MGR ออนไลน์ -- เกิดมีข่าวเล่าลือกันยกใหญ่ รัสเซียได้ปล่อยสิ่งที่เรียกว่า "ม่านควัน" ปกคลุมทั่วอาณาบริเวณอ่าวตาร์ตุส (Tartus) ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย เป็นเวลาหลายชั่วโมงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ข่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีเรือบรรทุกติดธงรัสเซียหลายลำ แล่นเข้าสู่ฐานทัพแห่งนี้ ซึ่งทำให้เชื่อกันว่าเป็นความพยายามในการอำพราง ขณะขนอาวุธลอตใหม่ขึ้นจากเรือ เพื่อนำส่งให้แก่รัฐบาลบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสสาด
ยังไม่มีภาพถ่ายดาวเทียม จากโดรน หรือจากอากาศยานชนิดใด หรือแหล่งใดยืนยันเหตุการณ์ที่ว่านี้ แต่การเล่าลือนี้ มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากสหรัฐกับพันธมิตร คือ อังกฤษกับฝรั่งเศส ปล่อยอาวุธนำวิถี 3-4 รุ่นจากระยะไกลไปโจมตีเป้าหมาย 3 แห่ง ที่สหรัฐอ้างว่า เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมี ในย่านหนึ่งใกล้กรุงดามัสกัสเมื่อต้นเดือน ซึ่งทำให้มีประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่โดนไปหลายคน
สหรัฐกับโลกตะวันตกกล่าวประณามการกระทำของรัฐบาลซีเรีย ที่มีรัสเซียหนุนหลังว่าป่าเถื่อน แต่รัสเซียยืนกรานมาตลอดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการจัดฉากโดย "กลุ่มหมวกขาว" (White Helmet) ซึ่งเป็นองค์การอาสากู้ภัย ที่ปฏิบัติการในเขตยึดครองของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย อันเป็นหน่วยที่มีสัมพันธ์โยงใยแน่นแฟ้น กับกลุ่มที่โลกตะวันตกหนุนหลัง -- ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีตัดกำลังของซีเรีย เช่นที่เคยทำมาแล้วในที่อื่นๆ
หลายฝ่ายเชื่อว่าการขนส่งอาวุธในช่วงนี้ จะต้องเกี่่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์โจมตี เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเศษ ในตอนเช้าตรู่วันที่ 14 เม.ย.2561 ตามเวลาในท้องถิ่นกรุงดามัสกัสกับกรุงมอสโก ซึ่งเป็นเวลาเดียวกัน อันเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ล่วงหน้าอยู่แล้ว การส่งอาวุธก็เพื่อเสริมกำลัง การป้องกันทางอากาศของซีเรีย เตรียมรับมือสหรัฐ -- แต่อาจเกิดความล่าช้าในการขนส่ง ที่จะต้องผ่านทะเลดำ เข้าช่องแคบดาร์ดาแนล กับช่องแคบบอสฟอรัสในตุรกี ก่อนจะปักหัวแล่นลงใต้ไปยัง ฐานทัพในซีเรีย -- จึงทำให้จะต้องเก็บทุกอย่างเป็นความลับให้มากที่สุด
ในทางทฤษฎีนั้นม่านควันสามารถช่วยปิดกั้น การมองเห็นจากดาวเทียม หรือจากอากาศยานทั่วไปได้ เป็นการป้องกันความลับรั่วไหลสู่ห้วงอวกาศได้ในระดับหนึ่ง แต่ในทางเทคโนโลยีนั้น กล้องถ่ายภาพรุ่นใหม่ๆ ของสหรัฐ รวมทั้งที่ติดตั้งบนโดรน ที่บินลาดตระเวนในทั่วตะวันออกกลางในขณะนี้ สามารถทะลุทุลวงม่านควันได้ -- ภาพตัวอย่างจำนวนหนึ่ง ที่มีผู้นำออกเปิดเผยไม่กี่วันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นรูปเงาของเครื่องบินรัสเซียลำหนึ่ง ที่สนามบินแห่งหนึ่งซึ่งปกคลุมด้วยม่านควัน -- ผู้ที่นำ "ภาพตัวอย่าง" นี้ออกเผยแพร่ ไม่ได้บอกว่าเป็นสนามบินแห่งใด และ ถ่ายเอาไว้ตั้่งแต่เมื่อไร ในเหตุการณ์ใด
.
.
ส่วนม่านควันที่เล่าลือกันล่าสุด ที่อ่าวตาร์ตุสวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่การขนอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นจากเรือ เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ในโซเชียลมีเดียตลอดหลายวันมานี้ และ ทำให้เกิดการคาดเดากันไปทั่ว ในสื่อประชาสังคมทั้งในย่านตะวันออกกลาง ในยุโรปและสหรัฐ -- สิ่งที่รัสเซียส่งไปให้ซีเรีย ในลอตนี้มีอาวุธอะไรบ้าง
มีหลายฝ่ายตั้งเป็นข้อสังเกตในวันแรกๆ ว่า สิ่งที่เรือบรรทุกติดธงรัสเซีย นำไปยังฐานทัพตาร์ตุสแห่งนั้น น่าจะเป็นระบบอาวุธปล่อยนำวิถี S-300 ที่รัสเซียประกาศว่า การโจมตีของสามประเทศ เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ทำให้ "ไม่มีข้อขัดข้องทางศีลธรรมใดๆ" อีก ในการส่งระบบอาวุธยิงเรือ และโจมตีเป้าหมายบนบกชนิดนี้ ให้แก่รัฐบาลบาชาร์ อัล อัสสาด
เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าวในกรุงมอสโกว่า รัสเซียสามารถส่งระบบอาวุธชนิดนี้ให้แก่ซีเรียได้ ภายใน 1 เดือน เป็นการให้เปล่าแก่มิตรประเทศหนึ่ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้อิสราเอลแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบทันควัน ขอสงวนสิทธิ์ที่จะโจมตีระบบ S-300 ใดๆ ที่อยู่ในการครอบครองของซีเรีย ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า อิสราเอลอยู่เบื้องหลังการโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในซีเรียมาหลายครั้ง และ ทุกครั้งจะเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งอันแท้จริงของอิสราเอล
Crossing the Rubicon ? Supply & reinforcement for Russia’s #Syria campaign continues: Russian Gov chartered, #Russia flag RoRo Alexandr Tkachenko transits Med-bound Bosphorus en route to #Tartus carrying Project 03160 Raptor, BMK-T bridge erection boat, KamAZ & Ural 4320 trucks. pic.twitter.com/fC3CG5XSaZ
— Yörük Işık (@YorukIsik) April 13, 2018
Fast turnaround: #RussianNavy #ВМФ Project 775 #Бф Baltic Fleet LSTM Minsk 127 returned from Sevastopol in 6days & transited Med-bound Bosphorus 13:30Z. Sailors, crew, spetsnaz watch Bosphorus. Ropucha class Minsk has a cargo capacity of 450tons with a usable deck space of 600sqm pic.twitter.com/8yPQrOabcv
— Yörük Işık (@YorukIsik) April 5, 2018
แต่หลังจากนายชเรเก ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์วันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการส่งมอบระบบ S-300 และ ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้ทำให้ข้อสันนิษฐานแรก เกี่ยวกับสาเหตุการทำม่านควันต้องตกไป -- นายราฟลอฟเป็นนักการทูตเก่าแก่ และ ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อพูดคำใด ก็จะทำสิ่งนั้นให้ปรากฏเสมอมา
อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐาน เกี่ยวกับระบบ S-300 อาจผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น -- ผู้สังเกตการณ์ในซีเรียหลายคนได้โต้แย้งเรื่องนี้มาตลอด โดยชี้ให้เห็นว่า ระบบอาวุธชนิดนี้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อต่อสู้อากาศยาน หรือ เพื่อการป้องกันทางอากาศ หากเป็นอาวุธโจมตีเป้าหมายทางทะเล ซึ่งต่างไปจากระบบ S-400 หรือ S-500 ที่พัฒนาไปไกลกว่า และ ประจำการในกองทัพรัสเซียปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัสเซียส่งให้ซีเรีย จึงน่าจะเป็นอาวุธที่เกี่ยวข้องกับการโจมตี ในตอนเช้าตรู่วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี ควบระบบปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มม. แบบปานต์ซีร์-เอส1 (Pantsir-S1) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด และ เป็นข่าวไม่กี่วันก่อนหน้านี้ รวมทั้งอาจจะมีระบบอาวุธปล่อยฯ แบบควาดรัต (Kvadrat) กับ บุ๊ค (Buk) รวมอยู่ด้วย
.
.
ทั้งรัฐบาลซีเรีย และ กระทรวงกลาโหมรัสเซีย แถลงไม่กี่ชั่วโมงหลังการโจมตีของสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศสว่า ทั้งสามระบบเป็นกำลังหลัก ที่ใช้ยิงสกัด "จรวดร่อน" โทมาฮอว์ค ในเหตุการณ์วันที่ 14 เม.ย. โดยระบบปานต์ซีร์ ทำตัวเลขได้มากที่สุด -- แม้ว่าเรื่องนี้จะยังเต็มไปด้วยข้อกังขา และ ยังไร้หลักฐานสนับสนุนการกล่าวอ้างก็ นอกเสียจากภาพซากจรวดร่อนไร้คำอธิบาย ที่ปรากฏในทวิตเตอร์หลายแห่ง ในช่วงวันที่ 14-15 เม.ย.
ภาพถ่ายทางอากาศที่เผยแพร่ ในช่วงสงครามกลางเมืองหลายปีมานี้ ทำให้ทราบกันทั่วไปว่า กองทัพซีเรียมีระบบต่อสู้อากาศยานปานต์ซีร์ อยู่หลายระบบ ติดตั้งตามจุดสำคัญต่างๆ แต่ทั้งหมดเป็นรุ่นเก่า ที่จัดหาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต -- ไม่ต่างกับระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานรุ่นอื่นๆ -- แต่เพียงข้ามวันหลังการโจมตีของ 3 ประเทศ กระทรวงกลาโหมซีเรีย ได้นำภาพและข่าว ระบบปานต์ซีร์-S1 (Pantsir-S1) จำนวน 1 ระบบออกเผยแพร่ ให้สาธารณชนได้เห็นเป็นครั้งแรก พร้อมสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ควบคุม-อำนวยการบนยานบรรทุก
นี่คือหนึ่งในเวอร์ชั่นล่าสุดของปานต์ซีร์ ที่รัสเซียเพิ่งนำเข้าประจำการเมื่อไม่กี่ปีมานี้่ รวมทั้งได้นำไปใช้งานในซีเรียเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันฐานทัพ 2 แห่ง ร่วมกับระบบอื่นๆ -- แต่นี่เป็นครั้งแรกที่โลกภายนอกได้เห็นปานต์ซีร์ S1 ของกองทัพซีเรีย นับตั้งแต่สื่อในรัสเซียรายงานว่า มีการส่งมอบเมื่อต้นปีที่แล้ว แต่ไม่ได้นำออกใช้เมื่อครั้งสหรัฐยิง "จรวดร่อน" โทมาฮอว์ค จำนวน 59 ลูก โจมตีสนามบินเชย์รัต (Shayrat) ในเดือน เม.ย.ปีเดียวกัน -- ด้วยข้ออ้างเดียวกันกับปีนี้ คือ ซีเรียใช้เป็นที่เก็บอาวุธเคมี
ในทำนองเดียวกัน -- เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังฟ้าเริ่มสาง วันที่ 14 เม.ย. สื่อประชาสังคมหลายแห่งได้นำ ภาพระบบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน แบบควาดรัต กับบุ๊ค ของซีเรียออกเผยแพร่ ทั้งหมดประจำที่สนามบินแห่งหนึ่งใกล้กับกรุงดามัสกัส ซึ่งทั้งซีเรียและรัสเซียกล่าวว่า ตกเป็นเป้าการโจมตีของสหรัฐด้วย -- ระบบต่อสู้อากาศยานที่เห็นนั้น มีเพียงยานบรรทุก กับท่อยิงที่ว่างเปล่า เนื่องจากได้ใช้ "จรวด" ไปจนหมด ตั้งแต่ช่วงก่อนสว่าง
รัฐบาลซีเรียกับรัสเซียแถลงตรงกันว่า ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สหรัฐไม่เพียงแต่โจมตี 3 เป้าหมาย ที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับอาวุธเคมีเท่านั้น หากยังยิงจรวดโทมาฮอว์คโจมตีสนามบินอันเป็นที่ตั้ง ฐานป้องกันทางอากาศรอบๆ กรุงดามัสกัส กับเมืองฮอมส์ (Homs) ที่อยู่เหนือขึ้นไปอีกหลายแห่งด้วย -- แต่ระบบป้องกันทางอากาศโบราณๆ ของซีเรียยิงสกัดได้เกือบทั้งหมด และ ไม่มีเป้าหมายแห่งใดเสียหายหนัก
.
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการโจมตี สำนักข่าวซานา (SANA) ของรัฐบาล ได้ออกรายงานว่า ระบบป้องกันทางอากาศของซีเรียยิงสกัด จรวดโทมาฮอว์คได้ระหว่าง 17-23 ลูก ในเขตรอบนอกเมืองหลวง -- อีกหลายชั่วโมงต่อมา กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้เปิดแถลงเป็นครั้งแรก อัปเดทตัวเลขเป็นว่า อาวุธปล่อยฯ ที่สหรัฐกับพันธมิตรยิงโจมตีซีเรียจำนวน 103 (105) ลูกนั้น ถูกยิงสะกัดร่วงไป 73 ลูก ขณะที่ฝ่ายสหรัฐแถลงยืนยันว่า จรวดทุกลูก ทั้งโทมาฮอว์ค และ AGM-158B (AGM-158ER) หรือ JASSM-ER (Joint Air to Surface Stand-off Missile- Extended Range) เข้าเป้าทั้งหมด ไม่มีลูกใดถูกยิงสกัด -- อีกทั้งฝ่ายรัสเซีย/ซีเรียก็ยังไม่สามารถแสดงหลักฐานอ้างอิงประกอบการกล่าวอ้างของฝ่ายตนได้เช่นกัน
หลังจากการโจมตีผ่านไปกว่า 10 ชั่วโมง พล.ท.เคนเน็ธ เอฟ แม็คเคนซี จูเนียร์ ( Gen Kenneth F McKenzie Jr) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการร่วม สำนักงานคณะเสนาธิการร่วม กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า ปฏิบัติการโจมตี 3 เป้าหมายในซีเรีย ทั้ง 3 ประเทศใช้อาวุธปล่อยนำวิถีไปทั้งหมด 105 ลูก -- เป็นจรวดโทมาฮอว์คยิงจากเรือดำน้ำ เรือพิฆาตกับเรือลาดตระเวนของสหรัฐ และ ยิงจากเรือฟริเกตของอังกฤษ รวมกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 66 ลูก จรวด AGM-158 จำนวน 19 ลูกปล่อยจากเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลแบบ B-1B และ ยังมีจรวดสตอร์มชาโดว์ (Storm Shadow) ของอังกฤษ 8 ลูก ปล่อยจากเครื่องบินรบแบบทอร์นาโด (GR4 Tornado) จำนวน 4 ลำ ส่วนฝรั่งเศสใช้จรวด SCALP จำนวน 12 ลูก ปล่อยจากเครื่องบินรบแบบราฟาล (Rafale)
ไม่กี่วันมานี้เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐได้ออกแถลง แก้ข้อมูลใหม่เป็นว่า จรวดร่อนล้ำสมัยที่ใช้โจมตีซีเรียนั้น มิใช่ AGM-158ER (หรือ AGM-158B) หากเป็นรุ่นก่อน คือ AGM-158A -- แต่เป็นการนำออกใช้งานในสถานการณ์สงครามครั้งแรกเช่นเดียวกัน
โดยสรุปก็คือ เป้าหมายใหญ่ที่สุด คือ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในหุบเขาชานกรุงดามัสกัส ที่สหรัฐอ้างว่าเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาอาวุธเคมีของซีเรียนั้น ถูกโจมตีด้วยจรวด AGM-158 ทั้ง 19 ลูก กับจรวดโทมาฮอว์คอีก 57 ลูก รวมเป็นทั้งหมด 76 ลูก -- เป้าหมายที่ 2 ที่สหรัฐกล่าวว่าเป็นคลังเก็บอาวุธเคมี อยู่ห่างจากเมืองฮอมส์กว่า 10 กิโลเมตร ถูกถล่มด้วยอาวุธปล่อยฯ รวม 22 ลูก -- อีก 7 ลูกไปลงเป้าหมายที่ 3 ที่สหรัฐอ้างว่า เป็นบังเกอร์ใช้เก็บอาวุธเคมีอีกแห่งหนึ่ง ที่อยู่ไม่ไกลจากเป้าหมายที่ 2
จรวดโทมาฮอว์คกับจรวด AGM-158 จำนวน 76 ลูก หมายถึงดินระเบิดในหัวรบรวมกัน 34,200 กก. หรือ 34.2 ตัน ซึ่งเพียงพอที่จะระเบิดเมืองได้ทั้งเมืองจึงทำให้เกิดคำถามแทงใจดำขึ้นมาว่า เป็นไปได้อย่างไร หรือ เหตุใดจึงต้องใช้จรวดร่อนเทคโนโลยีสูง จำนวนมากมายถึงขนาดนั้น เพื่อยิงถล่มเป้าหมายเพียงแห่งเดียว ที่เป็นอาคารร้าง 3 หลัง ตั้งอยู่ติดๆกัน ภายในอาณาบริเวณเดียวกัน -- ซึ่งดูเป็นเรื่องไม่ปรกติ
.
หลายเสียงบอกว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า สหรัฐเคยใช้จรวดโทมาฮอว์คจำนวนมากมายขนาดนี้่ ในการโจมตีที่ตั้งแห่งใดแห่งหนึ่ง ในสงครามอ่าวหลายครั้งที่ผ่านมา ยกเว้นการโจมตีสนามบินเชย์รัตเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสหรัฐใช้จำนวน 59 ลูก ทั้งนี้เนื่องจากจุดที่ตั้งของเป้าหมาย กระจายอยู่ตามอาณาบริเวณกว้างทั่วสนามบิน
วิดีโอคลิปชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เหตุการณ์แบบสดๆ ตลอดเวลากว่า 1 ชั่วโมงของการโจมตีระหว่างเวลา 4 น.เศษ จนถึง 5 น.เศษ ในวันนั้น -- โดยตั้งกล้องบนอาคารสูงในเมืองหลวง -- ไม่มีช่วงเวลาใดเลย ที่แสดงให้เห็นเปลวไฟจากการระเบิดของหัวรบจำนวนมากมาย จากการโจมตีอาคารศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ -- เจ้าหน้าที่ซีเรียที่เข้าดับเพลิงและสำรวจความเสียหายในตอนสาย ระบุว่าถึงแม้อาคารทั้งสามหลัง จะพังทลายลง แต่ไม่ปรากฏร่องรอยใดๆ ว่า สหรัฐ ได้โจมตีสิ่งปลูกสร้างแห่งนั้น ด้วยจรวดทันสมัย 2 ชนิดรวมเป็นจำนวนกว่า 70 ลูก
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จรวดร่อนโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดิน หรือ Land Attack Missile (TLAM) หรือ BGM-109 ซึ่งก็คือจรวดโทมาฮอว์คนั้น มีหัวรบเป็นดินระเบิดแรงสูงน้ำหนัก 1,000 ปอนด์ (450 กิโลกรัมหรือเกือบครึ่งตัน) ไม่ต่างกันกับจรวด AGM-158 ที่ติดหัวรบน้ำหนักเท่ากัน -- การยิงทำลายอาคารขนาดใหญ่แต่ละหลัง ใช้เพียง 2-3 ลูกก็เกินพอ ที่จะทำให้สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ พังทลายลงเป็นซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการระเบิดจากภายใน อันเป็นขีดความสามารถที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ของอาวุธปล่อยนำวิถีทั้งสองรุ่น
ข้อมูลจากการแถลงของฝ่ายซีเรีย/รัสเซีย ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย เริ่มเห็นคล้อยตามสมมุติฐานทางเลือกที่กล่าวมานี้ โดยเชื่อว่าการโจมตีอาคารเป้าหมายชานกรุงดามัสกัส ไม่ได้ใช้จรวดมากมายเช่นที่นายพลของสหรัฐแถลง แต่มีจรวดร่อนอีกหลายสิบลูก ถูกใช้ไปในการโจมตีที่ตั้งอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือฐานตั้งระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานของซีเรีย ที่สนามบิน 6-7 แห่ง รอบๆ กรุงดามัสกัส กับเมืองฮอมส์ ซึ่งฝ่ายสหรัฐไม่ได้กล่าวถึง หรือ มีเจตนาปกปิด
ซีเรียอ้างว่า เช้าตรูวันที่ 14 เม.ย. สหรัฐยิงจรวดโทมาฮอว์คโจมตีสนามบินทั้งหมด 7 แห่ง (ซึ่งเป็นที่ตั้งของระบบอาวุธป้องกันทางอากาศ) แต่ถูกยิงสกัดได้เกือบทั้งหมด ไม่มีแห่งใดเสียหายหนัก -- ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- สนามบินดูวาลี (Duvali) 4 ลูก ยิงสกัดได้ทั้งหมด
- สนามบินดูเมร์ (Dumeir) 12 ลูก ยิงสกัดได้ทั้งหมด
- สนามบินเบลย์ (Blay) 18 ลูก ยิงสกัดได้ทั้งหมด
- สนามบินเชย์รัต (Shayrat) 12 ลูก ยิงสกัดได้ทั้งหมด
- สนามบินติฟอร์ (Tifor) 2 ลูก ยิงสกัดได้ทั้งหมด
- สนามบินเมสเสะ (Messeh) 9 ลูก ยิงสกัดได้ 5 ลูก
- สนามบินฮอมส์ (Homs) 16 ลูก ยิงสกัดได้ 13 ลูก
นั่นคือที่มาของ การกล่าวอ้างที่ว่า -- ซีเรียสามารถยิงสกัดจรวดร่อนของสหรัฐกับพันธมิตรได้ทั้งหมด 73 ลูก ทำให้อาวุธของฝ่ายพันธมิตร ไปถึงเป้าหมายเพียง 32 ลูก โดยเป้าหมายทั้ง 3 แห่งถูกทำลายทั้งหมด
.
มีหลายคนตั้งเป็นข้อสังเกตอีกว่า การที่มีประชาชนจำนวนมากมาย ออกชุมนุมในเมืองหลวง สนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีอัสสาด ในตอนเช้าวันที่ 14 เม.ย.นั้น ได้แสดงให้เห็นว่าการโจมตีของสหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศส ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ชาวซีเรียมองว่าเป็นความล้มเหลว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีเรียกล่าวว่า ไม่มีใครกลัวสหรัฐกับพันธมิตรนาโต้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้นตัวเลขกับข้อมูลต่างๆ จากการแถลง โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐ จึงทำให้ผู้คนทั่วไปเต็มไปด้วยความสงสัย -- ไม่ต่างจากข้อมูลของฝ่ายรัสเซีย/ซีเรีย
อย่างไรก็ตาม อ้างอิงตามการแถลงของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ครั้งวันที่ 14 เม.ย. ระบบปานต์ซีร์ของซีเรียทำงานได้ผลมากที่สุด ทั้งหมดประจำอยู่ตามฐานทัพอากาศ หลายแห่งใกล้กับเมืองหลวง -- รองลงไปเป็นระบบควาดรัต กับระบบบุ๊ค -- นอกจากนั้นซีเรียยังใช้ระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานอื่นๆ อีก หลายแบบ ในความพยายามสกัดจรวดสหรัฐกับพันธมิตร รวมทั้ง S-75 S-125 จรวดโอซา (Osa/SA-8) สเตรลา (Strela-10) และ ระบบ S-200 ซึ่งทั้งหมดเป็นอาวุธ ที่ผลิตตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต จัดหาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจรวด S-75 นั้น เป็นแบบเดียวกันกับที่ เวียดนามเหนือเคยใช้ยิงเครื่องบิน B-52 สหรัฐ เมื่อครั้งเปิดยุทธการโจมตีทิ้งระเบิดกรุงฮานอยครั้งใหญ่ ในเดือน ธ.ค.2515
ตามรายละเอียดที่แถลงโดยฝ่ายซีเรียนั้น ระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น มีเพียง S-200 เพียงระบบเดียวที่ใช้ไม่ได้ผล คือ อาวุธปล่อย 8 ลูก พลาดเป้าหมายทั้งหมด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นระบบที่ออกแบบ สาหรับใช้ต่อต้านอากาศยานบนความสูง จากระยะไกลและระยะไกล้ ไม่ได้ประดิษฐ์ เพื่อยิงสกัดอากาศยานบินต่ำ ความเร็วต่ำ เช่นจรวดร่อนต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีก็ตาม
ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะยังไม่เคยเห็นการใช้ม่านควัน เพื่อพรางฐานทัพหรือที่ตั้งทางทหารแห่งใดมาก่อน แต่ระบบอาวุธต่อสู้อากาศยาน ทุกชนิดที่ซีเรียนำออกใช้ในเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ล้วนเป็นระบบที่คุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง S-300 ที่เวียดนามใช้ป้องกันชายฝั่ง แต่เมื่อปลายปี 2559 รัสเซียได้แสดงให้เห็นว่า S-300 ที่นำไปใช้ในซีเรีย สามารถใช้ โจมตีเป้าหมายบนพื้นดินได้ ซึ่งสำนักข่าวเจนส์ 360 ในกรุงลอนดอน ระบุว่าเป็นครั้งแรกที่โลกภายนอกได้รับรู้เรื่องนี้
.
ในพิธีสวนสนามครบรอบปีวันก่อตั้งกองทัพ เดือน มี.ค.2559 พม่าได้นำระบบ S-125 ออกแสดงอีกครั้ง พร้อมทั้งระบบจรวดควาดรัต ซึ่งออกงานเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าจะมีข่าวรั่วออกมาให้เห็นก่อนหน้านั้น แล้วก็ตาม
ในช่วงปีสองปีมานี้ กองทัพประชาชนเวียดนาม ได้จัดหาระบบอาวุธปล่อยฯ ต่อสู้อากาศยานจากอิสราเอลเข้าประจำการ แต่ระบบปานต์ซีร์-S1/2 รุ่นใหม่ล่าสุด ก็ยังเป็นตัวเลือกในอันดับต้น สำหรับการจัดหาลอตต่อไป เพื่อใช้แทนระบบเก่า ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต รวมทั้งระบบบุ๊คที่มีอยู่แล้ว แต่จะต้องอัปเกรด
เวียดนามเป็นเพียงประเทศเดียวในย่านนี้ ที่โรงงานเด็กเตียอาเรฟ (Dektyarev) ผู้ผลิตระบุว่า มีระบบจรวดต่อสู้อากาศยาน "สเตรลา-10" (Strela-10) หรือ 9M37 ที่ติดตั้งบนแพล็ตฟอร์มยานเกราะตีนตะขาบ ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน -- แต่ถ้าหากพูดถึงระบบจรวด "สเตรลา-2" (Strela-2/9K32) หรือ SA-7 "เกรล" (Grail) ในระบบของนาโต้ ซึ่งเป็นอาวุธต่อสู้อากาศยานแบบใช้ประทับใหล่ยิง หรือ MANPADS (Man Portable Air Defence System) -- เวียดนามมีใช้มาก่อนใครๆ แต่ครั้งสงครามกับสหรัฐ
กองทัพบกไทยไม่มีจรวด Strela-10 หรือ Strela-2 อยู่ในระบบเลย -- แต่สถาบันวิจัยเพื่อสันติ (SIPRI) กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนรายงานว่า ไทยจัดหาระบบอาวุธปล่อยนำวิถี HN-5 จากจีนจำนวน 1 ระบบ ตั้งแต่เดือน เม.ย.2531 พร้อมปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานควบคุมด้วยเรดาร์อีก 1 ระบบ -- ทั้งสองรายการนี้รวมอยู่ใน การจัดหาอาวุธจีนล็อตใหญ่ ในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญาการทหารบก ซึ่งรวมทั้งปืนใหญ่ลากจูง 130 มม. Type-59 จำนวน 38 ระบบ รถถัง T-6911 จำนวน 23 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะ YW-531H อีก 360 คัน
สำหรับ HN-5 ไม่ใช่อื่นไกล หากเป็น "สเตรลา-2" เวอร์ชั่น Made in China นั่นเอง.