เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าจะมีการสรุปออกมาค่อนข้างตรงกันว่า การอภิปรายนโยบายรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน ในช่วงวันที่ 11-12 กันยายน ที่ผ่านมา ถือว่า ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก อาจเป็นเพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังใหม่ ไร้ประสบการณ์การอภิปรายในสภา ส่วนใหญ่เท่าที่มองเห็นมักจะออกมาในรูปของการ “สร้างปมเด่น” ชวนทะเลาะในที่ประชุมมากกว่า
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงท่าทีและโวหาร กลับกลายเป็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในจุดน่าโฟกัสมากกว่า โดยเฉพาะการอภิปรายประเดิมฝ่ายค้านของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ทำให้มีคำพูดว่า พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะหวนกลับมาอยู่ในบทบาทที่ควรจะเป็นก็ได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายนโยบายรัฐบาล ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านของประชาชน ตรวจสอบการบริหารอย่างเต็มความสามารถ โดยจะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง แต่จะไม่ค้านทุกเรื่อง รักษาประโยชน์สูงสุดของประเทศ ส่วนการทำงานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น คือ แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ยืนยันไม่สนับสนุนการแตะต้อง มาตรา 112 แต่จะทำงานร่วมกับฝ่ายค้านอื่นๆ อย่างเต็มความสามารถ
นายจุรินทร์ มองว่า มาตรฐานของนโยบายชุดนี้ “สวนทางกับความสูงท่านนายกฯ” การตั้งโจทย์ประเทศ ก็คลุมเครือ ตัวนโยบายเลื่อนลอย ขาดความชัดเจน ฟุ่มเฟือยด้วยวาทกรรม วนไปวนมา กลายเป็นนโยบายน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง นโยบายที่แถลงกับที่หาเสียง เป็นหนังคนละม้วน ไม่ตรงปก เช่น นโยบายเงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท อยู่ๆ ก็เป็นนโยบายนินจา หายไปแบบไร้ร่องรอย หรือคิดว่าอย่างไร รัฐบาลก็อยู่ไม่ถึงปี 2570 ตามที่หาเสียงไว้ เช่นเดียวกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ที่เป็นนโยบายนินจาตัวที่ 2 นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำทันที ก็หายไป รถไฟฟ้าไปจอดหลับอยู่ที่ไหน จนนักข่าวทนไม่ไหว ตามไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็อึกอักๆ บอกว่า อีก 2 ปีจะทำ
ส่วนนโยบายเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จะเอางบประมาณมาจากที่ใด ขณะที่นโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ตอนนี้เหลือเป็น ผู้ว่าฯ CEO รวบอำนาจมาสู่การปกครองส่วนภูมิภาค ย้อนหลังไป 20 กว่าปี ที่พูดมามองว่าเป็นแค่ลมปากตอนหาเสียง ต้องมีความรับผิดชอบ อย่าให้เหมือนตอนไล่หนูตีงูเห่า สุดท้ายทั้งหนูและงูเห่า มาอยู่ด้วยกัน และกลายเป็นนโยบายการละคร
สำหรับนโยบายด้านการเกษตร แม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศว่าไม่มีนโยบายจำนำข้าว ถือเป็นเรื่องดี เพราะโครงการนี้สร้างหนี้รวม 884,000 ล้านบาท ยังต้องใช้หนี้อีก 254,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2566 อีกทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่มีการชี้แจงที่มาของเงินที่ชัดเจน ยังไม่มีข้อสรุป แปลว่า เป็นนโยบายไปตายเอาดาบหน้า
หากโฟกัสเฉพาะเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต แจกหัวละ 1 หมื่นบาท กลายเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามทั้งจากฝ่ายค้าน และ ส.ว.ในเรื่อง “ที่มาของเงิน” ที่จะนำมาแจกนั้นจะมาจากไหน จะต้อง “กู้เพิ่ม” หรือไม่ ฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะทั้ง นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน รวมไปถึง นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งที่มีส่วนร่วมกับนโยบายดังกล่าว ก็ยังไม่มีคำตอบ มีแต่คำว่า “เพื่อความหมาะสม” และห้ามไม่ให้พูดกันตอนนี้ อ้างเกรงว่าจะสับสน
โดย นายเศรษฐา ได้กล่าวชี้แจงช่วงหนึ่งถึงนโยบายเร่งด่วน 4 ข้อ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม 2. ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน จะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทันที จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ
3. ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อสร้างงานให้ประชาชนจำนวนมาก 4. การแก้ปัญหาความเห็นแตกต่างเรื่องรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มีรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ รัฐบาลจะหารือแนวทางทำประชามติ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบกติกาที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัย เป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง โปร่งใส
แน่นอนว่า แต่ละนโยบายหลักๆ ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ล้วนต้องใช้งบประมาณมหาศาล เอาแค่เรื่องเดียวก่อนนั่นคือ นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หากทำจริงต้องใช้เงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็หัวหมุนแล้ว และจนถึงบัดนี้ ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ที่ควบเก้าอี้ รมว.คลัง ก็ยังไม่บอกที่มาของเงิน ว่าจะนำมาจากไหน ดังนั้น การที่บอกว่าจะเริ่มใช้ตั้งแต่ไตรมาสแรก นั่นคือ ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ทำให้ต้องติดตามกันว่า จะมีการ “เล่นแร่แปรธาตุ” กันแบบไหน
นี่ยังไม่นับเรื่อง“พักหนี้” ค่าแรงวันละ 600 บาท ที่ล่าสุด บอกว่าจะขึ้นให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะค่าแรงวันละ 400 บาทก่อน แต่เรื่องเงินเดือนปริญญาตรีเดือน 25,000 บาท ที่ยังพูดไม่ชัดว่าจะปรับเมื่อใดกันแน่ ส่วนค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จากเดิมที่เขียนเป็นนโยบายว่าทำทันที มาเป็นทำภายใน 2 ปี และล่าสุดบางสาย เช่นสีแดง กับสีม่วง จะทำในต้นปีหน้า ซึ่งทุกโครงการ ต้องใช้เงินจำนวนมาก คำถามเดิมก็คือ “เอาเงินมาจากไหน”
ทำให้นโยบายหลายสิ่งหลายอย่างของพรรคเพื่อไทยเวลานี้ กำลังถูกตั้งคำถามดังมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่อง “ที่มาของเงิน” และทำได้หรือไม่ เพราะหากไม่มีเงิน มันก็เป็นเรื่องยากที่จะเป็นจริงได้ และยิ่งมีการยืนยันว่า “ไม่มีการกู้เพิ่ม” ไม่ขายสมบัติชาติ ไม่ใช้เงินกองทุน มันก็ยิ่งน่าจับตายิ่งขึ้นไปอีก ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรกับการหาเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวมาขับเคลื่อนนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากเท่าที่มองเห็นเวลานี้ มันก็พอคาดการณ์ได้ถึงแนวโน้มของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน ว่า “น่าจะอ่วม” เมื่อมองจากปัจจัยรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เพราะทั้งสองอย่าง มันเชื่อมโยงกันแบบแยกกันไม่ออก เหมือนกับเวลานี้ที่เครื่องยนต์ในเรื่องการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเศรษฐกิจต่างประเทศไม่ดี พวกเขาก็มาเที่ยวน้อยลง ใช้จ่ายต่อหัวน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่ได้ตามเป้า เป็นต้น ส่วนการส่งออกก็ติดลบมานานนับสิบเดือนแล้ว เหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ก็คือ ต่างประเทศไม่ค่อยมีกำลังซื้อเหมือนเดิม เป็นต้น
แม้ว่าเศรษฐกิจในเวลานี้ อาจจะไม่ใช่วิกฤตแบบช่วงโควิด สามปีซ้อน แต่มันก็ยังไม่ฟื้นขึ้นเหมือนเดิม แค่พอเดินได้ แต่เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งทำผลงานให้เหนือกว่าคนอื่น ประเภทที่คุยโต “คิดใหญ่ ทำเป็น” แต่ถึงอย่างไรมันก็เลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องใช้เงินมหาศาล แต่ปัญหาก็คือ จะหามาจากไหน ซึ่งมองไม่เห็นทางอื่นนอกจากต้อง “กู้” หรือแก้กฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะ สรุปรวมๆ แล้ว “อ่วม” แน่นอน!!