xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ชี้ รัฐบาลเลี่ยงบาลีใช้งบฯ ค้างท่อ-เพิ่มงบฯ รายจ่ายปี 67 อ้างแจกเงินดิจิทัลโดยไม่กู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชี้ ข้ออ้างแจกเงินดิจิทัลโดยไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง แค่เลี่ยงบาลี เอางบฯ ค้างท่อมาใช้พร้อมเพิ่มงบรายจ่ายประจำปี 67 สุดท้ายรัฐบาลต้องกู้อยู่ดี หากจะรักษาวินัยการคลังต้องลดงบฯ รายจ่ายลง 5.6 แสนล้าน ถ้าทำไม่ได้ก็อย่าโม้ ส่วนที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มภาษีให้รัฐได้ 1 แสนล้านบาท ก็เป็นแค่ความฝันอันยิ่งใหญ่
วันนี้ (20 ก.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสตฺ์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อเรื่อง “เงินดิจิทัลเลี่ยงบาลีเรื่องเงินกู้” มีรายละเอียดดังนี้

บทความในไทยพับลิกา บรรยายเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งผมมีข้อสังเกตดังนี้

***หนึ่ง เป็นการยืนยันในคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง” จริงหรือไม่?

โครงการระบุ 2 แหล่งเงินว่า

“จากการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ ทั้งการเบิกจ่ายงบฯ ล่าช้า งบฯ ที่ตั้งเอาไว้แต่ยังไม่ถึงเวลาเบิกจ่าย และงบฯ ค้างท่อที่เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ทุกๆ ปีก็จะมีเงินงบประมาณค้างท่อเหลืออยู่ประมาณ 10% ของวงเงินงบประมาณในปีปัจจุบันและงบฯ เหลื่อมปี คิดเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท

เงินงบประมาณกลุ่มนี้ สามารถนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนหนุนหลังเงินดิจิทัลก่อนได้” และ

“เพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประชุม ครม.รัฐบาลเศรษฐามีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 3,480,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท

จากกรอบวงเงินเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนประกาศยุบสภามีวงเงินอยู่ที่ 3,350,000 ล้านบาท”

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

สำหรับเงินงบประมาณค้างท่อรอเบิกจ่าย 300,000 ล้านบาทนั้น ชื่อก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่การยกเลิกใช้เงิน แต่เป็นเงินที่ยังผูกพันจะต้องใช้เพื่อการอื่น

เพียงแต่ดันห้วงเวลาของการเบิกจ่ายไปยังปีงบประมาณหน้า

เนื่องจากงบประมาณปี 2567 จะเป็นงบขาดดุลมากถึง 693,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องกู้หนี้สาธารณะเพื่อมาโปะขาดดุลอยู่แล้ว

ดังนั้น คำพูดนี้จึงเป็นการเลี่ยงบาลี

เพราะที่อ้างว่าเงินจำนวน 300,000 ล้านบาท "ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ" นั้น เป็นเพียงการผลักให้งบประมาณค้างท่อรอเบิกจ่าย เป็นตัวที่จะขาดดุลงบประมาณและรัฐบาลจะต้องกู้แทน

อธิบายแบบชาวบ้าน พี่วางตัวให้ดูเหมือนเป็นคนดี เนรมิตเงินมาให้ครอบครัวใช้ โดยพี่ไม่ต้องกู้ แต่ในข้อเท็จจริง พี่แย่งเงินของน้องมาใช้ เปลี่ยนเป็นให้น้องต้องกู้แทน

สรุปแล้ว ข้ออ้างว่า “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ” จึงเป็นเพียงการเล่นกลตัวเลข ให้ประชาชนเข้าใจผิด

ทำให้ประชาชนคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นพระเอก สามารถเนรมิตเงินให้ประชาชนได้ โดยไม่เพิ่มภาระหนี้ที่ประชาชนจะต้องรับผิดชอบในอนาคต

แต่แท้จริง ก็เป็นการเอาหนี้ของประชาชนในอนาคต มาแจกในปัจจุบันเท่านั้น

ยิ่งกู้หนี้สาธารณะมากขึ้น เพื่อเอาเงินมาแจกประชาชนมากขึ้น จะทำให้ประชาชนดีใจในวันนี้ แต่จะถูกเช็คบิลในวันหน้า

ส่วนการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายอีก 130,000 ล้านบาทนั้น ก็จะทำให้ตัวเลขงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น 130,000 ล้านบาท เช่นกัน

และก็จะต้องกู้หนี้สาธารณะเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น

วิธีเดียวที่รัฐบาลของนายเศรษฐาจะทำโครงการนี้โดย “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง” อย่างแท้จริง

ก็คือ จะต้องลดงบประมาณรายจ่ายรายการอื่นในปี 2567 ลงไปให้จงได้ 560,000 ล้านบาท

ดังนั้น ผมจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แจกแจงตัวเลขว่า จะลดงบประมาณรายจ่ายรายการอื่นในปี 2567 ลงไปให้ได้ 560,000 ล้านบาท หรือไม่ รายการใด

ถ้าไม่มีการลดงบประมาณรายจ่าย ตัดการซื้ออาวุธ ยกเลิกหน่วยงานกองทัพที่ซ้ำซ้อน ฯลฯ

ก็ขออย่าโม้ว่า โครงการเงินดิจิทัลจะ “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง”

เพราะจะเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชนเสียเปล่าๆ

***สอง ข้ออ้างว่าโครงการนี้จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท จริงหรือไม่?

โครงการระบุ ภาษีรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น

“รัฐบาลคาดการณ์ว่าจากการอัดฉีดเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนครั้งใหญ่

คาดว่า เม็ดเงินงบประมาณดังกล่าวนี้จะไปหมุนอยู่ในระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 รอบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท

กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท”

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

ตัวเลขเงินหมุนเวียน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มภาษีให้แก่รัฐบาล 100,000 ล้านบาทนั้น เป็นความฝันแบบยิ่งใหญ่

แต่ในข้อเท็จจริงจะถูกบั่นทอนด้วย 2 ปัจจัย

(ก) คนที่มีฐานะดี และเดิมมีวงเงินใช้จ่ายอยู่แล้ว 10,000 บาท ก็จะใช้เงินดิจิทัล แต่อาจจะไม่ใช้เงินที่เตรียมไว้ 10,000 บาทเดิม

ดังนั้น ยอดหมุนเวียนสำหรับคนกลุ่มนี้ จะไม่สูงอย่างที่คาด

(ข) การใช้จ่ายที่มีสัดส่วนนำเข้า เช่น ใช้เติมน้ำมัน ใช้ซื้อมือถือ ผลประโยชน์ย่อมจะไปตกกับต่างประเทศ

ถ้าหากว่ารัฐบาลเชื่อมั่นอย่างแท้จริงว่า โครงการนี้จะทำให้รายได้ภาษีทุกประเภทเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาทแน่นอน …

รัฐบาลของนายเศรษฐาก็ย่อมจะต้องปรับตัวเลขรายได้งบประมาณปี 2567 เพิ่มขึ้นจากประมาณการรายได้สุทธิเดิมสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท

แต่ที่ปรากฏในข่าว ปรับเพิ่มขึ้นแค่ 30,000 ล้านบาท

ผมจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแจกแจงตัวเลขว่า รายได้ภาษีที่อ้างว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทนั้น …

แบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างละเท่าไหร่

และเหตุใดรัฐบาลของท่านจึงไม่ได้ปรับตัวเลขรายได้งบประมาณปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นจากประมาณการรายได้สุทธิเดิมสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท ตามรายได้ที่อ้าง???

วันที่ 20 กันยายน 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น