xs
xsm
sm
md
lg

“พักหนี้เกษตรกร”นโยบายรัฐบาลทำทันที ผนึกกำลัง คลัง ธปท.ร่วมแก้หนี้รักษาฐานเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประชากรของไทยกว่า 40% อยู่ในภาคเกษตร แต่มีรายได้เพียงประมาณ 8% ของ GDP เป็นผลลัพธ์จากการเแก้ปัญหาในภาคเกษตรไม่ถูกจุด จึงทำให้เกษตรกรไทยอยู่ในวงเวียนวัฏจักรของความยากจน ดังนั้นการเกษตรจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการเสียใหม่ ด้วยหลักคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” คือ ผลิตสิ่งที่ตลาดมีความต้องการ มิใช่เพียงเพราะถนัดคุ้นเคย”

รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ชูนโยบายเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาความยากจน ยึดแก้ไขปัญหาประชาชนกลุ่มฐานรากที่เป็นฐานเสียงหลักของพรรค โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญก็คือ การเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะถูกผลักดันให้เกิดขึ้นทันที เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 6 เดือน ประชาชนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีบัตรประชาชน เลข 13 หลัก นับจำนวนคนที่จะได้รับประมาณ 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท จะเป็นเงิน 500,000 ล้านบาท คิดเป็น 3 % ของจีดีพี

อีกนโยบายที่เป็นจุดแข็งในการดูแลฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย คือกลุ่มเกษตรกร ที่เป็นอีกหนึ่งนโยบายหลักสร้างรายได้ของเกษตกรเพิ่มเป็น “3 เท่าภายในปี 2570” จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี เพราะทั้งราคา และผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ เมื่อเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของรายรับ จึงทำให้รายได้เหลือไม่พอต่อการชำระหนี้ และการยังชีพอย่างมีคุณภาพ โดยสร้างระบบยืนยันราคาทำให้ราคาสินค้าเกษตรดี นำนวัตกรรมการเกษตรมาเพิ่มปริมาณผลผลิต และลดต้นทุนการผลิต รายได้ (สุทธิ) ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 3 เท่าของที่เคยได้รับ พักหนี้เกษตรกร 3 ปีทั้งต้น ทั้งดอกทันที เพื่อลดภาระในการทำมาหากินของพี่น้องเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปีด้วยหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”สร้างทางเลือกให้เกษตรกรเพื่อผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการ เปิดตลาดใหม่เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าให้เกษตรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิตใช้นวัตกรรม Blockchain เพื่อประกันราคาสินค้าเกษตรล่วงหน้า สร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรด้วยการให้ราคาผลผลิตที่เกษตรกรควรได้รับ การผ่าตัดภาคเกษตรเริ่มที่การ “เพิ่มอุปสงค์และปรับอุปทานภาคการเกษตร” นำนวัตกรรมมาสนับสนุน การเพิ่มผลิตภาพ การลดต้นทุน การแปรรูปสู่มูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น ยกระดับจนสามารถเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมเป็นการเกษตรก้าวหน้า

ประกาศเร่งพักหนี้เกษตรกรพร้อมทำทันที

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศเร่งดันนโยบาย พักหนี้เกษตรกร มอบหมายให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปดูเรื่องของขั้นตอนต่าง ๆ โดยประสานงานใกล้ชิดกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้นโยบายมีผลเป็นรูปธรรมได้ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 เพราะเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ให้คำมั่นสัญญากับเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงให้พรรค นโยบายเบื้องต้นต้องการที่จะลดภาระให้เกษตรกร มีเวลาไปพื้นฟูตัวเอง ไปทำมาหากินโดยไม่ต้องพะวงกับเรื่องหนี้สิน จะได้มีขวัญและกำลังใจในการหารายได้ เลี้ยงดูตังเองและครอบครัว

ขณะนี้กำลังพิจารณารายละเอียดว่าจะพักหนี้จำนวนเท่าไร นานเท่าไรและอย่างไร แต่จะมีการพักทั้งต้นและดอก การลดหนี้ชั่วคราวเป็นการบรรเทาความทุกข์ เป็นการฟื้นฟูจิตใจให้มีขวัญและกำลังใจ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการเพิ่มรายได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็ต้องเร่งทำควบคู่กับเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะให้ให้ประชาชนมีกำลังการจับจ่ายเพิ่มขึ้น กระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน เป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้าระบบ กระตุ้นเศณษฐกิจให้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ธ.ก.ส.ขานรับพักหนี้เกษตรกร 3 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้รับการประสานจากกระทรวงการคลัง ถึงนโยบายการพักหนี้เกษตรกรของรัฐบาลแล้ว ซึ่งธนาคารก็ได้มีการเตรียมข้อมูลและรายละเอียดของลูกค้าไว้ ทั้งข้อมูลกลุ่มธุรกิจ อายุ มูลหนี้ และอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เพื่อนำเสนอรัฐบาล เป็นแนวทางที่ ธ.ก.ส.ทำมาแล้วบ้าง และกำลังจะดำเนินการ รวมถึงแนวทางใหม่ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล รวทถึง ผลกระทบเมื่อดำเนินการแล้ว เช่น​ จะพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้น​ หรือ​พักชำระทั้งดอกเบี้ย มีส่วนนี้จะกระทบกระแสเงินสด​ ถ้าเกิดพักชำระเงินต้นแต่ดอกเบี้ยไม่เดินหน้าจะกระทบงบการเงินของธนาคาร​

"ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลให้ชัดเจนว่าจะมีการพักหนี้เฉพาะเงินต้น หรือพักดอกเบี้ยด้วย หากพักดอกไม่เดินจะกระทบงบการเงินของธนาคาร ซึ่งจะต้องคุยรายละเอียดร่วมกันอีกครั้ง โดยธนาคารมีฐานข้อมูลที่เตรียมไว้ เช่น จำนวนลูกค้าดอกเบี้ย และอายุแล้ว แต่ต้องคุยกระทรวงการคลังว่าหากดำเนินการจะมีผลอะไรบ้าง ทั้งมิติลูกค้ากระแสเงินสด และหนี้เสียด้วย"

ปัจจุบันธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 8.46% มูลหนี้ 1.37 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมายลดหนี้เสียลงมาในสิ้นปีบัญชี 2566 นี้ อยู่ที่ระดับ 5.5% คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้คงค้าง 1.6 ล้านล้านบาท โดยได้นำเครื่องมือในการบริหารสินเชื่อมาใช้จัดการระบบ เพื่อจัดการหนี้เสีย และจะเข้าไปสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระหนี้ระหว่างทางของลูกค้า และเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย เป็นต้น นอกจากนี้ ตั้งเป้าในปีบัญชี 2566 ปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้แค่ 35,000 ล้านบาท โดยมุ่งขยายสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่

ธปท.ออกมาตราการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ปัญหาหนี้สินของประชาชน เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาหลักของทุกรัฐบาลที่พยามแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้เวลา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง แตะระดับ 90 % ของจีดีพี โดยหารือกับสถาบันการเงินที่กำกับดูแล สถาบันการเงินทุกแห่ง ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจ รวมถึงขยายวงกว้างไปยังกลุ่มนอนแบงก์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ล่าสุดได้ออก "แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน" (Directional Paper) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทยและสื่อสารหลักการแก้ปัญหาหนี้ที่ต้องทำอย่างครบวงจรและถูกหลักการ ซึ่งต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนนั้น

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลให้รายได้ของลูกหนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น ขณะที่รายได้ลูกหนี้บางกลุ่มยังฟื้นตัวช้า ธปท. จึงออกมาตรการที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนให้ตรงจุดและยั่งยืนขึ้น โดยจะยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้ ได้แก่ (1) หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้ (2) หนี้เรื้อรัง ให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ (3) หนี้ใหม่ ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และ (4) หนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้ โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt)

นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) โดยมาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมด้านสินเชื่อที่ดี โดยจะยังไม่มีการยกเลิกหรือขยับเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นการทั่วไป

สำหรับมาตรการ DSR ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ให้ลูกหนี้มีรายได้หลังชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน (เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการอาจพิจารณาให้สินเชื่อได้เกิน DSR ที่กำหนดได้ หากแสดงให้เห็นได้ว่าลูกหนี้มีความสามารถเพียงพอที่จะชำระหนี้ เพื่อลดโอกาสที่ลูกหนี้บางส่วนอาจต้องออกไปนอกระบบ ในเบื้องต้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการนี้ในปี 2568 โดยจะประเมินสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งการบังคับใช้มาตรการ จะต้องสื่อสารล่วงหน้าให้ประชาชนและผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับตัว มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ช่วยแก้ปัญหาหนี้เดิม ดูแลหนี้ใหม่ และทำให้หนี้ครัวเรือนไทยลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน

ปัญหาหนี้สินของประชาชน เป็นปัญหาหลัก หนี้ครัวเรือน เป็นกรอบใหญ่ที่มีหนี้เกษตรกรรวมอยู่ด้วย ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงการ จนกลายเป็นนโยบายหรือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกรัฐบาลต้องแก้ไข เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาล กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเอกชนและสถาบันการเงินรัฐ ทุกฝ่ายประสานงาน หารือเร่งแก้ไข มีความเห็นตรงกัน รวมมือทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนด้วยความยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น