xs
xsm
sm
md
lg

ทั้งเดือนมีแต่ข่าวร้าย “เศรษฐา” ไปรอด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เศรษฐา ทวีสิน - ปานปรีย์ พหิทธานุกร
เมืองไทย 360 องศา

ต้องบอกว่าน่าเห็นใจเหมือนกันสำหรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่กำลังพิสูจน์ความคาดหวังของประชาชน และมวลชนที่สนับสนุน แต่กลายเป็นว่าในช่วงเวลาเดือนเศษที่ผ่านมา เขาต้องเจอกับเรื่องในทางลบมีผลกระทบต่อการบริหารมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นมาจากปัญหาเรื้อรังในวงการตำรวจ ทั้งกรณีของ “กำนันนก” หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย ที่ก่อเหตุยิงตำรวจเสียชีวิต ในงานเลี้ยงที่บ้านพักของตัวเอง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จนสั่นสะเทือนวงการตำรวจ เพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความตื่นตัวในเรื่อง “ส่วย” หรือการทุจริตในวงการตำรวจ

จากนั้นก็มีเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว จนนำไปสู่การบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักของ“บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งแม้ว่าแท้จริงแล้วจะมาจากเรื่องการแข่งขันชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่ามีเรื่องราวจากกรณีของกำนันนกเข้ามาเกี่ยวข้อง และพันมาถึงการแย่งชิงเก้าอี้สำคัญดังกล่าว

แน่นอนว่า ทั้งสองกรณีย่อมสะท้อนความเน่าเฟะในวงการสีกากี และอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้ามาของ นายเศรษฐา ทวีสิน แต่หากมองในฐานะที่เขาเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ถือว่าต้องเข้ามาแก้ปัญหาและร่วมรับผิดชอบ แต่เอาเป็นว่าประเดิมเรื่องแรกก็ทำท่าให้เหนื่อยแล้ว

ถัดมาก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดหมาย นั่นคือ กรณีเด็กอายุ 14 ก่อเหตุ “กราดยิง” ในห้างสยามพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมยอดทั้งหมด 3 ราย และบาดเจ็บหลายราย ที่สำคัญหนึ่งในผู้เสียชีวิต มีนักท่องเที่ยวชาวจีนรวมอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าสั่นสะเทือนพอควร ในเมื่อเพิ่งประกาศ “ฟรีวีซ่า” ให้กับชาวจีน เพื่อกระตุ้นการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้เข้าประเทศ แต่เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวมันก็ย่อมสะเทือนอยู่แล้ว แม้ว่าอาจะเป็นช่วงสั้นๆ หากไม่มีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันซ้ำรอยอีก

จากนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังเป็นการ “พิสูจน์ฝีมือ” ครั้งสำคัญของ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลของเขา นั่นคือนโยบาย“แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต” ที่ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 5.6 แสนล้านบาท หากต้องแจกคนไทยตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปรายละ 1 หมื่นบาทจำนวน 56 ล้านคน ซึ่งเวลานี้เริ่มมีเสียงคัดค้านเข้ามาทุกทิศทาง โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งอดีตและปัจจุบันต่างก็ไม่เห็นด้วย หรืออย่างน้อยก็ให้ลดขนาดลงมา รวมทั้งให้ปรับวิธีการแจกที่ไม่ใช้แบบ “เหวี่ยงแห”

ล่าสุด ต้องมาเจอกับเรื่อง “วิกฤตคนไทย” ในภาวะสงครามระหว่าง อิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธ “ฮามาส” ปาเลสไตน์ ที่มีคนไทยเสียชีวิตเป็นรายวันเหมือนกัน เท่าที่ได้รับรายงานเข้ามาว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 1 ราย รวมตัวเลขเสียชีวิตเป็น 29 ราย ขณะเดียวกันสถานการณ์โดยรวมของที่นั่น ถือว่ายังเลวร้าย ไม่ดีขึ้นเลย แม้ว่าจะมีการอพยพคนไทยออกมาสามสี่เที่ยวบินแล้ว แต่จำนวนที่นำออกมาได้ ถือว่าจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนตัวเลขที่อยู่ในพื้นที่อันตราย โดยยอดลงทะเบียนแจ้งเดินทางกลับบ้านกว่าเจ็ดพันคน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งปัญหาการอพยพถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายความสามารถในการประสานงาน และ “พลัง” ของรัฐบาลไทย ทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะงานนี้ต้องใช้ทั้งคอนเนกชันบนดิน และใต้ดิน

แม้จะยอมรับว่าสถานการณ์มีความยุ่งยากซับซ้อน และอยู่ในภาวะสงคราม รวมไปถึงเราไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตโดยตรงกับ “กลุ่มฮามาส” ที่จับคนไทยและคนต่างชาติไปเป็นตัวประกัน ทำให้ไม่รู้ชะตากรรมว่าพวกเขายังปลอดภัยดีอยู่หรือไม่

ดังนั้น ทุกเหตุการณ์ที่ไล่เรียงมาย่อมถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของนายเศรษฐา ทวีสิน ว่าจะรับมือได้แค่ไหน ซึ่งนับจากนี้ไป ถือว่าจะเป็นการ “วัดฝีมือ” ล้วนๆ แม้ว่าทุกปัญหาที่กล่าวมาอาจจะยังเทียบไม่ได้กับ “วิกฤตโควิด19” ในช่วงที่ผ่านมา แต่หากเกิดความผิดพลาดมันก็เกิดหายนะไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องการ “ช่วยเหลืออพยพคนไทย” หากล่าช้าและทำได้ไม่ดีพอ มันก็ย่อมหมายถึงชีวิตที่เสี่ยงภัย ทั้งในมุมหนึ่งต้องเอาใจช่วยเต็มที่ แต่หากมองกันตามความเป็นจริง ยังถือว่ารัฐบาล “ยังทำได้ไม่ดีพอ” รู้ว่ามันยากสุดหิน แต่เจรจาประสานงานกับมิตรประเทศ น่าจะทำได้ดีกว่านี้

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “30 วันแรกของรัฐบาลประชาชน” ครบ 30 วันแรก ที่ผมและทีมงานเร่งดำเนินการทุกๆ นโยบายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องชาวไทย และผลักดันให้ประเทศไทยทัดเทียมนานาประเทศ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. จนถึง 13 ต.ค.66 มีการประกาศผลงาน เช่น

1.แก้วิกฤตด้านพลังงานทันที ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน 2. ช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อปากท้องที่ดีกว่า ทั้งการพักหนี้ เพิ่มรายได้ และรับมือเอลนีโญ และ 3. เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น มาร่วมสร้าง #ChanceOfPossibility เพราะ # นี่คือโอกาสของทุกความเป็นไปได้ ของคนไทยครับ

การแก้ปัญหาปากท้องและพัฒนาโครงสร้างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย #จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง #เศรษฐา ทวีสิน

แน่นอนว่า การประกาศผลงานสองสามเรื่องดังกล่าวของ รัฐบาลภายใต้การนำของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลดค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม การพักหนี้ และล่าสุดเพิ่งมีการนำร่องลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสองสายแรก คือ สีม่วง กับสีแดง ตลอดสายไม่เกิน 20 บาท แต่นั่นเป็นการใช้เงินงบประมาณของรัฐเข้าไปอุดหนุน ถือว่ามีต้นทุนที่ต้องจ่าย และในระยาว จะเป็นผลดีหรือไม่ ยังเป็นคำถาม เพราะหากถามชาวบ้านย่อมต้องมีคำตอบส่วนใหญ่ว่าพอใจอยู่แล้ว รวมไปถึงอนาคต จะสามารถอุดหนุนได้ตลอดไปหรือไม่ หรือสร้างภาระด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นมาอีก

เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการแจก “เงินดิจิทัล” ต้องใช้งบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท โดยที่ยืนยันว่า จะไม่ลดขนาดลงมา นั่นคือ “ลุยเต็มเหนี่ยว” แม้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ยอมเปิดเผยที่มาของเงินว่าเอามาจากไหนก็ตาม แต่หลายฝ่ายฟันธงว่า ถึงอย่างไรก็ “ต้องกู้” ไม่ว่าจะกู้โดยตรง หรือให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ธนาคารออมสินกู้ไปก่อน แล้วค่อยตั้งบใช้คืนก็ตาม แต่ละอย่างล้วนต้องใช้เงินมหาศาล มันเหมือน “ประชานิยม” ใช้เงินของประชาชน เพื่อมาซื้อเสียงล่วงหน้ากับประชาชน แต่ในบั้นปลายประชาชน ก็รับกรรม แต่นาทีนี้เมื่อเขาเจอเรื่องใหญ่เข้ามาพร้อมๆกัน มันจะไปรอดหรือเปล่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น