ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ตามรายงานของสื่อทางการ ปัจจุบันมีกว่า 10 ประเทศ ซื้อจรวด R-73 ที่ยิงจากเครื่องบินเพื่อทำลายเป้าหมายทางอากาศ ซึ่งจนถึงปัจจุบันมียอดขายจำนวนหลายพันลูก บริษัทผู้ผลิตจะนำออกแสดงในงานนิทรรศการ MAKS 2015 ที่เมืองซูคอฟสกี (Zhukovski) ในสัปดาห์นี้
ลูกค้าจรวด R-73 ในย่านนี้ รวมทั้งอินเดีย บังกลาเทศ พม่า จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีเครื่องบินรบที่ผลิตในโซเวียต/รัสเซีย ประจำการ และลูกค้าที่อยู่ไกลออกไปก็เช่น แอลจีเรีย บอตสวานา กับแองโกลา ในแอฟริกา คิวบา เวเนซุเอลา และอุรุกวัย ในละตินอเมริกา รวมทั้งสาธารณรัฐเช็ก ในยุโรปตะวันออก กับบรรดาสาธารณรัฐที่เป็นวงวานว่านเครือของสหภาพโซเวียตในอดีต
สื่อของรัสเซียไม่ได้กล่าวถึงกองทัพอากาศมาเลเซีย ซึ่งในปัจจุบันมีทั้ง Su-30 และ MiG-29 ในประจำการกองทัพอากาศ และในช่วงหลายปีมานี้ได้ทุ่มงบประมาณปรับปรุงฝูงบิน จัดหาจรวดยิงเครื่องบินแบบอากาศสู่อากาศ จากรัสเซียเป็นจำนวนมาก เช่นกัน
ปี 2559 นี้ คาซัคสถาน จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของจรวด R-73 โดยอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อจำนวนหลายร้อยลูก สำนักข่าวโนวอสติ (RIA Novosti) รายงานเรื่องนี้ อ้างบริษัทผู้ผลิต
สำนักข่าวของทางการกล่าวอีกว่า หากนับย้อนหลังไปในระยะ 10-12 ปีที่ผ่านมา รัสเซียขายจรวดรุ่นนี้ให้แก่ลูกค้าทั่วโลกเป็นจำนวนหลายพันลูก หลายประเทศมีขีดความสามารถในการซ่อมแซมและอัปเกรดเองได้ การซื้อจรวดยิงเครื่องบินย่อมประหยัดได้มากกว่าการซื้อเครื่องบินจำนวนมากๆ ที่จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล
.
.
.
.
.
R-73 หรือ “วีมเพล” (Vympel R-73) ซึ่งนาโต้เรียกว่า AA-11 “อาร์เชอร์” (Archer) ได้ชื่อว่าเป็นจรวดนำวิถีปฏิบัติระยะใกล้ คุณภาพดีที่สุดของโซเวียต/รัสเซีย สามารถยิงเครื่องบิน หรือเป้าหมายอากาศยานต่างๆ ได้ในระยะต่ำถึง 5 เมตร หรือสูงถึง 20 กิโลเมตร ขณะบินด้วยเร็ว 2,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ตัวจรวดยาว 2.9 เมตร หนัก 105 กิโลกรัม สำหรับ R-73M1 และ 115 กก. สำหรับ R-73M2 ติดหัวรบขนาด 7.4 กก. จรวดนำวิถีด้วยอินฟราเรด และเลเซอร์ออปติก มีระยะปฏิบัติการ 20 กม.สำหรับรุนแรก คือ R-73A และพัฒนาขึ้นเป็น 30-40 กิโลเมตร ในรุ่น M1 กับ M2
R-73 มีประวัติการพัฒนามายาวนาน นำเข้าประจำการในกองทัพอากาศของโซเวียตเมื่อปี 2527 เมื่อครั้งยังผลิตโดยบริษัท Vympel NPO แต่ในปัจจุบันเปิดสายการผลิตใหม่ที่โรงงานบริษัทอากาศยาน Tbilisi Aircraft Manufacturing ในสาธารณรัฐจอร์เจีย
จรวดยิงอากาศยานรุ่นนี้สามารถติดตั้งกับระบบอาวุธของเครื่องบินรบ MiG23MLD MiG-29 Su-27/30 ได้ทั้งหมด และอากาศยานปีกหมุนอีกหลายรุ่น ซึ่งได้แก่ เฮลิคอปเตอร์พิฆาต Mi24 Mi-28 รวมทั้ง Ka-50 และ Ka-52 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดอีกด้วย
บริษัทผู้ผลิตยังกล่าวอีกว่า จรวดกลุ่ม R-73 สามารถนำไปประยุกต์ติดตั้งเข้ากับอากาศยานนอกค่ายโซเวียต/รัสเซียได้อีกหลายรุ่น เนื่องจากไม่ได้ใช้ระบบควบคุมการยิงกับระบบเล็งเป้าหมายที่สลับซับซ้อน รวมทั้งเครื่องบินรบแบบ J-10 ของจีน และเทจาส (Tejas) ที่ผลิตโดยอินเดียด้วย
ตามรายงาน Fas.Com ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิเคราะห์ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ R-73 สามารถปฏิบัติการได้ในทุกสภาพอากาศ ทั้งกลางวัน และกลางคืน มีระบบป้องกันการรบกวนระบบนำวิถีภายใต้หลักการ “Fire And Forget” คือ ยิงแล้วหันหัวกลับได้เลย.
.
2
3
4
5
6
7
8