MGRออนไลน์ -- พม่าซื้อระบบจรวดต่อสู้อากาศยานที่ผลิตในรัสเซียรุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่งแบบเงียบๆ รายงานในเว็บบล็อกข่าวกลาโหมแห่งหนึ่งในรัสเซียเอง ได้เปิดเผยให้โลกภายนอกได้รับรู้เมื่อไม่นานมานี้ แต่กว่าสื่อกลาโหมต่างๆ จะไหวตัวกัน ก็ได้ล่วงเลยมาเกือบเดือน ทำให้ไม่มีผู้ใดทราบว่า การขนส่งหรือการรับมอบแล้วเสร็จไปหรือยัง ซื้อขายกันจำนวนกี่ระบบ รวมทั้งคำถามที่ใหญ่กว่าก็คือ กองทัพพม่า จะนำจรวดต่อสู้อากาศยานระบบใหม่ไปติดตั้งในแห่งใดบ้าง
ภาพที่เแผยแพร่ในเว็บบล็อกภาษารัสเซีย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. แสดงให้เห็นการขนย้าย ยานล้อยาง 6x6 แบบ MZKT6922 ที่ท่าเทียบเรือทหาร ในบริเวณท่าเรือย่างกุ้ง และ นี่คือเป็นยานชนิดพิเศษ ที่สร้างขึ้นมาสำหรับติดตั้งแท่นยิงจรวดแบบอัตตาจร พร้อมระบบเรดาร์ และ ระบบควบคุมการยิง แบบตอร์ (Tor) และ แบบบุ๊ค (Buk)
ผู้เชี่ยวชาญที่สอบสวนกรณีเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกเหนือน่านฟ้ายูเครน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2547 สรุปเมื่อปีที่แล้วว่า จรวดบุ๊คอยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมโบอิ้ง 777-200ER ที่มีลูกเรือ 15 คนกับผู้โดยสาร อีก 283 รวมเป็นทั้งหมด 298 คน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิต และ เชื่อว่าเป็นฝีมือฝ่ายกบฏแยกดินแดนใน จ.โดเน็ตส์ ทางตะวันออกของยูเครน ที่มีรัสเซียหนุนหลัง
"แพล็ตฟอร์ม" ที่ปรากฏในภาพถ่าย ที่ท่าเรือย่างกุ้งนั้น มีผ้าใบคลุมหลังคาเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างบนได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญในเว็บข่าวกลาโหมหลายแห่ง ออกให้ความเห็นในสัปดาห์นี้ว่า รูปลักษณ์ทั้งด้านหน้าและด้านข้างของยาน 6x6 ปรากฏชัดว่า นั่น ยานพาหนะ หรือ "แชสซี" สำหรับติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบตอร์ หรือ บุ๊ค
ตามรายงานของเว็บบล็อคข่าวกลาโหมภาษารัสเซีย แพล็ตฟอร์ม MZKT6922 อาจใช้ติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานอื่นๆ ได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งระบบจรวด Osa-1T และ T38 หรือ 9K33-1T "สติเล็ตโต" (Stiletto) แต่มีให้เห็นไม่มาก ทั้งในรัสเซียเองและในประเทศอื่นๆ ที่เป็นลูกค้า
เพราะฉะนั้นหลายฝ่ายจึงปักใจเชื่อว่า กองทัพพม่าได้กลายเป็นลูกค้ารายล่าสุด ของระบบจรวดตอร์ (Tor-M2E) หรือ ไม่ก็จรวดบุ๊ค (Buk-M2E)
ตามข้อมูลของบริษัทอัลมาซอัลเตย์ (Almaz Antey) ซึ่งผู้ผลิตระบบตอร์นั้น Tor-M2E เป็นรุ่นพัฒนาล่าสุด เป็นแบบยิงเร็ว (Fast Action) ในระยะใกล้ 12-16 กิโลเมตร และ บนความสูง 10 กม. จรวดที่ใช้ในระบบมีความเร็วสูงมาก คือ เกือบ 1 กม./วินาที สำหรับทำลายเป้าหมายทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ยานไร้คนบังคับ จรวดร่อน แม้แต่พวกสมาร์ทบอมบ์ หรือ "ลูกระเบิดอัฉริยะ" โดยสามารถตรวจจับและยิงทำลายได้ 4 เป้าหมายในคราวเดียวกัน ส่วน Buk-M2E เป็นระบบจรวดยิงระยะปานกลาง มีระยะยิงไกลราว 70 กม. และความสูงถึง 30 กม.
.
คลิปข้างบนเป็นจรวด Buk-M2 รุ่นใหม่ของรัสเซียบนแชสซีล้อยาง 6x6 เทียบกับ M1 ระบบเก่าสมัยโซเวียต บนแชสซีตีนตะขาบ ส่วนคลิปล่างเป็นระบบจรวด Tor-M1 กับ Tor-M2E บนแชสซีใหม่เช่นกัน ซึ่งมีข้อดีที่สำคัญมากก็คือ เข้าถึงทุกพื้นที่และแล่นเร็วกกว่า แพล็ตฟอร์มตีนตะขาบ. |
.
เป็นที่ทราบกันมานานว่า พม่าเคยซื้อ "ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี" ต่อสู้อากาศยาน หรือ ระบบจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ทั้งจากสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน และ จากรัสเซียในวันนี้ เป็นจำนวน 2-3 ระบบ และ เคยนำออกแสดงในงานสวนสนามฉลองครบรอบปีของกองทัพมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งได้แก่ระบบจรวด S-125 (Neva/Pchora) ทั้งติดตั้งบนแพล็ตฟอร์มตีนตะขาบและล้อยาง 6x6 รวมทั้ง 9K22 "ตุงกุสกา" (Tunguska) ซึ่งเป็นระบบต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ที่ประกอบด้วยปืนใหญ่กับจรวด โดยพม่าเป็นเพียงชาติเดียวที่มีประจำการในย่านนี้
พม่ากับเวียดนามยังเป็นเพียง 2 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีระบบจรวด S-75 "ดวินา" (Dvina) หรือ SA-2 ซึ่งเป็นระบบต่อสู้อากาศยานเจ้าตำนาน กองทัพเวียดนามเหนือใช้ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ของสหรัฐตกระนาว ในยุทธการถล่มกรุงฮานอยปลายปี 2515 พม่าเคยนำ S-75 ออกแสดงในงานสวนสนามครบรอบปีของกองทัพในเดือน มี.ค.2556
ส่วนแพล็ตฟอร์ม MZKT-6922 เป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศนี้ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ปักใจเชื่อว่า อะไรก็ตามที่ติดตั้งบนยานล้อยาง 6x6 รุ่นนี้ ไม่น่าจะเป็นอย่างอื่น นอกเสียจาก ระบบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ Tor-M2E หรือ Buk-M2E
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พม่าซึ่งมีประชากรมากกว่า 56 ล้านคน เนื้อที่กว่า 676,000 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลยาวเกือบ 2,000 กม. และ ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านอีก 6,500 กม. ได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาล ทั้งทรัพยากรณ์ต่างๆ อีกมากมาย ในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ
พม่ามักจะไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดหามากนัก โลกภายนอกจะได้เห็นก็ต่อเมื่อ มีการนำออกแสดงในโอกาสสำคัญต่างๆ เท่านั้น.
.
2
3
4