ผู้ว่าฯ ธปท.เข้าพบนายกรัฐมนตรีรับนโยบายให้ดำเนินการภาพรวมกลับปกติ ระบุมาตรการพักหนี้วงกว้างควรใช้ชั่วคราว มองนโยบาย Digital Wallet อาจจะยังไม่เหมาะช่วงนี้ เพราะการบริโภคยังเติบโตต่อเนื่อง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน BOT Digital Finance Conference 2023 ภายหลังจากที่เดินทางเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า นโยบายที่จะดำเนินการให้ภาพรวมกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่ง ธปท.ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพในหลายมิติ โดยเรื่องหนึ่งที่ให้ความเป็นห่วงคือ เสถียรภาพการคลัง เพราะมีตัวอย่างให้เห็นแล้วเช่น ในสหรัฐฯ ที่ถูกลดอันดับเรตติ้ง เพราะไม่ได้ใส่ใจเพียงพอในเรื่องเสถียรภาพการคลัง ทั้งนี้เสถียรภาพการคลังเป็นโจทย์จำเป็นเช่นเดียวกับเสถียรภาพทุกด้าน ซึ่งเหตุผลที่ ธปท.ดำเนินนโยบายมุ่งรักษาเสถียรภาพมาต่อเนื่อง
ส่วนนโยบายพักหนี้ของรัฐบาลต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะทำ ซึ่งเรื่องของการพักหนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ ธปท.ยังคงมีมุมมองเดิมว่า ควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีแต่ไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะใช้ และไม่คิดว่าการพักหนี้อย่างเป็นวงกว้างจะเหมาะสม ซึ่งได้เสนอความเป็นห่วงเรื่องนี้กับทางรัฐบาลไปแล้ว
โดยเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับการพักหนี้ในวงกว้าง เพราะเป็นมาตรการที่เหมาะกับใช้เป็นการชั่วคราว เช่น ในช่วงโควิด-19 ที่มีคนถูกกระทบในวงกว้างก็เหมาะที่จะใช้มาตรการพักหนี้ หลังจากนั้นพยายามถอยออกเพราะการพักหนี้นานไปไม่ดี มาตรการพักหนี้เหมาะกับคนที่มีศักยภาพอยู่แล้วแต่เจอสถานการณ์ชั่วคราวแล้วมีปัญหา หากพักให้แล้วกลับมาได้อาจจะเหมาะกว่า
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของวิธีพักหนี้จะมีเยอะ เช่นหนี้เกษตรกร บางกลุ่มมีศักยภาพอยู่ต้องหาวิธีที่จะทำให้ปิดจบหนี้ให้ได้ แต่หนี้เกษตรบางกลุ่มที่มีจำนวนไม่น้อยเป็นหนี้เรื้อรังปิดจบยาก ลูกหนี้อายุเยอะแล้วยังปิดไม่ได้ กลุ่มนี้พักไปก็ไม่สามารถช่วยได้ ทำให้จบหนี้ยาก ซึ่งเป็นเหตุผลให้ ธปท.พยายามส่งเสริมให้มีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังเพื่อให้จบหนี้ได้
“มาตรการพักหนี้ถูกนำมาใช้ 14 ครั้งในรอบ 8 ปี แต่ผลที่ออกมาค่อนข้างชัดว่าไม่ได้ดีขนาดนั้น มีลูกหนี้ 70% ที่พักหนี้กลายเป็นมีหนี้มากกว่าเดิม คนที่เข้าโครงการพักหนี้มีโอกาสเป็นเอ็นพีแอลสูงมีค่อนข้างเยอะ การพักหนี้เป็นเครื่องมือที่อยู่ในกล่องเครื่องมือของเราแต่ไม่ใช่เครื่องมือหลักที่จะใช้ และไม่ควรใช้ในวงกว้าง สิ่งที่อยากให้ทำคืออยากแก้ปัญหาหนี้ให้จบ การพักหนี้อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาให้พวกเขา”
ขณะที่นโยบาย Digital Wallet นั้น หากมองภาพรวมของบริบทเศรษฐกิจตอนนี้ตัวเลขโดยรวมไม่สวยนัก จีดีพี 1.8% ต่ำว่าที่คาดในไตรมาส 2 แต่ถ้าดูที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจพบว่าการบริโภคฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีทั้งในไตรมาส 2 และไตรมาส 1 ดังนั้น สิ่งที่เศรษฐกิจไทยขาดจริงๆ อาจจะไม่ใช่การบริโภค แต่เป็นหมวดอื่นมากกว่า โดยเฉพาะการลงทุน
“นโยบายที่จะทำรูปแบบเฉพาะกลุ่มน่าจะเป็นสิ่งที่ประหยัดงบประมาณได้มากกว่ากัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะ Need เงินหมื่นบาท”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า การทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัดว่าหากทำมาตรการแล้วภาพรวมของรายจ่าย ภาพรวมของหนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องวินัยการคลังว่าอยู่ในกรอบ เพราะมีให้เห็นในอังกฤษที่เคยจะใช้มาตรการทางภาษีแต่ไม่ชัดเจนในเรื่องงบประมาณ จนทำให้กระทบความเชื่อมั่น ซึ่ง ธปท.ได้ให้ข้อมูลไปแล้วและทางรัฐบาลก็รับฟัง แต่ท้ายสุดเรื่องของนโยบายจะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับฝั่งรัฐบาล
ในเรื่องของรูปแบบนโยบายนั้นต้องรอความชัดเจน หากเป็นรูปแบบเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ให้ความเป็นห่วงเรื่องการเป็น Means of Payment เพราะไม่สนับสนุนให้ Digital Asset เป็นตัวกลางในการชำระเงิน เนื่องจากเป็นการเข้ามากระทบต่อเสถียรภาพด้านระบบชำระเงิน ซึ่งนโยบายดังกล่าวรูปแบบยังไม่ชัดเจน หรือหากเป็น e Money คือระบบในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่อาจจะมีผลต่อเงินเฟ้อหรือผลกระทบการคลัง ซึ่งผลจากนโยบายจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออกมาที่ยังต้องรอดู
“ธปท.ขอยืนยันว่า CBDC ไม่สามารถใช้กับนโยบายนี้ เพราะ CDBC เป็น Pilot to Learn ไม่ได้ Pilot to lunch ยังไม่พร้อมที่จะใช้ในวงเงินจำนวนมากได้”