xs
xsm
sm
md
lg

UN เร่งอุดจุดอ่อนห่างเป้า SDGs ไทยเตรียมเพิ่มมาตรการหนุน / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ครึ่งทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ของโลกยังห่างเป้ามาก สะเทือนโอกาสการแก้ 17 ปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะ SDG13 “การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกรวน” ที่มีสาเหตุจากภาวะ “โลกร้อน” ซึ่งตอนนี้อาการหนักถึงขั้น “โลกเดือด” ขณะที่ข้อตกลงควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศา ก็ยังไม่เห็นผล

นับจากปี 2015 ที่ผู้นำ193ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ(รวมทั้งจากประเทศไทย) ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ยืนยันการผลักดันแนวทางการพัฒนาอย่างสมดุล17 หัวข้อเพื่อความยั่งยืนให้สำเร็จภายในปี 2030

นี่ก็ผ่านมาครึ่งทางของแผนแล้ว เหลือเวลาอีกประมาณ 7 ปี มีการรายงานและวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ขณะนี้ว่า มีระดับเพียง 12% ที่จะบรรลุผลตามเป้าหมาย

จึงมีความเคลื่อนไหวของกลไกสหประชาชาติ เร่งจัดประชุมผู้นำหลายภาคส่วน รวมทั้งธุรกิจชั้นนำระดมความคิด ปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาวิกฤตด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกตามเป้าหมาย

จากข้อมูลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report 2023) ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดของสถานการณ์ SDGs และจัดอันดับผลการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยย้ำเตือนว่า “โลกกำลังจะสูญเสียความก้าวหน้าของช่วง10 ปี ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ” มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้


ภาพรวมสถานการณ์ SDGs

1.ผ่านครึ่งทางของเป้าหมายการขับเคลื่อนSDGsระดับโลก ก็พบว่ายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดได้

2.ยังขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนSDGs

3.ขณะนี้ทุกประเทศควรทบทวนและปรับแก้ยุทธศาสตร์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ รวมทั้งกรอบการลงทุนเพื่อให้เกิดSDGsในระยะยาว

4. ประเทศร่ำรวยยังคงสร้างผลลบต่อประเทศอื่นๆ และเมื่อพิจารณารูปแบบการบริโภค พบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

5. วิธีการทางวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นเพื่อขับเคลื่อนSDGsในทุกระดับ และจำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบ(Accountability) ต่อผลกระทบจากการปฏิบัติงานต่างๆ

อันดับและสถานะ SDG ประเทศไทย


SDG Index 2023 จัดอันดับ 166 ประเทศ ดังนี้

- ไทยได้อันดับ 43 คะแนนรวม 74.7
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ไทยอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น(อันดับ 21) และเกาหลีใต้(อันดับ31)

การบรรลุเป้าหมาย SDGs ของไทย

สีเขียว
บรรลุSDG1 (ยุติความยากจน)
บรรลุSDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ)


สีส้ม
เป้าหมายที่ยังท้าทาย10 เป้าหมาย
SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ)
SDG 6 (น้ำสะอาดและสุขาภิบาล)
SDG 7(พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้)
SDG 8 (สร้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ)
SDG 9 (โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม
SDG10( ลดความเหลื่อมล้ำ)
SDG11(สร้างเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน)
SDG12(การผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ)
SDG13(การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
SDG17(ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)


สีแดง
เป้าหมายที่ท้าทายมาก
SDG 2 (ขจัดความหิวโหย)
SDG 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี)
SDG14 (ส่งเสริมทรัพยากรทางทะเล)
SDG15 (ระบบนิเวศทางบก)
SDG16 ( สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)

ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการประเมินผลการดำเนินงานของสหประชาชาติที่มีความเห็นว่า หากยังมีวิธีคิดและวิธีการแบบเดิมอย่างที่ผ่านมา ก็คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2065 คือช้าไปอีก 35 ปี จากที่ตั้งเป้าหมายเดิมจะบรรลุภายในปี 2030

คณะทำงานของสหประชาชาติที่ศึกษาเรื่องนี้ จึงเสนอให้เปลี่ยนวิธีการทำงานจากเดิมที่มองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ด้วยมุมมองใหม่ที่ไม่แยกส่วน โดยให้จัดเป็น 6 กลุ่มเป้าหมาย คือ

1 ความเป็นอยู่ของมนุษย์
2 เศรษฐกิจที่เป็นธรรม
3 ระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ
4 การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมและยั่งยืน
5 การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมือง
6 ทรัพยากรร่วมระดับโลก

ผศ.ชล บอกว่าที่ผ่านมาเราเร่งแก้ปัญหา17ข้อ โดยลืมมองว่าบางปัญหาสามารถแก้ร่วมกันได้ หรือบางปัญหาแก้ไปแล้ว แต่กลับไปเพิ่มผลกระทบให้กับอีกปัญหาหนึ่ง

ขณะที่ผู้บริหารสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรของภาคเอกชนชั้นนำกว่า 100 บริษัทในประเทศไทย ก็เตรียมไปประชุมเครือข่ายภาคเอกชนระดับโลก (UN Global Compact) ของสหประชาชาติกลางเดือนกันยายนนี้ จะเสนอ 5 ประเด็นในการเร่งเครื่องผลักดันเป้าหมาย SDGs

1. ความเท่าเทียมทางเพศ มุ่งให้โอกาสผู้หญิงในทางเศรษฐกิจและการแข่งขัน

2. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้เป้าหมายให้สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยรับมือการปรับตัวเพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นไปกว่า1.5องศา

3. ค่าครองชีพที่เป็นธรรม คำนึงถึงความสำคัญของหลักประกันสิทธิถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม รวมถึงคู่ค้าในการทำธุรกิจ เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่พอเพียงในการดำเนินชีวิต

4.การเงินและการลงทุน ระดมทุนเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายSDGs

5. การฟื้นคืนสภาพแหล่งน้ำ สร้างความยืดหยุ่นในการใช้น้ำ ร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุผลเชิงบวกต่อการมีน้ำในแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง อย่างน้อย100 แห่งภายในปี 2030

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายSDGsของประเทศไทย ก็เตรียมมาตรการและปรับกฎระเบียบเชิงบังคับเพื่อให้ระบบการผลิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎกติกาโลก เพื่อผลักดันให้เกิดผลลัพธ์เข้าใกล้เป้าหมายSDGs จึงต้องการความร่วมมือในการปรับระบบการดำเนินงานให้มีผลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข้อคิด...


ณ ขณะนี้ หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติได้รายงานผลความคืบหน้าที่ประเทศสมาชิก ดำเนินการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายSDGs เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาใหญ่ของโลก 17 ข้อ โดยเฉพาะ SDG13 ที่ทั่วโลกกำลังรับพิษสงจากวิกฤต ดิน น้ำ อากาศ ซึ่งจากการประเมินผลตอนนี้พบว่ายังห่างเป้าหมายมาก ถ้าชาวโลกยังมีวิธีคิดและการกระทำแบบเดิม ก็ส่อแววว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ปี 2030 จะไม่สำเร็จแน่

ถ้าไม่บรรลุเป้าหมาย SDG จริงๆ จะไม่ใช่แค่สมาชิกUN เสียหน้าอีกครั้ง หลังจากเป้าหมาย 15 ปี ของแผน MDG ก็เคยพลาดมาแล้ว แต่ครั้งนี้ปัจจัยทำร้ายสิ่งแวดล้อมจากฝีมือมนุษย์ในระบบการผลิตด้านต่างๆได้สั่งสมให้เกิดภาวะ”โลกร้อน”หนักขึ้นถึงขั้น “โลกเดือด” เร่งความรุนแรงของภัยธรรมชาติ ที่เป็นผลตอบแทนการไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จนต้องมีการทบทวนเพิ่มความเข้มให้กับมาตรการบังคับ ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของทุกคนและเพื่อนร่วมโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น