวนเงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาทมากถึง 115 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนเงินฝากตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป มีราว 3 ล้านบัญชีเท่านั้น อีกทั้งยังไม่สามารถสรุปสถานะความมั่งคั่งได้ว่า มีผู้เงินฝากมากหรือน้อย เป็นคนจนหรือคนรวยด้วย เพราะปัจจุบันมีรูปแบบการเก็บสินทรัพย์ในลักษณะที่ค่อนข้างหลากหลาย

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เช่นเดียวกับการจัดกลุ่มสถานะความมั่งคั่งผ่านฐานภาษี โดยตั้งเกณฑ์ที่ผู้ที่มีรายได้ หรือเงินเดือนเกินกว่า 80,000 บาทต่อเดือน หรือปีละมากกว่า 1 ล้านบาท หรือ 4 เท่าตัวจากรายได้ต่อหัวคนไทยปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 262,633.3 บาทต่อคนต่อปีนั้น ก็พบว่าคนไทยที่มีรายได้ในระบบเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อคนต่อปีมีอยู่ราว 1 ล้านคนเท่านั้น การจัดสถานะโดยรายได้ หรือฐานภาษี จึงไม่สามารถจำแนกสถานะความมั่งคั่งของบุคคลได้เช่นกัน และเมื่อยึดตามหลักความเท่าเทียม ที่นายกฯ และพรรคเพื่อไทย ประกาศไว้ จึงคงการเติมเงินให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวมประมาณ 56 ล้านคน

ในส่วนของวิธีการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลตนั้น เบื้องต้นจะเป็นในรูปแบบโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการกำหนดอยู่ในพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยกำหนดเป็น โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ ให้สิทธิบุคคลในการเข้าร่วมโครงการ และสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า หรือบริการ หรือสิทธิอี่นใดที่เฉพาะเจาะจงได้โดยสามารถดำเนินการได้ ผ่านการประสานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยการนิยามเพิ่มและออกประกาศใช้โดย ก.ล.ต. โดยจะไม่ถือเป็นสกุลเงินตราใหม่ ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 และไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายอื่นใดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามกรณีที่กำหนดสิทธิชำระเป็นค่าสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น เข้าลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด จึงต้องประสาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกประกาศเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าวด้วย

ด้านการกำกับโครงการให้เป็นไปอย่างโปร่งใสมีประสิทธิภาพที่มีการกำหนดแล้วว่าจะมีการนำเทคโนโลยีบลอกเชน (Blockchain) มาใช้นั้น คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ได้ทำการศึกษามาตั้งแต่ก่อนที่จะประกาศเป็นนโยบายหาเสียง โดยยอมรับว่า การนำเทคโนโลยีบลอกเชนมาใช้กับโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ต้องใช้ทรัพยากร และกำลังคนจำนวนมากเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาทางเทคนิคใดๆในระหว่างการดำเนินโครงการ ดังนั้น เพื่อลดขั้นตอนการเตรียมการเบื้องต้นจะมีการฐานของแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่ดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย นำมาประยุกต์ใช้ตามกฎเกณฑ์หรือข้อตกลงของโครงการนี้ โดยนอกจากจะเป็นการใช้เพื่อความโปร่งใสแล้จะมีการเก็บฐานข้อมูลในระบบ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของการใช้จ่าย และนำไปกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไปด้วย

สำหรับประเด็นแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับการดำเนินโครงการที่กำหนดไว้เบื้องต้นที่ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมานั้น คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย มีความมั่นใจว่า จะสามารถหางบประมาณเพื่อมาดำเนินโครงการได้อย่างแน่นอน และยึดตามคำพูดของนายกฯ ที่ว่า ไม่กระทบหนี้สาธารณะ และรักษาวินัยการคลัง โดยขณะนี้ได้มีการกันงบประมาณของปี 2566 ที่ยังไม่ถึงเวลาเบิกจ่าย หรือเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือที่เรียกว่า งบฯ ค้างท่อได้แล้วบางส่วน ยังไม่รวมกับงบฯ เหลื่อมปีต่างๆ ที่จะสามารถนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนโครงการในช่วงต้นได้ โดยหลังดำเนินโครงการช่วงเดือน ก.พ.67 ไม่นาน งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็จะสามารถเบิกจ่ายได้ อีกทั้งโครงการก็ไม่เป็นไปในลักษณะลงทุนก้อนเดียว 5.6 แสนล้านบาท เพราะกว่าที่ผู้ประกอบการจำนำโทเคนดิจิทัลมาแลปเปลี่ยนเป็นเงินสดก็ต้องผ่านไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยลักษณะการเบิกจ่ายเช่นนี้ทำให้รัฐบาลสามารรถบริหารจัดการในลักษณะเงินหมุน หรือการกู้เบิกเงินเกินบัญชี (Overdraft : OD) ได้ โดยอาจจะไม่ต้องใช้วิธีการกู้เงิน หรืออาจมีการกู้เงินน้อยที่สุดเพื่อชดเชยงบประมาณรายจ่ายของประเทศ แม้ว่าจากการประเมินเพดาพเงินกู้ประเทศปัจจุบัน จะสามารถกู้เงินได้ทั้งหมด 5.6 แสนล้านบาทเลยก็ตาม

คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ประเมินด้วยว่า หลังจากโครงการ “เติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต” งบประมาณวงเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยคาดคะเนว่าเงินจากดิจิทัลวอลเลตจะเข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจเฉลี่ย 3.7 รอบ หากคิดจากยอดเงินของโครงการที่ 5 แสนล้านบาท จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 2 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย อีกทั้งการจำกัดพื้นที่การใช้จ่าย ก็เป็นการกระตุ้นกำลังการซื้อ กำลังการผลิต และการลงทุน ภายในพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะได้ประโยชน์โดยตรง รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลและนิติบุคคลที่จะได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท.


กำลังโหลดความคิดเห็น