สกสว. ร่วมมือ สภาพัฒน์ฯ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่และตำบล" เชื่อมโยงทุกมิติรอบด้าน หนุนเสริมเชิงพื้นที่ มุ่งสู่เป้าหมาย 13 หมุดหมาย 7,255 ตำบลต้นแบบ ขยายผลการจัดทำพื้นที่นำร่อง พร้อมสร้างเครือข่ายการพัฒนาอย่างเข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่และตำบล" พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็น “เครื่องมือและกลไกเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่และตำบล” ที่จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม จำนวนกว่า 350 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงบทบาทกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) กับการพัฒนาเชิงพื้นที่บนฐานขององค์ความรู้ ระบุว่า สกสว. มีบทบาทในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ.2566-2570 ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนา และพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจมูลค่าและคุณค่า ด้วยการสานพลังของหน่วยงานในระบบ ววน. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์หลัก โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 2 ที่กองทุนส่งเสริม ววน. มีการจัดสรรงบประมาณการวิจัยและนวัตกรรม ประมาณ 30% กระจายใน 50 จังหวัด มุ่งพัฒนาเชิงพื้นที่ในด้านต่าง ๆ อาทิ พัฒนาสังคมสูงวัย ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ สร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง แก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้ทัน เป็นต้น
นอกจากนี้ มีการจัดสรรงบประมาณด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization : RU) เพื่อสร้างผลกระทบสูง ที่จะมีช่วยบูรณาการผลงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ใช้ ววน.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภารกิจในทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระดับท้องถิ่น เอกชน ประชาสังคม ให้เกิดการนำผลงาน ววน. ไปใช้ประโยชน์ การใช้ข้อมูลหรือความรู้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกันและเป็นเครื่องมือในการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน
“การใช้กลไกระบบ ววน.ในทุกระดับช่วยขับเคลื่อนตั้งแต่ในระดับชุมชนท้องถิ่น จังหวัด ภาค ไปสู่ประเทศ จะช่วยพัฒนาศักยภาพชุมชนพื้นที่ เพิ่มรายได้และการสะสมทุนในพื้นที่ ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่ม สิ่งแวดล้อมดี คนมีความรู้ความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาตนเอง และชุมชนท้องถิ่นร่วมมือกันเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายประเทศไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ผอ.สกสว. กล่าวสรุป
นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวทางและกลไกในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่ ระบุว่า สภาพัฒน์ฯ มีหน้าที่ในการเชื่อมแผนทั้ง 3 ระดับพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะ “เชิงพื้นที่” ที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน 3 กลไก ประกอบด้วย 1.กลไกเชิงยุทธศาสตร์ 2.กลไกเชิงภารกิจ และ 3.กลไกเชิงพื้นที่ โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนา คือ ภาคีชุมชน ภาคีภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคีท้องถิ่น ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ สู่เป้าหมายการแปลง 13 หมุดหมายของแผนฯ 13 ไปสู่การปฏิบัติ ดังนี้
1. “ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรมูลค่าสูง” ด้วยการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อยกระดับการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
2. “ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน” มุ่งลดการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ สร้างการท่องเที่ยวที่มีคุณค่า ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์และความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว
3. “ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก” ด้วยการสร้างความพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
4. “ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง” ยกระดับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และอัตลักษณ์ไทย
5. “ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค” พัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ ปรับปรุงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ
6. “ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน” ผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติ ต่อยอดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
7. “ไทยมีวิสาหกิจขนาดและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้” สนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม สร้างความร่วมมือและการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่าง SMEs กับรายใหญ่
8. “ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน” กระจายความเจริญไปสู่ระดับพื้นที่และสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก
9. “ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม” สนับสนุนครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นให้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
10. “ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ” ปรับปรุงการจัดการขยะและของเสียให้สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก
11. “ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินและพัฒนาระบบป้องกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยทางธรรมชาติ เพิ่มความสามารถของทุกภาคส่วน ในการรับมือกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป
12. “ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต” เพิ่มกำลังคนคุณภาพรองรับภาคการผลิตเป้าหมายและพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
13. “ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชน” เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของภาครัฐให้เป็นดิจิทัล และปรับโครงสร้างของภาครัฐให้มีความยืดหยุ่น
“สภาพัฒน์ยินดีรับบท “ช่างเชื่อม” เพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในระดับพื้นที่ โดย
1. เชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพและออกแบบโมเดลการขับเคลื่อน 2. เชื่อมโยงภาคีการพัฒนา ที่หลากหลายให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ตำบล 3. เชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่สู่นโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และ 4. เชื่อมโยงตำบลนำร่องต้นแบบ ผ่านการพัฒนาระบบแสดงผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ระดับพื้นที่และตำบล เพื่อมุ่งบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ พร้อมทั้งขยายผลและเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง พร้อมเป็นพลังสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศต่อไป” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย