เมืองไทย 360 องศา
ตอนแรกก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า จะเริ่มขยับไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง สำหรับโครงการแจก “เงินดิจิทัล วอลเล็ต” จำนวนคนละ 1 หมื่นบาท สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ราว 56 ล้านคน ใช้งบราว 5.6 แสนล้านบาท หลังจาก ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการดังกล่าว ที่เรียกว่า “บอร์ดใหญ่” ในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม ถึงกับต้องเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งตามปกติจะมีทุกวันอังคารออกไปเป็นวันถัดไป
เมื่อมีการเรียกประชุมบอร์ดใหญ่ดังกล่าว ตอนแรกก็คงคาดหมายกันว่าทุกอย่างน่าจะชัดเจนกว่าเดิม โดยเฉพาะสามารถตอบคำถามเรื่อง “ที่มา” ของเงินว่าจะเอามาจากไหนกันแน่ เพราะมันมากมายมหาศาล แต่กลายเป็นว่า “ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด” โดยมีรายงานว่า คณะอนุกรรมการที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ นำโดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นแม่งานใหญ่ อ้างว่า เตรียมการในเรื่องข้อมูลยังไม่พร้อม และให้กลับมาประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารดังกล่าวแทน ทำให้ทุกอย่างยิ่งสงสัย สับสนมากขึ้นไปอีก
แน่นอนว่า โครงการแจกเงินดังกล่าวถือว่าเป็น “เรือธง” ของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งยืนยันอย่างหนักแน่นว่าต้องเดินหน้า ถอยหรือปรับลดขนาดลงไม่ได้เป็นอันขาด ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นว่า มันเป็นโครงการที่ “ชี้ชะตา” ให้กับพวกเขากันเลยทีเดียว และหากเทียบกันแล้ว การถอยตั้งแต่ไม่เริ่ม ก็ถือว่า “ตาย” นั่นเอง ส่วนการเดินหน้าแล้วจะออกมาแบบไหนนั้น อารมณ์เวลานี้เท่าที่ประเมินก็จะประมาณว่า “ไปตายเอาดาบหน้า” อะไรประมาณนั้น
เพราะนอกจากเสียงคัดค้านท้วงติงจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแทบทุกฝ่าย รวมถึงองค์กรหน่วยงานทางเศรษฐกิจของรัฐและภาคเอกชน เช่น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตผู้ว่าการฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ พวกเขาคัดค้าน หรือไม่ก็เรียกร้องให้ปรับลดขนาดลงมา ประเภท “อย่าแจกเหวี่ยงแห” เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทำให้เกิดความ “เสี่ยงหายนะ” ทำให้ประเทศ “เป็นหนี้” รวมไปถึงทำให้เสียโอกาสทางการลงทุน เพราะหมดไปกับการ “แจก” ที่เชื่อว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ไม่มีทางที่จะทำให้ “เกิดพายุหมุน” ทางเศรษฐกิจตามที่ฝันเอาไว้ได้เลย
ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 19 ตุลาคม ได้พิจารณานโยบายของรัฐบาลว่าด้วยดิจิทัล วอลเล็ต โดยมี น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน พร้อมด้วย ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงให้ข้อมูล
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม เป็นสิทธิของรัฐบาล แต่เมื่อจะทำก็ต้องมีความรับผิดชอบ โดยจะตั้งคำถามแทนประชาชนอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลอย่างไร จะเอาเงินจากไหน และจะทำอย่างไรหากไม่กู้ ซึ่งเป็นคำถามที่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศอยากได้คำตอบ จนวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาลยังคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน มีเพียงได้ติดตามแนวโน้มจากข่าว ไม่มีคำยืนยันจากผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและลงมือปฏิบัติ วันนี้ก็หวังว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน สามารถแจ้งให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีได้ทราบได้
มีรายงานว่า ในช่วงต้นของการพิจารณา น.ส.ดารณี แซ่จู ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำว่า โครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยผู้ที่มีสิทธิจะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลต้องการกระตุ้นอุปโภคบริโภคของประชาชน แต่มุมมองของ ธปท. เห็นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่เกี่ยวกับการบริโภคภาคเอกชน มองว่า ความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมผ่านโครงการนี้ ยังมีไม่มาก เนื่องจากภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้สูง และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดังนั้น ผลของโครงการต่อเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ซึ่งก็เป็นท่าทีแบบเดิมของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มองเห็นว่า โครงการแจกเงินดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็น เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ทางผู้ว่าการฯ คือ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่เคยท้วงติง ที่เห็นว่า ไม่สมควรแจกแบบเหวี่ยงแห แต่หากจะแจกก็สมควรที่จะพุ่งเป้าในกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องการใช้เงิน รวมไปถึงการท้วงติงโครงการพักหนี้เกษตรกร ที่ทำแบบเดียวกัน ทั้งที่ผลจากการตรวจสอบที่ผ่านมาจากโครงการพักหนี้ ก็ไม่ได้ทำให้หนี้สินลดลง ตรงกันข้ามมีแต่เพิ่มขึ้น อีกทั้งหากพักหนี้ก็ควรทำแค่ 1 ปี ไม่สมควรพักหนี้ถึง 3 ปี เพราะจะเกิดผลกระทบตามมามากมาย
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าโครงการ “แจกเงิน” ที่ว่านี้จะสามารถเดินหน้าได้ง่ายๆ เพราะนอกเหนือจากเสียงคัดค้านจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องเจอกับการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น มีผู้ร้องเรียนไปที่ คณะตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น โดยเฉพาะหน่วยงานหลังมีรายงานว่าได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามเรื่องนี้แล้ว
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีเสียงคัดค้านกันมากมายแค่ไหนก็ตาม เชื่อว่า รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย จะไม่ถอยอย่างเด็ดขาด เพราะหากถอยตั้งแต่ตอนนี้ มันก็เสียหายทางการเมืองป่นปี้ เรียกว่า ไม่มีทางได้ผุดได้เกิด แต่หากเดินหน้าปัญหา ก็คือ “ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน” เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ยอมเปิดเผย และที่ผ่านมา ก็ไปพูดค้ำคอตัวเองไว้ก่อนว่า ไม่กู้ ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ ครั้นจะไปให้แบงก์รัฐ เช่น ธนาคารออมสิน กู้ไปก่อน แล้วค่อยใช้คืนภายหลัง ก็ยังมีคนไปดักคอไว้อีก ทั้งที่เวลาไล่หลังมาแบบกระชั้นชิดแล้ว หากกำหนดเอาไว้ว่าดีเดย์แจก 1 กุมภาพันธ์ ปีหน้า
กลายเป็นว่า เวลานี้ทุกอย่างไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง มีแต่ยืนยันอย่างเดียวว่า ไม่กู้ไม่สร้างหนี้เพิ่ม แจกแน่นอน เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพายุหมุนกันเลยทีเดียว เอาเป็นว่าเดินหน้าเต็มตัว ส่วนผลจะออกมาแบบไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนกับว่าเวลานี้ “ถอยก็ตาย จะเดินหน้าก็ลำบาก” อะไรประมาณนั้น !!