xs
xsm
sm
md
lg

“ไหม” ย้ำ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ถึงทางตัน กม.แบงก์ออมสิน ไม่เปิดช่อง สุดท้ายต้องปรับเงื่อนไข เป็นนโยบายไม่ตรงปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศิริกัญญา” ย้ำ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ถึงทางตัน เหตุกฎหมายธนาคารออมสิน ไม่เปิดช่อง เชื่อ รัฐบาลยอมปรับเงื่อนไข แจกเฉพาะกลุ่ม แต่ประชาชนเข้าใจ เพราะนโยบายไม่ตรงปกตั้งแต่ต้น ยากที่จะแจกทัน 1 ก.พ. ตามเป้า


วันที่ 24 ต.ค.2566 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล โดยยอมรับว่า นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ติดต่อมาขอข้อมูลโครงการดิจิทัล  วอลเล็ต ในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน กับตนจริง ซึ่งตนก็ได้ส่งเอกสารงานวิจัยให้กับนายจุลพันธ์ไปศึกษาเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังขะมักเขม้น ในการหาข้อสรุปในรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน

ส่วนที่ตนได้โพสต์ว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาล อาจถึงทางตันแล้วนั้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ธนาคารออมสินถือเป็นแหล่งเงินสำคัญที่จะนำมาดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท และได้มีการยื่นให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความพระราชกฤษฎีกากำหนดธนาคารออมสิน แต่ไม่พบข้อกำหนดที่จะทำให้ธนาคารออมสินสามารถ นำเงินมาให้รัฐบาลใช้ดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลได้ แหล่งเงินสำคัญของโครงการเป็นหมันไม่สามารถนำมาใช้ได้ ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ก็พบว่ามีเงินเหลือเพียงหลักหมื่นล้านบาท ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในขณะนี้คือต้องกลับมาดูว่าจะสามารถหาแหล่งเงินขนาดใหญ่เพื่อนำเงินมาดำเนินโครงการนี้ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเงื่อนไขรายละเอียดของโครงการหลายอย่างเพื่อลดจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ และอาจต้องเปลี่ยน การจ่ายเงินจากการจ่ายที่เดียว 1 หมื่นบาท เปลี่ยนเป็นทยอยแบ่งจ่าย เป็นงวดๆ ครอบคลุม 2 ปีงบประมาณขึ้นไปจึงจะมีเงินเพียงพอ เพราะลำพังเพียงการเพิ่มฐานอายุของผู้มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัล วอลเลตอาจไม่เพียงพอที่จะลดวงเงินงบประมาณได้ อาจจะต้องมีการเพิ่มมาตรการพิสูจน์ความรวยเพื่อจำกัดสิทธิในการรับเงินดิจิทัล วอลเลต เฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก เช่นการกำหนดว่าผู้ที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 30,000 หรือ 50,000 บาทขึ้นไปจะไม่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนเข้าใจได้หากจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเนื่องจากโครงการนี้ก็ไม่ตรงปกมาตั้งแต่ต้น หากจำเป็นต้องดำเนินการบางอย่างเพื่อให้โครงการดำเนินการต่อไป ประชาชนจะไม่มองว่ารัฐบาลผิดคำสัญญา หากรัฐบาลสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเรื่องข้อจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณและข้อกฎหมายที่ยังมองไม่เห็นในช่วงหาเสียง

แต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะจ่าย เงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท ภายในงวดเดียว ด้วยงบประมาณกว่า 500,000 ล้านบาท ก็มีเพียง 2 วิธี คือ 1. แก้กฎหมายธนาคารออมสิน แต่ก็จะเป็นการกระทำที่ชัดเจนสามารถที่จะพูดมากเกินไปว่าทำเพื่อให้รัฐบาลออกมาได้สามารถกู้เงินจากธนาคารออมสินได้ ส่วนวิธีที่ 2 ออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ แต่ก็จะเป็นวิธีที่เสี่ยงต่อรัฐบาลมากทางด้านการเมือง เพราะสถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะเอื้อให้รัฐบาลต้องทำเช่นนั้น แต่นอกจาก 2 วิธีนี้ก็ไม่เห็นทางแล้วที่รัฐบาลจะได้เงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ในครั้งเดียว ดังนั้น จึงมองว่า ยังเป็นไปได้ที่การแจกเงินดิจิตอล วอลเลต 10,000 บาทจะทันในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่จะยากลำบากเป็นอย่างมาก ในการลุยไฟแก้ไขกฎหมาย รวมถึงพัฒนาซูเปอร์แอป บล็อกเชน และระบบรองรับต่างๆ ทำให้ความเป็นไปได้น้อยมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น