สภาองค์กรผู้บริโภคแนะแนวทาง "เศรษฐา" ลดค่าพลังงานแบบยั่งยืนไม่โยนภาระให้ประชาชนแบกรับ ชี้ช่องใช้มติ กพช.เคาะกำหนดให้บริษัทปิโตรเคมีต้องใช้ราคา Pool Gas ชี้ 2 ปีเคลียร์หนี้กฟผ.หมด ส่วนราคาน้ำมันจี้ให้คุมค่าการตลาด ราคาหน้าโรงกลั่นให้เหมาะสมไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่สภาองค์การนายจ้างแนะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มลดภาระรัฐ ด้านผู้ประกอบการรถบรรทุกอยากเห็นดีเซล 28 บาทต่อลิตร
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. และอนุกรรมการบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรผู้บริโภค เปิดเผยถึงกรณีที่มาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” เตรียมประกาศทันทีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ว่า ต้องการเสนอให้รัฐบาลได้พิจารณาแนวทางการลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าให้ประชาชนแบบยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงลดแบบโปรโมชันเสร็จแล้วก็จบไปภาระยังคงตกอยู่กับประชาชนเช่นที่ผ่านๆ มา โดยในส่วนของการลดค่าไฟนั้นหากใช้แนวทางการยืดหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปท้ายสุดประชาชนก็ต้องจ่ายหนี้ที่แถมต้องเพิ่มดอกเบี้ยอีกในอนาคต
“แนวทางหนึ่งที่อยากเสนอเพราะท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่สามารถออกมติในการนำเสนอ ครม.และสร้างประวัติให้กับพรรคได้อย่างดีคือ กำหนดให้บริษัทปิโตรเคมีที่ได้รับสิทธิพิเศษซื้อก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาต่ำหันมาใช้ราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคาที่รวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ ด้วย แล้วนำก๊าซฯ นี้มาลดค่าไฟได้ราว 4 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็นการลดค่าไฟลงได้ราว 20 สตางค์ต่อหน่วย เพียง 2 ปีก็ใช้หนี้ กฟผ.ได้หมด” น.ส.รสนากล่าว
ส่วนการลดราคาน้ำมันนั้นขอให้ปรับลดทั้งดีเซลและกลุ่มเบนซินไม่ใช่ลดเฉพาะดีเซลเพราะถือว่าไม่ยุติธรรม และแนวทางที่ยั่งยืนคือการดูโครงสร้างราคาที่ต้องควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไป ทั้งราคาเนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาด ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มเบนซินมีค่าการตลาดที่สูงมากโดยเฉลี่ยควรจะอยู่ราว 2 บาทต่อลิตร หากเป็นดังนี้แล้วราคาขายปลีกจะลดได้ถึง 1 บาทต่อลิตร เป็นต้น
“กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีบทบาทดูแลราคาไม่ให้สวิงเกินไปเมื่อราคาตลาดโลกสูง แต่ก็พบว่ากองทุนน้ำมันฯ เองมีการอุดหนุนราคาดีเซลแต่เบนซินก็เก็บเพิ่มแล้วปล่อยให้ขึ้นลงตามตลาดโลกทำให้เกิดโครงสร้างราคาที่บิดเบือน อย่างไรก็ตาม การลดราคานั้นเห็นว่าเวลานี้ควรจะลดให้ภาพรวมไม่ควรลดเฉพาะกลุ่มเพราะประชาชนมีสิทธิที่พึงจะได้การดูแลจากรัฐเท่ากัน” น.ส.รสนากล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การลดค่าพลังงานนั้น ถือเป็นนโยบายที่ทำตามการหาเสียงไว้กับประชาชนช่วงเลือกตั้ง แต่ภายใต้งบประมาณหรือเม็ดเงินที่รัฐมีจำกัดนั้นการลดราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและน้ำมันรัฐต้องมุ่งเน้นแก้ไขที่ยั่งยืนเป็นสำคัญเพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายไป โดยอาจเลือกลดเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เช่น ค่าไฟอาจลดให้เฉพาะผู้ที่ใช้ไฟไม่เกินกี่หน่วยต่อเดือน เช่นครัวเรือน ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)
สำหรับการลดดีเซลแม้ว่าตนจะทำธุรกิจด้านโลจิสติกส์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะลดราคาลงมาแต่กลับมองว่าทำอย่างไรจะตรึงราคาปัจจุบันคือ 31.94 บาทต่อลิตรไปให้นานที่สุดเพราะระดับนี้ทุกฝ่ายก็รับได้ แต่หากลดราคาลงมาต้องมองว่าทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงได้หรือไม่ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าจะไม่ปรับลดแต่อย่างใด และตรงกันข้ามเมื่อราคาตลาดโลกปรับขึ้นดีเซลจะมีการขึ้นอีกครั้งถึงตอนนี้ราคาสินค้าจะอ้างปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ดังนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จ่ายอุดหนุนดีเซลราว 5.92 บาทต่อลิตร (ณ วันที่ 4 ก.ย.) หากรัฐลดราคาผ่านการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลจึงควรจะนำเงินนี้ไปใส่ในกองทุนฯ เพื่อไว้ใช้ยามที่ราคาดีเซลแพงจะดีกว่า
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายจะปรับลดค่าพลังงานเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดในส่วนของดีเซลว่าจะลดลงเท่าใด ซึ่งหากทำได้จริงก็อยากเห็นลิตรละ 28 บาท โดยเมื่อลดราคาแล้วทางผู้ประกอบการก็พร้อมลดค่าขนส่งเช่นกัน แต่หากจะถามว่าราคาสินค้าทำไมไม่ลดคงเป็นหน้าที่รัฐบาลจะต้องไปดูแลเอง