xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฯ ควักอุ้มดีเซล 5.93 บาท/ลิตร ลุ้นน้ำมันโลกชี้ชะตาตรึงราคา 32 บาทนานแค่ไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานเกาะติดราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกใกล้ชิดหลังทะยานพุ่งสูงทำให้อัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดแตะ 5.93 บาทต่อลิตรแล้วเพื่อพยุงราคาขายปลีกไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร ยอมรับสภาพคล่องกองทุนฯ ยังคงเหลือพอดูแล แต่หากดีเซลทรงตัวสูงเช่นปัจจุบันอาจดูแลได้ไม่นาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะบริหารจัดการโดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลรักษาระดับดีเซลราคาขายปลีกให้คงอยู่ในระดับไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรเพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยล่าสุด กบน.ได้บริหารจัดการอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ล่าสุดกองทุนน้ำมันฯ ได้อุดหนุนราคาดีเซล ณ วันที่ 12 สิงหาคมอยู่ที่อัตราลิตรละ 5.93 บาทต่อลิตร

“กบน.เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ได้เห็นชอบให้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนราคาดีเซลเพิ่มเติมอีก 0.96 บาทลิตร ส่งผลให้การอุดหนุนดีเซลมาอยู่ที่ 5.93 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 12 ส.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากราคาดีเซลหมุนเร็วตลาดสิงคโปร์ปิดตลาด 10 ส.ค.เพิ่มขึ้นสูงถึง 7.17 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแตะระดับ 120.66 เหรียญต่อบาร์เรลเนื่องจากโรงกลั่นที่ไต้หวันปิดซ่อมบำรุง ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นแรงชั่วคราวแต่ภาพรวมราคาตลาดโลกจะยังคงทรงตัวระดับสูงจึงต้องติดตามใกล้ชิด” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 6 ส.ค. 2566 ติดลบ 50,438 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 5,323 ล้านบาท บัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ติดลบ 45,115 ล้านบาท โดยสภาพคล่องกองทุนฯ ยังสามารถดูแลราคาดีเซลได้เนื่องจากตามกรอบวงเงิน 150,000 ล้านบาทปัจจุบันได้บรรจุเป็นหนี้สาธารณะแล้ว 110,000 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ ชำระหนี้ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ไปแล้ว 55,000 ล้านบาท คงเหลืออีก 55,000 ล้านบาทที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม อย่างไรก็ตาม การตรึงราคาดีเซลได้นานเพียงใดคงอยู่ที่ราคาดีเซลตลาดโลกเป็นสำคัญหากทรงตัวระดับสูง 100-110 เหรียญต่อบาร์เรลต่อเนื่องก็อาจต้องทบทวนเพราะการชดเชยดีเซลเฉลี่ย 5.93 บาทต่อลิตรก็คิดเป็นเงินระดับหมื่นล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะยังคงมีทั้งปัจจัยบวกและลบที่มีผลต่อระดับราคาให้สวิงตัว โดยปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่จีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเงินฝืด และส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนชะลอตัวลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันลดลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น เนื่องจากสัญญา น้ำมันดิบจะมีมูลค่าสูงขึ้น และนักลงทุนมีการเทขายทำกำไรหลังราคาตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูง

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามที่จะมีผลต่อราคาดีเซลตลาดโลกปรับตัวเพิ่ม อาทิ ซาอุดีอาระเบียขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 66 ขณะที่รัสเซียจะปรับลดการส่งออกน้ำมันในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งจะกดดันต่อสต๊อกน้ำมันลดลงอย่างรุนแรงในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เมื่อเร็วๆ นี้คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย.และอาจเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใกล้ที่จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น