เมืองไทย 360 องศา
นโยบายโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) ที่ถือว่าเป็นนโยบาย “เรือธง” หรือจะเป็นการระบุว่า โครงการ “ประชานิยม” อันดับต้นของพรรคเพื่อไทย และกลายเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่กำลังเริ่มเดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงทักท้วง และคัดค้านดังออกมารอบทิศเช่นกัน โดยเสียงคัดค้านดังกล่าว มีแนวโน้มดังขึ้นเรื่อยๆ
ที่สำคัญ คนที่คัดค้านล้วนไม่ธรรมดา เช่น นายเศรษฐพุฒิ สุทธวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ที่ออกโรงก่อนหน้านี้ในทำนองว่า ไม่ควรแจกเงินแบบเหวี่ยงแห รวมไปถึงโครงการพักหนี้ที่ไม่สมควรดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันเป็นภาพการฟื้นตัว แม้จะช้ากว่าประเทศอื่น และโจทย์ของการดำเนินนโยบายการเงินที่สำคัญ คือ การทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ธปท.เป็นห่วงการมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสถียรภาพฝั่งการคลัง เพราะจากกรณีสหรัฐฯที่ถูกลดอันดับเครดิต เพราะไม่ใส่ใจด้านเสถียรภาพด้านการคลัง ดังนั้น เสถียรภาพการคลัง จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ
สำหรับนโยบายพักหนี้ มองว่า เป็นนโยบายที่ควรมี แต่ไม่ควรเป็นนโยบายหลัก และไม่คิดว่าการพักหนี้วงกว้างเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งนโยบายพักหนี้ เป็นนโยบายที่จำเป็นหรือเหมาะทำชั่วคราว เช่น สถานการณ์โควิดที่ต้องพักหนี้เป็นวงกว้าง แต่หลังผ่านสถานการณ์ดังกล่าว ธปท.พยายามถอยออกมาเพราะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก
ดังนั้น การพักหนี้เป็นวงกว้างไม่เหมาะสม เพราะจำนวนไม่น้อยที่เกษตรกรเป็นหนี้เรื้อรัง และพักหนี้ไม่ช่วยปิดหนี้ได้ ดังนั้น การพักหนี้เกษตรกร อาจเหมาะสำหรับเกษตรกรบางกลุ่มที่เจอปัจจัยชั่วคราว และหากย้อนดูพบว่าการพักหนี้ 14 ครั้ง ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา กลุ่มพักหนี้กลับเป็นหนี้มากกว่าเดิม และมีโอกาสเป็นหนี้มากขึ้น ดังนั้น พักหนี้เป็นเครื่องมือที่ควรมีในกล่องเครื่องมือแต่ไม่ใช่เครื่องมือหลัก
สำหรับการแจกเงินดิจิทัล ขณะนี้รูปแบบนโยบายดังกล่าวยังไม่ชัด จึงต้องรอดูความชัดเจน แต่ความกังวลของ ธปท.ที่หารือกับนายกรัฐมนตรี คือ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยออกมาไม่สวยนัก โดยเศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.8% ต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้มาก ซึ่งการเติบโตมาจากการบริโภคเป็นหลักถือว่าฟื้นตัวค่อนข้างดี ทั้งในไตรมาส 1-2 แต่ตัวที่ขาดไปคือการลงทุน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยภาคอื่นอาจสำคัญกว่าการกระตุ้นด้วยการบริโภค
นอกจากนี้ นโยบายหรือรูปแบบในการทำแบบเฉพาะเจาะจงเฉพาะกลุ่มที่ประหยัดงบประมาณกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดังกล่าว ที่ออกมาในลักษณะเดียวกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ก็มีความเห็นในทางเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าหากจะดำเนินการก็ควรแยกเป็น “เฉพาะกลุ่ม” เท่านั้น ไม่ใช่แจกเงิน หรือ “พักหนี้” แบบเหวี่ยงแห ไปทุกคนแบบที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการอยู่
ด้วยท่าทีและคำพูดดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นกระแสข่าว “ปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ตามมา แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว “ทำได้ยาก” เพราะเป็นตำแหน่งที่เป็นอิสระ อีกทั้งย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นตามมา ประเภทได้ไม่คุ้มเสีย
ต่อมา วันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียก นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเป็นการส่วนตัวกับนายกฯ โดยใช้เวลา 45 นาที ก่อนเดินทางกลับโดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่าเป็นการหารือกันในทุกเรื่อง และยอมรับว่า มีบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนแบบผู้ใหญ่ที่ต่างมีความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองอะไรประมาณนั้น
อย่างไรก็ดี ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายฯ โดยมี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ (นายปานปรีย์) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (นายอนุทิน) และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นรองประธานกรรมการ โดยมี ปลัดกระทรวงการคลัง และ ปลัดพาณิชย์ เป็นกรรมการ และเลขานุการร่วม
2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ 3. คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ และ 4. คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการ
การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา ทำให้เห็นว่า รัฐบาลเดินหน้านโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” ต่อไป และจะเป็น “แจกทุกคน” นั่นคือ ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป โดยไม่แยกรวยจน เศรษฐี และคนหาเช้ากินค่ำได้เหมือนกันหมด ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ มีการประมาณการการใช้เงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนมาก จนทำให้หลายคนเป็นห่วงในเรื่อง “หนี้สิน” ที่ต้องเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน จนถึงตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีการเปิดเผยในเรื่องที่มาของเงินจำนวนดังกล่าวสำหรับใช้ในโครงการว่ามาจากที่ใด แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะ “กู้เงินธนาคารออมสิน” ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องนี้
แน่นอนว่า ทั้งนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” และโครงการ “พักชำระหนี้” จะมีความเสี่ยงในเรื่อง “หนี้” ที่จะตามมาจำนวนมหาศาล และใช้เวลาในการชดใช้นานหลายสิบปี ตามที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ส่งเสียงเตือนมาดังๆ แต่ถึงอย่างไร เชื่อว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องเดินหน้าเต็มตัว ถึงตอนนี้ถอยไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล ที่พอนานไปยิ่งมีเสียงคัดค้านดังขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งระบุว่า นี่คือ “ประชานิยม” ที่พรรคการเมืองได้ประโยชน์ แต่ประเทศเป็นหนี้ชั่วลูกหลาน !!