xs
xsm
sm
md
lg

“เงินดิจิทัล”ส่อวุ่น ยังหาเงินแจกไม่ได้!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  กับ  ศิริกัญญา ตันสกุล
เมืองไทย 360 องศา


เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโครงการ “แจกเงินดิจิทัล” หัวละหมื่นบาท ให้กับคนไทยราว 56 ล้านคน วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยบางคนที่เฝ้าจับตาดูถึงขนาดสรุปแบบเกือบจะฟันธงกันเลยว่า “น่าจะแท้ง” หรือทำไม่ได้แล้ว อะไรประมาณนั้น ด้วยเหตุผลก็คือ “ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจากไหน” เพราะดูแล้วมันตีบตันแทบทุกทาง

ที่ผ่านมารัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคนของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นทีมเศรษฐกิจของพรรค เคยยืนยันแบบมัดคอตัวเองมาก่อนว่า “ไม่กู้” ไม่สร้างภาระหนี้แบบหนี้สาธารณะ ไม่เพิ่มภาษี แต่พอใกล้ถึงเวลาเอาเข้าจริง มันน่าจะกลายเป็นตรงกันข้าม นั่นคือ “ต้องกู้” ไม่กู้โดยตรง ก็ต้อง “กู้โดยอ้อม” หรือกู้โดยอ้อม เช่น ให้ธนาคารของรัฐบางแห่งกู้แล้วรัฐบาลตั้งงบสำรองจ่ายให้ภายหลัง ส่วนจะใช้กี่ปีก็ว่ากันไป และเป้าหมายหลักที่คนทั่วไปมั่นใจก็คือ กู้ผ่านธนาคารออมสิน นั่นแหละ แต่คำถามก็คือจะได้จำนวนเงินเท่าไหร่กันแน่ เพราะวงเงินคงไม่เกินแสนล้านบาทค่อนข้างแน่ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดมากมาย

ส่วนเงินก้อนที่เหลืออื่นๆ มันก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะหามาแบบไหน ทั้งในเรื่องเงินงบประมาณที่เกลี่ยมาจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มันก็คงทำได้ไม่มาก เพราะถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว รวมถึงมีกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุน ว่ามีสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ค้ำคออยู่

ขณะเดียวกันการจะออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงินและขยายเพดานหนี้โดยจะอาศัยช่วงที่สภาปิดสมัยประชุมปลายเดือนนี้ มันก็ยากทั้งในเรื่องสถานการณ์ไม่ฉุกเฉินจำเป็นเหมือนกับวิกฤตโควิด และเผลอๆ เมื่อเปิดสภาขึ้นมาต้องเสนอเป็นพระราชบัญญัติ ถูกตีตก ถึงขั้นรัฐบาลต้องลาออกเชียวนะ ทำเป็นเล่นไป และหากสังเกตให้ดี ก็มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคที่เงียบเชียบผิดสังเกต

เอาเป็นว่าเรื่องแท้ง ไม่แท้งว่ากันทีหลัง แต่ตอนนี้ที่ฟันธงไว้ได้เลยก็คือ “เลื่อน” ออกไปแน่นอน การที่เคยประกาศเอาไว้ว่าจะเริ่มดีเดย์แจก ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีหน้านั้น รับรองได้เลยว่าไม่ทันแน่นอน และสิ่งที่ตามมาก็คือ มีแนวโน้มที่ต้อง “ปรับลดขนาด” การแจกลงมา นั่นคือ อาจจะไม่แจกคนรวย ให้ลงทะเบียนก่อน แม้จะอ้อมแอ้มแต่เชื่อว่าจะใช้แอปฯ “เป๋าตัง” นั่นแหละ โดยจับสัญญาณจากการให้สัมภาษณ์ของ นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แม่งานใหญ่ที่อ้างว่ามีกฎหมายด้านการเงินค้ำคออยู่

นอกเหนือจากไม่แจกคนรวยแล้ว อาจจะใช้ “ความสมัครใจ” เข้ามาเพิ่ม เช่น ตอนลงทะเบียน หากไม่ยืนยันตัวตนสำหรับคนที่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐมาก่อน และสำหรับคนที่ไม่เคยลงทะเบียน และมีสิทธิ์ หากไม่ลงทะเบียนก็จะไม่ได้รับเงิน ทำให้มีการประมาณการกันน่าจะลดจำนวนลงเหลือราว 40 ล้านคน หรือน้อยกว่านั้น

อย่างไรก็ดี ความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการดังกล่าว “แท้ง” หรือล้มไปนั้น นอกเหนือจากเรื่อง“ที่มาของเงิน” ที่มีปัญหาแล้ว ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งที่เป็นกูรูด้านเศรษฐกิจ การเงินการคลังมากมาย คาดการณ์ไว้ล่วงหน้านานแล้ว ยังไม่นับกรณีที่แจกแล้วมันไม่คุ้มค่า แถมยังมีปัญหาจุกจิกประเภทที่ว่า “ร้านค้า” จะไม่เข้าร่วมจำนวนมาก จากการไม่ยอมรับเรื่องเงินดิจิทัล อีกทั้งยังต้องลงทะเบียนดังกล่าว เนื่องจากหวั่นเกรงในเรื่องภาษี อะไรประมาณนี้

ที่น่าสนใจก็คือ ความเห็นของ “น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล(ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง “หรือว่า digital wallet จะถึงทางตัน…?” ระบุว่า ธ.ออมสิน ที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบที่จะใช้สำหรับ ดิจิทัล วอลเล็ต 5.6 แสนล้าน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว ไม่ใช่แค่ว่าออมสิน มีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้ โดยเธออ้างถึง มาตรา 7 ของพ.ร.บ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่า ให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่น ต้องตราเป็นพ.ร.ฎ. ซึ่งเมื่อไปดูในพ.ร.ฎ. กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่า นำเงินให้รัฐบาลกู้ยืมได้ ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้ค่ะ

ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ

ขณะเดียวกัน เธอยังได้สรุปข้อมูลงบประมาณปี 67 ที่ปรับปรุงใหม่ว่า ถึงจะขยายงบเป็น 3.48 ล้านล้าน แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมาย

งบที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริง เพิ่มมาเป็น 476,000 ล้าน ก็จริง แต่ขอย้ำว่า นี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่า แต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน กับงบลงทุน โครงการอื่นๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน soft power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบไม่ได้ งบอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทน อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม

หรือ… จะให้ผู้ประกอบการเก็บเหรียญดิจิทัลไว้ ยังไม่ให้แลกคืน รออีกซักปี 2 ปี ให้มีงบประมาณพอ ก็อาจเป็นอีกทางเลือก แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ส่วนทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัดๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีกเพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ น่าคิดนะคะ ว่าอาจจะถึงทางตันจริงๆ

แม้ว่าความเห็น และความเชื่อของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ในมุมหนึ่งอาจเป็นเรื่องการเมืองที่ต้องขัดขากันในฐานะเป็นคู่แข่ง แต่เมื่อพิจารณาในความเป็นจริง มันเป็นไปได้สูงมากที่จะออกมาแบบนี้ นั่นคือ “ถึงทางตัน” ด้วยเหตุผลที่สำคัญก็คือ “ไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน” จำนวนมากมายขนาดนั้น

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็เริ่มแสดงท่าทีให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆแบบยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะ “เลื่อน” การแจกเงินดิจิทัลออกไปจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีหน้าออกไป รวมถึงยังไม่ชัดเจนว่าจะเลื่อนไปถึงเมื่อไหร่กันแน่ นอกจากนี้ ก็ยังไม่ยอมเปิดเผยในเรื่อง “ที่มา” ของเงินที่นำมาใช้โครงการแต่อย่างใด

หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ทั้งในเรื่องการเลื่อนประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่เดิมกำหนดประชุมที่ทำเนียบฯ วันอังคารที่ 24 ตุลาคม นี้ ออกไปแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่มี นายจุลพันธ์ เป็นประธาน ยังไม่อาจหาข้อสรุปในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มาของเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นเรื่องหลัก ขณะที่เวลาก็ไล่หลังมาแล้ว หากกำหนดดีเดย์แจกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป

ดังนั้น ก็ทำให้มองเห็นแนวโน้มสูงมากว่า “น่าจะแท้ง” แต่ที่เป็นไปได้ค่อนข้างแน่ก็คือ “เลื่อนแจก” แน่นอน นั่นคือ ไม่ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพราะอย่างที่บอกก็คือ ปัญหาหลักก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินมาจากไหน หรือยังหาได้ไม่ครบนั่นเอง เพราะหากจะลดขนาดมาเป็นแบบลดวงเงิน หรือจะทยอยแจกเป็นงวดตามที่มีเสียงแนะนำมันก็ “เสียหน้า” เกิดปัญหาตามมาอีก แต่ที่สำคัญคือ ตอนนี้ยังหาเงินไม่ได้นั่นแหละ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น