xs
xsm
sm
md
lg

เงินดิจิทัล-รถไฟฟ้า 20 บ. กับดักโหดเศรษฐา!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา  ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก ก็มีการออกมาตรการและมีดำริออกมาหลายอย่าง เช่น ลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมันดีเซล ตรึงราคาพลังงานประเภทก๊าซหุงต้ม การพักหนี้เกษตรกร รวมไปถึงปล่อยฟรีวีซ่าให้กับพลเมืองสองประเทศคือ จีน และ คาซัคสถาน และไอเดียการแบ่งจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการเดือนละสองครั้ง หรือ 15 วันครั้ง แม้ว่าเรื่องหลังจะถูกวิจารณ์และมีเสียงไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่รวมๆ แล้ว ถือว่าสร้างความพอใจให้กับชาวบ้าน ที่ลงมือทำทันที

ถือว่าเริ่มต้นได้คึกคักไม่เบา อย่างน้อยก็เป็นการลดค่าครองชีพลงไปได้บ้าง ส่วนหลังจากนี้จะทำให้ราคาสินค้าลดลงมาบ้าง หรือไม่ปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ต้องติดตามกันอีกสักระยะหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการแย้มออกมาจากปากของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า จะมีการพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท โดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องค่าแรงวันละ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ยังไม่มีการพูดถึงแต่อย่างใด

ก็พอเข้าใจได้ว่ามันเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่คิดแล้วทำได้เลย เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก และที่สำคัญ มันเป็นเงินของคนอื่น เช่น ภาคเอกชน ที่เป็นคนจ่าย หรือแม้แต่กระทบไปถึงระบบราชการ ที่ต้องปรับตามให้สอดคล้องกันไปด้วย เชื่อว่า เรื่องดังกล่าวน่าจะประวิงเวลาไปก่อน เพราะอย่างน้อยก็บอกว่า “ทำภายในปี 2570” ยังพอมีเวลาเด้งเชือกได้อยู่พอสมควร

แต่ที่เป็น “งานหิน” จนน่าจะกลายเป็น “กับดัก” ตัวเอง ก็คือ สองนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในเวลานี้ นั่นคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวนกว่าห้าสิบล้านคน คาดว่า ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากกว่า 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ได้ย้ำว่าจะเริ่มแจกเงินได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าเป็นต้นไป หรือ อย่างช้าไม่เกินเดือนมีนาคม

ขณะที่อีกนโยบายหนึ่งที่มักนำมาใช้หาเสียง ก็คือ นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าจะเริ่มดำเนินการเฟสแรกในสองสีก่อน ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง กับ สีม่วง โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

แน่นอนว่า ทั้งสองนโยบายกำลังกลายเป็น “กระแส” ที่ชาวบ้านรอคอยให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย “แจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท” เรียกว่า เวลานี้ชาวบ้านทั่วประเทศ กำลังพูดถึงกันทั่วตลาด ทุกหมู่บ้าน อยากได้เงินดังกล่าวไวๆ หลายคนมีการวางแผนการใช้เงินว่าจะนำไปใช้อะไรกันบ้าง หรือรวมเงินกันไปลงทุนอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อฟังจากฝ่ายรัฐบาลที่ออกนโยบายนี้มา ก็ไม่มีการจำกัดอะไรมากมาย นอกเหนือจากข้อห้ามสองเรื่องคือ สินค้าที่เป็นอบายมุข ชำระหนี้ เท่านั้น เรื่องทำได้หมด ไม่ว่าสินค้าฟุ่มเฟือย ห้างใหญ่ห้างเล็กไม่มีปัญหา เป้าหมายสำคัญคือ ต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน

แต่คำถามก็คือ ที่มาของเงินงบประมาณดังกล่าวจะมาจากไหน เพราะมันจำนวนมหาศาล แม้ว่าที่ผ่านมา ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจะบอกว่า ไม่ไปล้วงออกมาจากกองทุนนั่นนี่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์ กองทุนประกันสังคม ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ไม่ทำลายวินัยการคลัง แต่ก็ไม่แย้มออกมาเลยว่าจะหาเงินจำนวนมากมายมหาศาลมากกว่างบลงทุนของประเทศในปีงบประมาณเหล่านี้มาจากไหน

ล่าสุด วันที่ 14 กันยายน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง นัดแรก พร้อมด้วย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง ทุกแห่ง โดยมอบหมายนโยบายส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เวลาประมาณ 15 นาที

นายเศรษฐา กล่าวภายหลังการประชุม ว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่านโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จะดำเนินการในเรื่องใดบ้าง โดยกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ต้องสนับสนุนในทุกๆ เรื่อง ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ซึ่งเรื่องสำคัญมี 2 เรื่อง คือ 1. การทำนโยบายจะมีการใช้งบประมาณสูง ดังนั้น เรื่องวินัยการเงินการคลัง ต้องมีความสำคัญมาก สามารถตอบสังคมได้ว่า คลังนำงบประมาณไปใช้ในเรื่องใด และในระยะยาวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเป็นอย่างไร ในระดับใดที่มีความเหมาะสม

2. ได้ให้นโยบายผู้บริหารเรื่องวิธีการทำงาน เรื่องของความเป็นธรรมในการทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการที่เราบริหารจัดการราชการ เรื่องระบบเส้นสาย ระบบการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ระบบการปูนบำเหน็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นใจข้าราชการ หลายท่านทุ่มเทการทำงาน เพื่อหวังเลื่อนตำแหน่งใหญ่ การทำงานถ้ามีผลงานที่ดี ก็ควรได้รับการปูนบำเหน็จ

นายเศรษฐา กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า คลังยืนยันว่าแหล่งเงินมีแน่นอน โครงการนี้เกิดขึ้นแน่นอน ทำได้แน่นอน แต่ขอเวลาพิจารณา คาดว่า ไม่เกิน 1 เดือน จะได้ข้อสรุป และชี้แจงให้รับทราบว่า แหล่งเงินที่นำมาใช้ในโครงการจะมาจากไหน ปัจจุบันไม่อยากพูดไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความไม่ชัดเจน ถ้าเกิดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จะถูกกล่าวหาว่าไม่ชัดเจนอีก อยากให้ใจเย็นๆ ซึ่งมีหลายทางเลือก ต้องไปพิจารณาว่าทางไหนเหมาะสมที่สุด และมีผลกระทบในวงกว้างน้อยที่สุด

“เราจะใช้ข้อมูลดาต้าเบสจากแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพราะผ่านการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC เรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้ จะมีการเขียนบล็อกเชนมากำกับ”

ฟังจากคำพูดล่าสุด นายกรัฐมนตรี บอกว่า ภายใน 1 เดือน จะรู้ที่มาของเงินที่นำมาใช่จ่ายโครงการ แต่ก็ยังเก็บงำอยู่ดี อ้างว่าป้องกันความสับสน แต่ที่แย้มให้เห็นเพิ่มขึ้น ก็คือ มีการเชื่อมโยงกับ “แอปเป๋าตัง” ในเรื่องของข้อมูล จากเดิมที่ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน

เอาเป็นว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่นบาท ต้องเดินหน้า โดยต้นปีหน้าจะได้ใช้กัน แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกังวล ก็คือ มันจะได้ผลหรือไม่ มันจะกระตุ้นจีดีพีตามเป้าหมายจริงหรือ จะกลายเป็นการเพิ่มหนี้จนเสี่ยงหายนะทางการคลังของประเทศหรือไม่ เพราะคำพูดล่าสุดที่เพิ่งแถลงออกมาจากปากของ นายเศรษฐา ยังยอมรับว่า นโยบายของรัฐบาล “ต้องใช้เงินงบประมาณสูง” คำถามก็คือ “จะหามาจากไหน” ในเมื่อมันมีจำกัด หากไม่กู้ ไม่สร้างหนี้เพิ่ม

เสียงคัดค้านหากฟังจากคนนอก อาจมองว่าเป็นการขัดแข้งขัดขา ดังนั้น ต้องฟังจากคนในน่าจะเห็นภาพมากกว่า เช่น นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า นโยบายนี้จะสร้างความเสี่ยงในเรื่องการขาดดุลงบประมาณ และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ที่สำคัญมันอาจไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

ส่วนอีกคนก็คือ ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมตรี ได้กล่าวในงานสัมมนา ThaiPublica Forum เวทีปัญญาสาธารณะ 2566 หัวข้อ TRANSFORM THAILAND :สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น? ได้กล่าวถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ว่า ถ้าเป็นตนจะนำเงิน 5 แสนกว่าล้านบาท ใส่เข้าไปในกองทุนหมู่บ้าน ที่ทั้งประเทศมีอยู่ 7 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 6 ล้านบาท เพราะเป็นคนจน เงิน 6 ล้านบาท นี้ ถ้าทำTransition digital change ดีๆ ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในหมู่บ้านรัศมี 4 กม. ถ้าเป็นการแจกเงินเหล่านี้จะหมดไป แต่ถ้าเป็นกองทุนแล้วให้กู้ยืม ดอกเบี้ยจะกลับมาให้รัฐ 2%หรือ 3% 5% ไม่หมดไป ทำให้รัฐมีเงินกลับมา และการใช้งบประมาณก็น้อยมาก จะได้ประโยชน์มากกว่าเงินดิจิทัล ที่จะอยู่ในบล็อกเชนนี้ จะมีการซื้อขายหมุนเวียน ไม่ไปไหน และเงินไม่หมด เงินเป็นแค่ตัวกลางของการแลกเปลี่ยน เพราะถ้าเอาเงินไปให้เขาใช้แล้วจบ เท่ากับเงินย้ายไปอยู่กับคนรวยเหมือนเดิม จากมือคนจนไปสู่มือคนรวย

นั่นคือ เสียงเตือนออกมาจาก “คนกันเอง” ว่า น่าจะมีปัญหาไม่เป็นไปตามเป้าหมายค่อนข้างแน่ แต่ถึงอย่างไรมาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไป ยกเลิกตอนนี้ก็ต้องถูกด่าเปิงแน่ แต่เส้นทางข้างหน้าดูแลมันก็เหมือน “กับดัก” แต่ก็ต้องเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า แค่เรื่อง “เงินดิจิทัล” เรื่องเดียวก็ยังมองเห็นว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องอื่น เช่น ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย มันจะต้องใช้เงินอุดหนุนอีกเท่าไหร่ เวลานี้บวกเลขได้ไม่จบจริงๆ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น