วันนี้ (13 กันยายน 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) เผยพร้อมขานรับนโยบายรัฐบาลด้านสิ่งแวดล้อมของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ.2065
นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เผยว่า หลังจากที่ได้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลด้านสิ่งแวดล้อมของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เมื่อวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมานี้ ซึ่ง รมว.ทส. ได้ย้ำถึงการรับมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 นั้น ปัจจุบันได้มีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามเป้าหมาย NDC พ.ศ. 2564- 2573 ประกอบด้วย ภาคพลังงานและขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคของเสีย และภาคการเกษตร เพื่อกำหนดรายละเอียดมาตรการที่สำคัญ และคาดว่าจะนำเสนอ ครม. ในปลายปีนี้ สำหรับมาตรการภาคพลังงานที่สำคัญ คือ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2045 และยกเลิกผลิตพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน ภายในปี ค.ศ 2050
นอกจากนี้มีการปรับปรุงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ควบคู่กับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัว เข้าสู่นโยบายและแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานของประเทศไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งยังมีคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ปลัดกระทรวง ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเลขานุการ และมีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นกลไกสำคัญในการกำกับดูแลและ บูรณาการการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงปรับปรุงร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... เพื่อเป็นกลไกการบังคับและส่งเสริมให้เกิดการลด ก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย และยกระดับความสามารถในการปรับตัว ฟื้นตัว สร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสร้างรายได้และโอกาสในการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่การพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ ภายในปีหน้า (ปี พ.ศ. 2567)