xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” เตือน “เศรษฐา” คุยผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอย่าล้ำเส้นความเหมาะสม ใช้วิธีนัดพบส่วนตัวกดดัน ธปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชี้เป็นเรื่องดี “เศรษฐา” นัดคุยผู้ว่าฯ ธปท.ทุกเดือน แต่ควรพบกับ กนง. กนส. เต็มคณะด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวม และจะต้องระมัดระวังไม่ให้ล้ำเส้นความเหมาะสม ใช้การนัดพบส่วนตัวโดยไม่แถลงประเด็นให้ประชาชนรับทราบ เป็นเวทีสำหรับกดดันผู้ว่าแบงก์ชาติ

วันที่ 2 ต.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในหัวข้อ “เส้นแดงความสัมพันธ์คลัง-ธนาคารชาติ” มีรายละเอียดระบุว่า ผมขอเตือนท่านนายกเศรษฐา ในฐานะรัฐมนตรีคลังท่านต้องระวังไม่ให้ล้ำเส้นแดงความสัมพันธ์คลัง-ธนาคารชาติ

ในช่วง 9 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีคลังหลายคน ผมมีความเห็นว่า รัฐมนตรีคลังไม่ได้ให้ความสำคัญในการประสานงานกับธนาคารชาติเท่าที่ควร

จึงได้เขียนแนะนำหลายครั้ง ให้รัฐมนตรีคลังนัดประชุมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เป็นประจำ ประมาณสามเดือนครั้ง

และภายหลังการประชุมทุกครั้ง ต้องมีการแถลงข่าวให้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีคลังได้มองเห็นประเด็นน่าห่วงใยอะไรบ้าง และมีโจทย์ใดสำคัญที่จะต้องดำเนินการในอนาคต

การแถลงข่าวเป็นประจำ จะเป็นช่องทางที่ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถจะจับชีพจรเศรษฐกิจ และวางแผนการทำงานไปในอนาคต เตรียมรับพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบที่กำลังจะแผ่เข้ามาจากต่างประเทศ

[[เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เชิญนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า มาหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยหลังจากนี้ จะมีการนัดพบหารือกันในลักษณะนี้เป็นประจำทุกเดือน

นายเศรษฐา กล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้จะนำไปสู่การทบทวนนโยบายทั้งในส่วนของรัฐบาล และ ธปท. ต่างคนต่างทบทวน ไม่อย่างนั้นจะเรียกมาหารือทำไม

การพูดคุยในครั้งนี้ ยังไม่มีประเด็นนำไปสู่การปรับนโยบายที่รัฐบาลเคยพูดไว้แล้ว ก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกันและมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง

นายเศรษฐา กล่าวว่า ธปท.ก็ได้ฝากนโยบายในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งบางเรื่องก็ไม่เคยคิดไว้เลย ธปท.ก็เสนอว่าควรต้องทำอะไรบ้าง นโยบายในอนาคตหลาย ๆ เรื่องก็ได้ถาม ธปท.ไปว่ากำลังคิดเรื่องใดบ้าง ธปท.คิดว่าอย่างไร สรุปก็คือว่าต่อไปนี้หากรัฐบาลจะทำอะไร ก็จะต้องคุยกับ ธปท.บ่อยขึ้น]]

ผมตั้งข้อสังเกตต่อไปนี้
1 นับเป็นเรื่องดีที่รัฐมนตรีคลังจะมีการหารือกับธนาคารชาติเป็นประจำ เพราะจะได้รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน ตรงกับที่ผมเคยเสนอแนวคิดไว้

2 แต่การพบปะระหว่างรัฐมนตรีคลังกับธนาคารชาตินั้น ควรพบกับ กนง. กนส. เต็มคณะ ซึ่งจะมีการนำเสนอข้อมูลภาพรวม ประกอบกับการแถลงข่าวประเด็นปัญหาหลักให้ประชาชนได้รับทราบ

3 โดยปกติ การที่รัฐมนตรีคลังจะเชิญผู้ว่า ธปท. ไปพบเฉพาะตัว หรือแม้แต่จะมีเจ้าหน้าที่ ธปท. เข้ารวมด้วย นั้น จะมีแต่เฉพาะกรณีปัญหาเร่งด่วน เช่น มีแบงค์ง่อนแง่น หรือมีปัญหาค่าเงินบาท

4 การที่รัฐมนตรีคลังเชิญผู้ว่า ธปท. ไปพบเฉพาะตัว โดยระบุจะนัดทุกเดือน แต่ไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบว่า มีหัวข้อปัญหาใด ประชาชนจะต้องเตรียมตัววางแผนเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่ ถือว่าไม่ได้ประโยชน์ในการสื่อสาร

5 การที่รัฐมนตรีคลังจะเรียกผู้ว่า ธปท. พบทุกเดือน ประกอบกับนายเศรษฐากล่าวว่า "การพูดคุยจะนำไปสู่การทบทวนนโยบาย ทั้งในส่วนของรัฐบาล และ ธปท. ต่างคนต่างทบทวน ไม่อย่างนั้นจะเรียกมาหารือทำไม" นั้น

ผู้อ่านทุกคนย่อมต้องเข้าใจไปว่า นายเศรษฐาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของผู้ว่า ธปท. และต้องการให้ผู้ว่า ธปท. ทบทวน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการเข้าไปแทรกแซงกดดันผู้ว่า ธปท. ที่ไม่เหมาะสม

ในอดีต เคยมีกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า คิดที่จะไล่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกจากตำแหน่งทุกวัน เพราะไม่สนองรัฐบาลด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายชะลอเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยมีปัญหา

ผมจึงขอเชิญชวนให้สังคมไทย ให้กำลังใจสนับสนุนผู้ว่า ธปท. ที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ใช่โอนอ่อนไปตามความต้องการของนักการเมือง

ทั้งรัฐมนตรีคลังและผู้ว่า ธปท. ย่อมจะคิดถึงประโยชน์ของประเทศ โดยอาจมีความเห็นแตกต่างกันเป็นธรรมดา

แต่รัฐมนตรีคลังจะต้องระมัดระวัง ไม่ให้ล้ำเส้นแดงความสัมพันธ์ที่เหมาะสม และไม่ใช้เวทีการนัดพบส่วนตัว ที่ไม่มีการแถลงประเด็นให้ประชาชนรับทราบ เป็นเวทีสำหรับกดดันผู้ว่า ธปท.

วันที่ 2 ตุลาคม 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น