xs
xsm
sm
md
lg

20 องค์กรยื่นผู้ตรวจฯ สอบ ก.พลังงาน-คลัง เมินคุมค่าการตลาดน้ำมันทำ ปชช.เดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาค ปชช. 20 องค์กร ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบ ก.พลังงาน- คลัง ละเลยไม่ควบคุมค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ทำประชาชนเดือดร้อนใช้นำมันแพง-ค่าครองชีพสูง


วันนี้ (30 ส.ค.) สภาองค์กรของผู้บริโภค และตัวแทนองค์กรภาคประชาชนรวม 20 องค์กร นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง กรณีละเลยไม่ควบคุมค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ จนทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันกลุ่มดังกล่าวเฉลี่ยสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องมานับแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน กระทบสิทธิเกิดความเสียหายกับผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน นางรสนา กล่าวว่า รมว.พลังงาน ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 66 ว่าค่าการตลาดของค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ให้อยู่ที่ 2 บาทต่อลิตร แต่ปรากฏว่า ตั้งแต่การประกาศของรมว.พลังงาน ค่าการตลาดไม่เคยอยู่ที่ราคา 2 บาท บวกลบ 40 สต. แต่เกินไปที่ 3 บาท หรือบางครั้งจะทะลุไปถึง 5 บาท ซึ่งจริงๆ แล้ว ค่าการตลาดที่เหมาะสมมีการกำหนดมาแล้วเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 2563 แต่ไม่เคยมีการทำตามและเก็บเกินมาตลอด


น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันน้ำมันกลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ ทุกชนิดมียอดขายรวมกันประมาณ 30 ล้านลิตรต่อวัน อาจอนุมานได้ว่าผู้ใช้น้ำมันกลุ่มนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินสมควรรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทต่อวัน หรือ 900 ล้านบาทต่อเดือน และหากนับช่วงเวลาตั้งแต่ ม.ค.- ก.ค. 66 จากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เก็บข้อมูลคาดว่าผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มนี้ จะต้องเสียประโยชน์จากการกระทำละเลยของกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 6,300 ล้านบาท ซึ่งสภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าหน่วยงานรัฐจะต้องจัดให้มีกลไกและวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการดูแลควบคุมไม่ให้ผู้บริโภคไม่ได้รับกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ จึงต้องมาร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบเรื่องนี้

“การที่กระทรวงพลังงาน อ้างว่า เอากลุ่มเบนซินมาเฉลี่ยกับกลุ่มดีเซลไม่สามารถทำได้ เพราะเมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2.46 บาท ซึ่งสูงกว่า 2 บาท ที่ได้เคยกำหนดเอาไว้ สุดท้ายแล้วการเฉลี่ยค่าการตลาดข้ามกลุ่มจึงเป็นการดำเนินการไม่เหมาะสมเพราะว่ากลุ่มที่รับภาระมากก็คือกลุ่มของน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ ซึ่งกลุ่มนี้หมายรวมถึง คนที่ใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ภาคการเกษตร ชาวประมงชายฝั่งบางกลุ่มด้วย กลุ่มเหล่านี้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องมายื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 ตรวจสอบทั้งกระทรวงพลังงาน กบง. คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ซึ่ง รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ รวมถึงกระทรวงการคลัง ว่าได้ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมราคาค่าการตลาดเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้บริโภคหรือไม่”


ส่วนที่มีข้ออ้างว่าค่าการตลาดเป็นไปตามกลไกเสรีนั้น เห็นว่า สิ่งที่สำคัญกว่า คือ บริษัท ปตท. มีส่วนแบ่งของปั๊มน้ำมันขายปลีกอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของตลาดทั้งหมด และ ปตท.มีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 51 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น กระทรวงการคลังและ ครม. ควรที่จะมีการกำชับให้ ปตท.ปฏิบัติตามค่าการตลาดที่เหมาะสม หากทำได้จะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนไม่ต้องใช้น้ำมันราคาแพง เพราะทุกวันนี้น้ำมันปรับขึ้นแทบวันเว้นวัน เฉพาะในช่วงเดือน ก.ค.ปรับขึ้นถึง 2.80 บาท และถ้ารวมมาถึงเดือน ส.ค.ปรับขึ้นมาเกิน 3 บาทต่อลิตร จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะเมื่อน้ำมันปรับราคาขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นตามไป เรื่องเหล่านี้เราพยายามเรียกร้องกระทรวงพลังงานมาแล้ว แต่ไม่ได้ผล จึงต้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ และมีคำแนะนำไปยังหน่วยงานเหล่านี้ให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น