นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (ttb analytics) กล่าวว่า ttb analytics ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2566 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และปี 2567 จาก 3.6% เป็น 3.2% ตามลำดับ หลังปัจจัยต่างๆ มีความเปราะบางขึ้น ทั้งภาคส่งออก ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจจีนที่อาจแผ่วกว่าที่คาด รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตการเกษตร ตลอดจนความไม่แน่นอนด้านนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาล ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังจะขยายตัว 3.4%YoY
"สิ่งที่เกิดขึ้นคือเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรง ผนวกกับเศรษฐกิจจีนชะลอกว่าคาด กระทบส่งออกไทยแรงขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนที่คาดว่าจะกลับมามากใกล้ระดับเดิมก็ไม่เป็นไปตามนั้น ดังจะเห็นได้จากภาคท่องเที่ยวตอนนี้กลับมาได้ 70% โดย 30% ที่ยังไม่มาส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเงินเฟ้อที่มีโอกาสจะกลับมาเร่งขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น และภัยแล้ง ดังนั้น ttb analytics จึงมีการปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งของปีนี้ และปีหน้า"
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปเป็นกรณีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ซึ่งจะเป็นปัจจัยบั่นทอนกำลังซื้อในอนาคต รวมถึงข้อจำกัดทางการคลังในอนาคต หากรัฐบาลมีการใช้จ่ายในระดับที่สูงจากยโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ประกาศออกมา เช่น มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งหากสามารถทำได้จริงประเมินได้ว่าจะเพิ่มจีดีพีได้ประมาณ 0.5% ในปีหน้า แต่จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และเป็นข้อจำกัดทางการคลังในอนาคต
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากเงินที่นำมาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาจากเงินกู้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 65% GDP จากปัจจุบันที่ 61.7% และจะทำให้ชนเพดานที่ 70% ในช่วง 2-3 ปีถัดไป ซึ่งถือว่าสูงกว่าเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์มีหนี้สาธารณะ 60% หรืออินโดนีเซียที่ 40% และแม้ว่าระดับ 65% หรือ 70% จะไม่ได้สูงนัก แต่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาและเป็นประเด็นที่ต่างชาติจะติดตามต่อไป รวมถึงประเด็นการขาดดุลแฝดทั้งขาดดุลการคลัง และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากรายได้ท่องเที่ยวที่ไม่พอชดเชยขาดดุลการค้า
"นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่ให้เงิน หรือการพักหนี้ ถ้าใช้บ่อยๆ นานๆ อาจจะทำให้เกิดการเสพติดการกระตุ้นได้ ซึ่งจากที่เราเห็นไส้ในของจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปี ภาคการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้น การภาคส่วนที่ควรจะได้รับการกระตุ้นน่าจะเป็นการลงทุนที่จะช่วยให้เติบโตยั่งยืน หรือภาคการใช้จ่ายเฉพาะกลุ่มที่ยังเปราะบาง เป็นต้น ขณะที่การใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะเป็นปัจจัยกดดันเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวจากหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น"
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดการณ์จะปรับขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3 สู่ระดับสูงสุดของวัฏจักร (Terminal rate) ที่ 2.5% ก่อนจะคงที่ในระดับดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ค่าเงินบาทในระยะต่อไปมีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนค่าได้ในระยะสั้น ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้างหลังเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ความชัดเจนทางการเมือง โดยคาดว่าค่าเงินบาทในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566