แม้ไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจการเงินการคลัง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยมีนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แบบหวี่ยงแหให้ทุกคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 56 ล้านคน ซึ่งต้องใช้เงินถึง 560,000 ล้านบาท คำถามแรกของผมก็คือ จะเอาเงินมาจากไหน เงินที่แจกเป็นเงิน fiat หรือ virtual currency
เมื่อฟังดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนนี้เป็นเลขานุการรมว.คลัง ก็ได้รับคำตอบว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้นเพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุดสามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ
เมื่อได้ยินดังนี้ก็เข้าใจว่า จะต้องมีเงินบาทหนุนหลัง ก็ยิ่งอยากรู้ว่าเอาเงินมาจากไหน เท่าที่พยายามฟังพรรคเพื่อไทยหรือนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ก็เหมือนกับว่าตอนที่คิดนโยบายก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน
จนกระทั่งได้ยินเศรษฐาบอกว่าเพื่อรองรับการดำเนินนโยบายรัฐบาลในการดูแลประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 32% ของวงเงินงบประมาณโดยมีแผนจะขยายเพิ่มเป็น 45% ของวงเงินงบประมาณในปีงบ 67 และมีแผนจะปรับลดกรอบวงเงินดังกล่าวให้เท่ากับอัตราเดิมภายในปี 2570
ซึ่งการใช้ช่องทางการใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 มีข้อดีคือการใช้จ่ายตามมาตราดังกล่าวจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะนั่นเอง
และทำให้ถึงบางอ้อว่า รัฐบาลจะใช้เงินกู้ในการทำโครงการดังกล่าว แต่เงินกู้จากไหนล่ะ ซึ่งต่อมาศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความผ่านสื่อโซเชียลว่า รัฐบาลจะกู้เงินจากธนาคารออมสิน
หากรัฐบาลจะกู้เงินธนาคารออมสินจริงๆ นั้น ทางธนาคารก็คงไม่มีปัญหาเพราะเป็นแบงก์ที่อยู่ใต้การกำกับของรัฐบาล แต่จะมีดรามาตามมาหรือไม่ว่าเอาเงินเด็กมาใช้
หลายคนออกมาเตือนว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะส่งผลกระทบในระยะยาว จะเกิดเงินเฟ้อ หรือจะต้องจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาใช้หนี้ มีข้อเสนอว่า ควรจะทำเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยไม่เหวี่ยงแห เพราะการแจกแบบนี้อาจจะทำให้เงินไม่หมุนไปตามเป้าหมาย เพราะคนที่มีฐานะก็อาจจะไม่ได้ใช้เงินโดยทันที และเป็นการทำลายวินัยการเงินการคลังของประเทศรวมถึงวินัยการเงินของประชาชน
ผมออกตัวไปแล้วว่าไม่มีความรู้เรื่องการเงินการคลังก็เลยลองไปฟังผู้รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยและนักวิชาการดู
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวถ้าทำเฉพาะกลุ่มก็อาจจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่าเพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน 10,000 บาท อีกทั้งการทำนโยบายต่างๆ รัฐบาลต้องฉายภาพระยะกลางของมาตรการที่จะทำให้มีความชัดเจนทั้งเรื่องของภาพรวมรายจ่ายภาพรวมหนี้การขาดดุลต่างๆ ตรงนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแสดงให้เห็นถึงวินัยทางการคลังที่จะบริหารให้อยู่ในกรอบได้
นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเหวี่ยงแหการใช้เงินงบประมาณควรจะเป็นลักษณะของการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้าต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจควรจะต้องทำให้ผลิตภาพและเกิดรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทำลายวินัยการเงินการคลังของประเทศรวมถึงวินัยการเงินของประชาชน ขณะที่รัฐบาลออกนโยบายเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศอีกด้านหน่วยงานที่จัดเก็บภาษีก็ต้องเร่งจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายเพื่อมีเม็ดเงินในการใช้จ่ายของภาครัฐ
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอีกท่าน กล่าวว่า เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้วเศร้าใจนอกจากการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็นแล้วยังเป็นการสร้างนิสัยให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงินคอยแต่จะแบมือรับแทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะมีความสามารถในการยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนมากกว่าเงินช่วยเหลือจากนักการเมือง
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นโยบายในครั้งนี้เป็นการแจกเงินดิจิทัลแบบถ้วนหน้าซึ่งหมายความว่าไม่ได้คัดว่าจะให้ใครบ้าง ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อนต้องรีบใช้เงินเขาก็อาจจะไม่ได้นำเงินจำนวนนี้ออกมาใช้หรืออาจจะใช้เงินจำนวนนี้ในแผนการใช้เงินเดิมของตัวเองที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้วก็จะทำให้ไม่เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้นน่าจะทำให้เงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาทหมุนในระบบเศรษฐกิจไทยได้ไม่ถึง 1 รอบด้วยซ้ำ
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แสดงความห่วงใยว่า การให้เงินมองว่าอาจได้ผลในระยะสั้นในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ผลระยะต่อไปอาจทำให้ราคาของแพงขึ้นเพราะมีเงินเทลงมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมหาศาลเงินเฟ้อเขยิบขึ้นเมื่อเงินเฟ้อขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะไปลดความร้อนแรงของความต้องการสินค้าและบริการอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อลงแน่นอนผลระยะยาวเงินที่ได้มาไม่มีอะไรฟรีเป็นภาระด้านการคลังภาระกระเป๋าของรัฐบาล เพราะฉะนั้นอาจต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อที่จะมาใช้หนี้
นี่เป็นความเห็นของกูรูด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังที่รัฐบาลจะต้องรับฟัง ก็อาจมีกูรู้อยู่บ้างที่พูดราวกับว่าเงินก้อนนี้รัฐบาลเสกมาจากอากาศและเงินจะหมุนไปไม่รู้กี่รอบจนเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลก็คือนายไพศาล พืชมงคล
ไพศาลบอกว่า อดีตและผู้บริหารบางคนของธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะสงบปากสงบคำเรื่องแจกเงินดิจิทัลเอาไว้บ้าง เพราะไม่ใช่มาตรการทางการเงินในการดูแลของธนาคารกลาง
ไพศาลบอกว่า วงเงินคูปองดิจิทัล 500,000 ล้านบาทเมื่อจับจ่ายใช้สอยกันไปในทอดแรกรัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้จ่ายในงบประมาณได้ถึง 35,000 ล้านบาท เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยเงินดิจิทัลหรือคูปองดิจิทัลนี้ในทอดต่อไปรัฐบาลก็จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเรื่อยไปเมื่อจ่ายไปถึงทอดที่สิบรัฐบาลก็จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าคลังได้ถึง 350,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีการจ่ายเงินไปถึงทอดที่ยี่สิบรัฐบาลก็จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ถึง 700,000 ล้านบาทมาใช้จ่ายเป็นงบประมาณได้สบายใจเฉิบ
ลองคิดดูว่าคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังที่บอกว่าเงินจะหมุนไปไม่ถึง 1 รอบกับความหวังของไพศาลที่บอกว่าเงินจะหมุนไป 20 รอบสามารถเก็บภาษีได้ถึง 700,000 ล้านอันไหนจะเป็นความจริง
ถึงตอนนี้รัฐบาลคงจะถอยไม่ได้แม้จะมีใครเตือนอย่างไร เพราะเป็นนโยบายที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง แต่เมื่อมีเสียงท้วงติงจากกูรูก็ควรจะฟังเอาไว้บ้าง แต่ถ้าจะฟังกูรู้อย่างไพศาลก็ตามใจ
เนื้อหาบทความโดย : สุรวิชช์ วีรวรรณ