ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ คาดได้ผลบวกชัดเจนปีหน้า แต่ต้องรอความชัดเจนที่มาของเงินทุน และความโปร่งใสในการใช้เงินด้วย
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1% นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%
"ในการประชุม FOMC เมื่อสัปดาห์ก่อน สิ่งที่ทำให้ตลาดตกใจ คือ Dot Plot ที่ยังคงมองว่าเฟดยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปลายนี้ และยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไปถึงปลายปีหน้าจากเดิมที่มองว่าจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของเฟด และตัวเลขการว่างงานที่ยังแข็งแกร่ง ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยกดดันต่อเงินบาท รวมถึงเงินสกุลประเทศตลาดเกิดใหม่ให้อ่อนค่าอยู่ในช่วงนี้"
สำหรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติมจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 สำหรับค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะสั้นค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ และประเทศไทยยังน่าจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป
"หนี้สาธารณะของไทยในระดับปัจจุบันที่ 61.7% จากเพดาน 70% ไม่ได้สูงไปกว่าประเทศในกลุ่มเดียวกัน และเชื่อว่าปีหน้าจะแตะระดับ 65% ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นจะมากระทบต่ออันดับเครดิตของไทย หากรัฐบาลมีวินัยทางการคลัง สามารถบริหารจัดการให้รายได้เพิ่ม และเศรษฐกิจเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงมีแผนการจัดหาเงินที่ชัดเจน และการใช้เงินอย่างโปร่งใสด้วย ซึ่งเป็นโจทย์การบริหารจัดการการคลังที่จะอยู่ท่ามกลางภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นสิ่งที่ต่างชาติเองจับตาดูอยู่"
นายบุรินทร์ กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลมีแนวคิดจะขยายกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 เป็น 45% จาก 32 นั้น จะต้องดูเป้าหมายนำเงินไปใช้ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้หรือไม่ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีแผนที่จะรับมือและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งตรงนี้จะเป็นอีกหนึ่งที่เป็นปัจจัยท้าทายที่จะผลักดันจีดีพีใก้เติบโตได้ปีละ 5% ตามเป้าหมายรัฐบาล จากอัตราเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ 2.9% ซึ่งหากในปีหน้ามีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าจะช่วยผลักดันจีดีพีปี 67 เติบโตได้อีกประมาณ 1% จากที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินเบื้องต้นไว้ใกล้ๆ 4%
ทั้งนี้ ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กับมาตรการ Quick Win ที่กำลังดำเนินการอยู่
**ปรับลดเป้าหมายสินเชื่อโต**
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อไตรมาส 3 ค่อนข้างจะทรงๆหรือลดลงเล็กน้อย ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ไม่มีปัจจัยหนุนเข้ามา น่าจะรอดูสถานการณ์ในไตรมาส 4 ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว และเทศกาลต่างๆมากกว่า พร้อมกันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯได้ปรับลดประมาณการสินเชื่อปี 66 เติบโตที่ 2.5% จากเดิม 2.7% เป็นสินเชื่อธุรกิจเติบโต 0.4% จากปีก่อนที่ -2.1% สินเชื่อรายย่อยเติบโต 3.3% จากปี 65 ที่ 3.1% โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังให้ความสนใจในการระดมทุนด้วยกาคออกหุ้นกู้เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยถูกกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่ภาพรวมคุณภาพหนี้ของธนาคารมองว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่เกินกว่า 3%
นางสาวธัญญลักษณ์กล่าวอีกว่า จากจำนวนหนี้กลุ่ม SM 21 ของกลุ่ม Aoto Loan ที่เพิ่มขึ้นนั้น หากรัฐบาลเลือกใช้มาตรการพักชำระหนี้กับกลุ่มรถยนต์ด้วย ก็น่าจะมีมาตรการที่เข้ามาช่วยในกลุ่มผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน เนื่องจากเมื่อมีการพักชำระหนี้ผู้ประกอบการก็จะต้องหยุดบันทึกรายได้ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันนอกจากธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อย Auto Loan แล้ว ก็ยังมีกลุ่มของนอนแบงก์อีกจำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจนี้