xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ติงแก้พลังงานยังไม่เป็นธรรมกับประชาชน นายทุนยังกินกำไรส่วนเกินเหมือนเดิม หวัง “พีระพันธุ์” เสนอแก้ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ติง รัฐบาลแก้ปัญหาพลังงานยังไม่เป็นธรรมกับประชาชน คุมราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท พร้อมตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงแค่สิ้นปี 66 แต่ไม่ปรับโครงสร้างราคา ไม่กล้าแตะต้องผลประโยชน์นายทุน ประชาชนยังต้องรับภาระในอนาคต ทางแก้ต้องเลิกอ้างอิงราคานำเข้าจากต่างประเทศ เลิกใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุน ทำให้กำไรส่วนเกินยังเป็นของกลุ่มทุนเหมือนเดิม เชื่อ “พีระพันธุ์” มีประชาชนอยู่ในหัวใจ จะเสนอแก้ให้เป็นธรรมต่อไป

วันที่ 13 กันยายน 2566 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความคิดเห็นต่อมาตรการลดราคาพลังงานของรัฐบาล ดดยมีรายละเอียดระบุว่า รัฐบาลแก้ปัญหาพลังงานยังไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน

ตามที่เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ครม.ของ นายเศรษฐา ทวีสิน มีมติให้แก้ปัญหาราคาพลังงาน
1. น้ำมันดีเซล
ลดราคาน้ำมันดีเซลลดลงไปไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น
ผมขอแจ้งให้พี่น้องประชาชนรับทราบว่า เป็นนโยบายที่ช่วยประชาชนอยู่บ้าง แต่ยังไม่ปรับโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลเป็นการเน้นประโยชน์ของนายทุนธุรกิจพลังงานมากกว่าของประชาชน
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้น ต้องแก้ที่โครงสร้างการแบ่งผลประโยชน์ในธุรกิจ เพื่อคืนกำไรให้แก่ประชาชนมากขึ้นเสียก่อน
แต่มติที่ออกไปนั้น ท่านนายกกลับยังไม่กล้าไปแตะต้องผลประโยชน์ของนายทุน

นโยบายดังกล่าวมีข้อด้อยดังต่อไปนี้

1.1 ประชาชนยังมีภาระอยู่ต่อไปในอนาคต
การลดภาษีสรรพสามิตนั้นทำได้เพียงชั่วคราว เพราะรัฐบาลต้องมีรายได้เอาไปใช้หนี้สาธารณะ ส่วนการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ก็เพิ่มหนี้สินที่ประชาชนมีภาระต้องจ่ายในอนาคต

“อธิบายง่ายว่า รมว.คลังทำให้ประชาชนดีใจ คิดว่าได้ของฟรีจากรัฐบาล แต่แท้จริงประชาชนต้องควักกระเป๋าชำระหนี้ภายหลัง”

1.2 ขาดดุลงบประมาณจะหนักขึ้น
นโยบายนี้จะทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้น
ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีคลังจึงจะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบว่า ท่านจะหาแหล่งเงินใดมาชดเชยขาดดุลงบประมาณ?

1.3 ไม่แก้ปัญหาแบบยั่งยืน
วิธีแก้ปัญหาแบบยั่งยืนนั้น จะต้องแก้ที่โครงสร้าง โดยลดผลประโยชน์ของโรงกลั่น ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก เพื่อคืนกำไรให้แก่ประชาชนมากขึ้นกว่าปัจจุบัน
ท่านนายกในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช) และ รมว.คลังกลับไม่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
การจะลดภาษีสรรพสามิต และการจะเพิ่มภาระให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น ควรจะทำภายหลังปรับโครงสร้างธุรกิจเสียก่อน

2. ก๊าซหุงต้ม (LPG)
ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นั้น วิธีนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ฉาบฉวย ขอไปที ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

2.1 ต้นตอปัญหา เกิดจากกำหนดก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศไทย แต่กลับไปอ้างอิงราคาเสมือนนำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย
ปัญหานี้ เกิดเพราะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปเปลี่ยนราคาก๊าซ LPG ของครัวเรือนที่ผลิตในประเทศ จากเดิมมีระบบเพดานคุม
กลับเปลี่ยนไปใช้อ้างอิงราคาเสมือนนำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย อันเป็นต้นตอปัญหาทำให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) แพงขึ้นอย่างมาก
ซึ่งเลียนแบบจากราคาน้ำมัน ที่ไปอ้างอิงราคาเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ ทั้งที่โรงกลั่นอยู่ในประเทศไทย

2.2 ต้องเลิกใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน
เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เห็นว่าครัวเรือนเดือดร้อน ก็แก้ปัญหาแบบ “ลิงแก้แห” โดยเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน เอาเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อไปอุดหนุนราคาก๊าซแก่ครัวเรือน
“อธิบายง่ายว่า เป็นการบีบบังคับให้คนที่ใช้น้ำมัน ต้องควักกระเป๋าไปช่วยคนใช้ก๊าซ เป็นนโยบาย “อัฐยายซื้อขนมยาย””
ถ้ารัฐบาลของนายเศรษฐา ไม่ใช้ความกล้าหาญยกเลิกการอ้างอิงราคาสมมติเหล่านี้ รัฐบาลนี้ก็จะต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนราคาก๊าซอีกต่อไปไม่มีวันจบสิ้น

2.3 วิธีแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จะต้องยกเลิกการกำหนดราคาก๊าซและน้ำมันที่กลั่นได้ในประเทศ แต่ไปอ้างอิงเสมือนกลั่นในต่างประเทศแล้วนำเข้าที่สร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร ซึ่งไปสร้างกำไรเพิ่มให้กลุ่มทุนโดยไม่ต้องแข่งขัน
ควรเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบเพดานควบคุมตามต้นทุนก๊าซในประเทศเหมือนเดิม ซึ่งย่อมจะกระทบกำไรส่วนเกินของบริษัทธุรกิจก๊าซอยู่บ้าง แต่รัฐบาลก็ควรจะมีความกล้าหาญทำเช่นนี้

มติ ครม.นี้ ถึงแม้ช่วยตรึงราคา ถึงแม้ประชาชนได้ประโยชน์ในวันนี้ แต่ประชาชนก็มีภาระต้องชำระหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง ด้วยมตินี้ กำไรส่วนที่เกินพอดีของกลุ่มทุนพลังงานยังคงอยู่เช่นเดิม

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้ประกาศในการแถลงนโยบายรัฐบาลที่รัฐสภา จะว่าให้ความสำคัญแก่ประชาชนมากกว่าธุรกิจพลังงาน
มติ ครม.ทั้งสองเรื่องนี้ ยังไม่ตรงกับคำพูดของท่าน
แต่ผมเชื่อว่า ท่านมีประชาชนอยู่ในหัวใจ และท่านจะเสนอแก้ไขเพื่อให้เป็นธรรมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น