สิ้นสุดมาตรการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. 31 ส.ค.นี้ รอลุ้น "กบน." เคาะตรึงต่อเพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชน ขณะที่ดีเซลกองทุนฯ ควักอุ้มทะลุ 5 บาทต่อลิตรหลังราคาตลาดโลกยังขยับต่อเนื่องแต่กัดฟันตรึงราคาไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรหวังรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เปิดเผยว่า กบน.เร็วๆ นี้เตรียมที่จะพิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG สำหรับถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ที่อยู่ในระดับ 423 บาทต่อถังซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค. โดยจะมีการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งราคา LPG ตลาดโลก ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และรวมไปถึงค่าครองชีพประชาชนประกอบการตัดสินใจว่าจะมีการตรึงราคา LPG ในอัตราดังกล่าวต่อไปหรือไม่อย่างไร
“กบน.เมื่อ 30 มิ.ย. 66 ได้เห็นชอบขยายมาตรการตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กก. อีก 2 เดือน มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค.-31 ส.ค.ซึ่งใกล้จะครบกำหนด ดังนั้น กบน.จึงต้องมาพิจารณาทบทวน โดยราคา LPG ตลาดโลก 2 สัปดาห์มีการปรับขึ้นมากโดยเฉลี่ยจาก 400 กว่าเหรียญสหรัฐต่อตันมาอยู่ที่กว่า 500 เหรียญต่อตัน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ซึ่งถือเป็นกองทุน 2 ต้องจ่ายชดเชยล่าสุดอยู่ที่ 4.39 บาทต่อ กก. แต่รายได้จากกองทุน 1 เมื่อรวมแล้วยังคงเป็นบวก หากมองในแง่ค่าครองชีพประชาชนก็มีโอกาสที่จะตรึงต่อแต่จะ 1 เดือนหรือมากกว่านี้คงต้องหารือใน กบน.” แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2566 มีฐานะสุทธิติดลบ 53,087 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ติดลบ 44,723 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันติดลบ 8,364 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกโดยเฉพาะดีเซลมีการปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้ล่าสุดกองทุนน้ำมันฯ ได้อุดหนุนดีเซลเฉลี่ยที่ลิตรละ 5.65 บาท (ณ วันที่ 28 ส.ค.) ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง แต่ทาง กบน.ยังคงพยายามที่จะตรึงดีเซลให้อยู่ในระดับไม่เกินลิตรละ 32 บาทต่อไปเพื่อรอนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจนก่อนการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
ทั้งนี้ กบน.ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกใกล้ชิดเนื่องจากยอมรับว่ามีความกังวลในแง่ของแนวโน้มในช่วงสิ้นปีที่ทางภูมิภาคตะวันตกจะเข้าสู่ฤดูหนาวที่ทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานในการทำความอบอุ่นจำนวนมากที่จะมีผลให้ราคาทั้งน้ำมันและ LPG อยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่กองทุนฯ แม้ว่าจะมีเงินกู้นำมาใช้อุดหนุนราคาน้ำมันได้จากเงินกู้ที่บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาทใช้ไปแล้ว 5.5 หมื่นล้านและเหลืออีก 5.5 หมื่นล้านบาทแต่ก็ต้องรอทิศทางนโยบายจากรัฐบาลใหม่ประกอบการพิจารณาด้วย
“หากราคาดีเซลตลาดโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นในสิ้นปีและรัฐต้องการที่จะตรึงราคาดีเซลไม่ให้สูงไปกว่านี้ก็คงจะต้องมาดูปัจจัยต่างๆ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้เตรียมแนวทางไว้แล้วในการเสนอ รมว.พลังงานคนใหม่ โดยยอมรับว่ามาตรการหนึ่งที่สำคัญคือการช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังในเรื่องของการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล” แหล่งข่าวกล่าว